´น.ต.ประสงค์´ เหนียมเก้าอี้ประธานสภาฯ

"ไม่มีความเห็น ให้ที่ประชุมตัดสิน"


เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขาธิการสำนักงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เปิดรับการรายงานตัวสมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นวันที่สาม โดยตลอดในช่วงเช้าได้มีสมาชิกเดินทางเข้ารายงานตัวอย่างคึกคัก ทั้งนี้ มีบุคคลสำคัญและคนดังเข้ารายงานตัว อาทิ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ นายโคทม อารียา นายพชร ยุติธรรมดำรง พล.อ.ปานเทพ ภูวนาถนุรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 นายรังสรรค์ แสงสุข ฯลฯ

น.ต.ประสงค์กล่าวถึงกรณีที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นประธานสภานิติบัญญัติฯว่า ยังไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ การเลือกประธานเป็นสิทธิของสมาชิกทุกคนที่จะตัดสินใจโดยอิสระ เราต้องเคารพความคิดเห็นของสมาชิก ทุกอย่างไปชี้นำ ปล่อยให้ที่ประชุมตัดสินใจเอง เมื่อถามว่าหากได้รับการสนับสนุนให้ทำหน้าที่จะมีความพร้อมหรือไม่ น.ต.ประสงค์กล่าวสั้นๆว่า เอาไว้ให้ถึงตอนนั้นแล้วค่อยพูด ตอนนี้พูดไม่ได้

โคทม ชี้ประธานฯต้องแม่นข้อบังคับ

นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ กล่าวถึงแนวทางในการทำงานว่า จะปรึกษาสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯทั้ง 99 คน เพื่อให้เสนอความคิดเห็น เนื่องจากแต่ละคนเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจ ภาคการผลิต ภาคสังคม ภาคฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็น โดยสะท้อนปัญหาจากภาคส่วนต่างๆเสนอต่อสภานิติบัญญัติ สำหรับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ถือว่าเป็นผู้มีอาวุโส มีความรู้และประสบการณ์ กว้างขวางมาก แต่ขอสงวนความเห็นไว้ก่อน โดยจะขอดูบุคคลที่จะถูกเสนอชื่อทั้งหมดก่อน ส่วนที่มีกระแสต่อต้านนายมีชัย ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวว่า เป็นธรรมดาเนื่องจากนายมีชัยมีประวัติการทำงานมายาวนาน มีคนชอบไม่ชอบเป็นธรรมดา ผู้ สื่อข่าวถามต่อว่าเป็นเพราะคนมองว่านายมีชัยเป็นเครือข่ายของรัฐบาล ซึ่งเชื่อมโยงกับ คมช.ด้วยหรือไม่ นายโคทม กล่าวตอบสั้นๆว่า ไม่คิดเช่นนั้น

พชร ยังไม่ขอแสดงความเห็นอะไร

นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด กล่าวว่า คิดว่าเวลา 1 ปีเพียงพอสำหรับการทำงาน โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมาย ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้ออกมาบังคับใช้ได้ ส่วนกฎหมายที่นักการเมืองเสนอให้มีการแก้ไขนั้น นายพชรตอบว่า หากจะแก้ไขกฎหมายสามารถทำได้ โดยควรนำเอารัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2540 เป็นหลักในการพิจารณาโดยพิจารณาประกอบ รวมถึงพิจารณาร่วมกับกฎหมายแม่ที่มีอยู่ก็สามารถทำได้ ผู้สื่อข่าวถามถึงผู้ที่เหมาะสมเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายพชรตอบว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครอยู่ในใจ ส่วนที่มีการเสนอชื่อ น.ต.ประสงค์และนายมีชัยยังรู้สึกเฉยๆ อย่างไรก็ดีการเลือกประธานขึ้นอยู่กับความเห็นของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยังไม่ขอแสดงความเห็นอะไรในขณะนี้

