‘ยิ่งลักษณ์’ เปิดเวทีปฏิรูปการเมืองนัดแรก

‘ยิ่งลักษณ์’ เปิดเวทีปฏิรูปการเมืองนัดแรก


‘ยิ่งลักษณ์’ เปิดเวทีปฏิรูปการเมืองนัดแรก อดีตนายกฯ-หน.พรรคร่วม ขาดตัวแทนปชป.-พธม.

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 25 ส.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการเปิดเวที “เดินหน้าปฏิรูปประเทศ พัฒนาประชาธิปไตย และประเทศร่วมกัน” เป็นครั้งแรก โดยมีบุคคลจากสาขาอาชีพ และกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เข้าร่วม 70 คน ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรี อาทิ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตประธาน และประธานรัฐสภา หัวหน้าพรรคการเมือง ตัวแทนเครือข่าย และกลุ่มการเมือง เช่น นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. ภาคธุรกิจเอกชน เช่น นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตัวแทนสื่อมวลชน โดยไม่มีตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เข้าร่วม ซึ่งได้มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์วงจรปิดให้สื่อมวลชนได้ทำข่าวและสังเกตุการณ์ตลอดการหารือ

ทั้งนี้ก่อนเริ่มการหารือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กล่าวแสดงเจตนารมณ์ในการจัดเวทีระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอทางออกประเทศไทย ว่า ขอขอบคุณที่ให้เกียรติรัฐบาล ตอบรับการเชิญมาพูดคุยกันวันนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะเป็นผู้เริ่มเป็นเจ้าภาพจัดพูดคุย แต่รัฐบาลจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ประสานงานเพื่อให้เวทีนี้เกิดขึ้นเท่านั้น