รังสรรค์ ไม่สนเสียงค้านข้างถนน

นายรังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีผู้อ้างเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย มายื่นหนังสือคัดค้านการดำรงตำแหน่งว่า เมื่อดูจากชื่อผู้ที่มาคัดค้านไม่ใช่ข้าราชการ แต่เป็นลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างไปแล้ว ไม่อยากพูดถึงสาเหตุการเลิกจ้าง ความจริงข้าราชการและบุคลากรของมหาวิทยาลัย รู้สึกภูมิใจที่อธิการบดีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คงไม่ต้องชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหาอะไร ความจริงหากมีปัญหาอะไรควรมาทักท้วง ไม่ใช่ออกมาเคลื่อนไหวเช่นนี้ อย่างไรก็ดี เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติที่อาจมีคนผิดหวังหรือไม่พอใจ และเจ็บปวดจึงออกมาเคลื่อน ไหวเช่นนี้

มีชัย บ่นน้อยใจที่ถูกรุมต่อต้าน

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีคนต่อต้านไม่ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติฯ รวมทั้งข้อสงสัยเคยรับเงิน พ.ต.ท.ทักษิณ และเคยช่วยให้อดีตนายกฯให้พ้นผิดว่า ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น กรณีที่กล่าวหาว่าไปรับจ้าง พ.ต.ท.ทักษิณ ทำกฎหมายเศรษฐกิจนั้น ไม่จริง เคยทำงานวิจัยให้แก่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ให้เป็นเขตเศรษฐกิจ เหมือนอย่างที่อาจารย์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์รับจ้างรัฐบาล ทำกฎหมายเมืองสุวรรณภูมิ ต่างกันตรงที่อาจารย์รับจ้างรัฐบาลโดยตรง ส่วนตนรับจ้างนิคมอุตสาหกรรมฯ จำนวนเงินก็เหมือนกัน ใหม่ๆก็ว่า 10 ล้านบาท ต่อมาก็เพิ่มเป็น 15 ล้านบาท มาถึงปัจจุบัน กลายเป็น 20 ล้านบาท ยังไม่รู้ว่า กว่าจะจบเรื่องจะกลายเป็นกี่ล้านบาท ยอมรับว่าเคยเป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมาย สมัย พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯสมัยแรก ได้เบี้ยประชุมครั้งละ 525 บาท แต่การเป็นประธานได้ระยะเดียว พ.ต.ท.ทักษิณก็ยกเลิก ตั้งใหม่โดยมีตัวเขาเองเป็นประธาน ความผูกพันก็มีอยู่เท่านั้น แต่มาบัดนี้ทำไมกลายเป็นว่าเป็นพวก พ.ต.ท.ทักษิณไปได้ ก็ไม่รู้เหมือนกัน ฟังเขาต่อต้านแล้วก็อนาถใจไม่น้อย

สมทัต หนุนสื่อเป็นสมาชิกสภาฯ


พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ อดีต ผบ.ทหารสูงสุด สมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า หลังเสร็จพระราชพิธี เปิดสมัยประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 20 ต.ค. นี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติฯ จะได้พูดคุยกันถึงการเลือกตัวประธานสภาฯ ที่จะมีขึ้นในการประชุมครั้งแรกวันที่ 24 ต.ค. ตอนนี้ทุกคนยังไม่ได้คุยกัน เพราะกำลังศึกษาข้อมูล บางท่านอาจมีคนอยู่ในใจ เห็นว่าตำแหน่งนี้ควรเป็นผู้มีความรู้ดี เป็นที่ยอมรับของสังคม อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เลือกใครมาก็ต้องโดนวิจารณ์อยู่ดี ส่วนเสียงคัดค้านนายมีชัยนั้น ไม่ขอออกความเห็น เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวการคัดค้านสมาชิกสภาฯที่มาจากสายสื่อสารมวลชนเป็นสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ พล.อ.สมทัตตอบว่า ไม่เห็นด้วย เพราะบ้านเมือง ในภาวะเช่นนี้ ทุกคนควรร่วมใจร่วมมือกันทุกฝ่าย ไม่ควรแบ่งพวกเขาพวกเรา การมีตัวแทนสื่อมวลชนเข้ามาจึงเป็นสิ่งดี จะได้ช่วยกัน เพราะเวลาสั้นมากแค่ 1 ปี ใครช่วยอะไรได้ ก็น่าจะมาช่วยกันก่อน หากจะคัดค้านก็ควรรอให้ มีสภาฯที่มาจากเลือกตั้ง ที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติแล้ว

ประธานหอการค้าฯไม่รับเงินเดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่าย บรรยากาศการรายงานตัวของสมาชิกนิติบัญญัติฯ ยังคงคึกคัก มีการ ทยอยมารายงานตัวต่อเนื่อง อาทิ นางบัญญัติ ทัศนียะเวช ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายสมชาย แสวงการ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และนายภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ไทย นายประสาร มาลีนนท์ นางสุรางค์ เปรมปรีดิ์ พล.ท. ประยุทธ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ทบ. ขณะที่นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ภายหลังรายงานตัวว่า จะไม่ขอรับเงินเดือนและเงินตอบแทนอื่น ขณะที่นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้ปฏิเสธที่จะตอบข้อซักถามถึงกรณีที่ คมช.ห้ามไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าประเทศในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม การรายงานตัวในวันที่ 3 มีผู้มารายงานตัวเพิ่มเติม 94 คน รวมมารายงานตัวแล้ว 209 คน

มทภ.1 เน้นประธานฯ ต้องมีบารมี

พล.ท.ประยุทธ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 สมาชิกสภานิติบัญญัติฯ กล่าวว่า คนที่จะเป็นประธานสภานิติบัญญัติฯ นั้น ต้องเป็นคนที่ควบคุมการประชุมได้ดี ทำให้ ประชุมเรียบร้อย ดังนั้น คนเป็นประธานจะเป็นใครก็ได้ อาจไม่ใช่นักกฎหมายหรือทหาร แต่ต้องมีคุณสมบัติดังที่กล่าวไว้ ซึ่งตนคงพูดคุยกับสมาชิกคนอื่นด้วย แต่ไม่ถึงกับต้องมาตกลงกันว่าจะเอาคนนั้นคนนี้ ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการระบุว่ากลุ่มทหารล็อกตำแหน่งไว้ให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ แล้ว พล.ท.ประยุทธตอบว่า ยังไม่เคยได้ยินเลย ข่าวก็คือข่าว ไม่ทราบอะไรทั้งนั้น แต่เชื่อว่าไม่มีการล็อกอะไรกัน เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่าทหารบางส่วนจะหนุน พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานฯ พล.ท.ประยุทธตอบว่า ทหารมีแค่ 35 คน จะไปหนุนใครได้ ไม่ต้องไปกลัวหรอก เมื่อถามว่ามาจากโควตาของทหารจะกล้า ตรวจสอบรัฐบาลหรือไม่ พล.ท.ประยุทธ์ตอบว่า การแสดงความเห็นสามารถทำได้ เพราะการตรวจสอบรัฐบาลไม่ใช่ ตนคนเดียว แต่เป็นเรื่องของทั้งรัฐสภาที่ต้องช่วยกัน เพราะเขาตั้งขึ้นมาให้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

สุจิต ไม่รู้เรื่องคนหนุนนั่งประธานฯ

นายสุจิต บุญบงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติฯ กล่าวถึงกระแสข่าวที่มีการหนุนให้เป็นประธานหรือรองประธานสภานิติบัญญัติฯว่า ในใจแล้วยังอยากให้ดูบุคคลที่เป็นผู้ใหญ่กว่าตน เพราะยังมีผู้ใหญ่ที่มีความเหมาะสมอีกมาก ส่วนตัวยอมรับว่าไม่ค่อยคล่องในแวดวงนิติบัญญัติฯ ส่วนคนที่จะเป็นประธานฯ ต้องเป็นคนที่ให้ความเป็นธรรมกับสมาชิกทุกคนได้ ต้องเป็นคนที่ประสานหาข้อยุติต่างๆได้ รวมทั้งต้องได้รับความน่าเชื่อถือจากสมาชิกด้วย ส่วนกระแสต่อต้านนายมีชัยนั้น เห็นว่ายังเร็วเกินไปที่จะวิจารณ์เรื่องนี้ แต่ต้องดูว่าคนที่คัดค้านเป็นใคร อยู่กลุ่มไหนด้วย

ตัวแทนสื่อมวลชนขอทำหน้าที่ต่อไป

นางบัญญัติ ทัศนียะเวช ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ แห่งชาติ นายสมชาย แสวงการ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และนายภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมลงนามในหนังสือเปิดผนึกถึงสื่อมวลชนรัฐสภา เกี่ยวกับกรณีที่มีนักข่าวบางส่วนต้องการให้ตัวแทนในสายสื่อมวลชนถอนตัว โดยหนังสือระบุว่า องค์กรสื่อได้ส่งตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน จึงเห็นควรจะใช้สิทธินี้ส่งตัวแทนเข้าร่วม เพื่อปกป้องและรักษาสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนี้ 1. แสดงท่าทีของสื่อต่อสถานการณ์ต่างๆ 2. ระดมสมองขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งการทำงานจะเปิดรับฟังความเห็นจากทุกส่วนทั้ง ผู้ร่วมวิชาชีพ และจากภาคสังคม และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานขององค์กรสื่อต่างๆ และตัวแทนทั้ง 3 คนพร้อมที่จะทบทวนบทบาท หากไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมได้

อลงกรณ์ เตือนสื่อฯ ต้องเป็นกลาง

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภา เข้าชื่อเรียกร้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพราะเกรงว่าจะมีผลต่ออุดมการณ์และการทำหน้าที่สื่อว่า การเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติถือเป็นหน้าที่ ต้องเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนคนไทย บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเข้ามามีหลายอาชีพ โดยเฉพาะด้านสื่อสารมวลชนก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ควรที่จะต้องสละตำแหน่งในการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนก่อน เพราะถือว่าทำหน้าที่อีกสถานะหนึ่งจึงต้องเป็นกลาง ทั้งนี้ในฐานะตัวแทนของคนไทย ไม่ใช่ตัวแทนของสาขาอาชีพอีกต่อไป เว้นแต่ไม่ประสงค์ดำรงตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ต้องประกาศให้ชัดเจนด้วย จึงไม่ ควรอยู่ในสองสถานะ

ต้องให้เกียรติและยอมรับประธาน

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวถึงการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า แม้จะเป็นสภาชั่วคราวเกิดขึ้นในสถานการณ์ไม่ปกติ แต่อยากให้สภานิติบัญญัติฯ แก้วิกฤติปัญหาโดยเร็ว คือ ปัญหาที่อยู่ในใจคนที่เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทำอย่างไร สภานิติบัญญัติฯจะได้ชี้ช่องให้รัฐบาลเดินอย่างถูกทาง สมาชิกสภานิติบัญญัติฯทั้ง 242 คน สังคมล้วนยอมรับว่า มีตัวแทนจากทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน ก็น่าจะระดมสรรพกำลังร่วมกัน เพราะคงหัวใจหลักในการแก้ไขปัญหาทั้งหลาย สำหรับการเลือกประธานสภานิติบัญญัติฯนั้นขออย่ายึดติดตัวบุคคล เพราะอยากเห็นความสมานฉันท์ เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้น อย่าได้เกี่ยงงอนตั้งเป็นพวกหรือฝ่ายว่าจะเอาคนนั้นคนนี้ เพราะเชื่อว่าทั้ง 242 คนเป็นประธานได้ทั้งหมด เพราะผู้สรรหาก็พิจารณาแล้วว่าทุกคนล้วนมีความรู้ความสามารถ ดังนั้น ใครก็ได้ที่จะขึ้นมาเป็นประธาน สมาชิกสภานิติบัญญัติฯทั้ง 241 คนต้องยอมรับและให้เกียรติ


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์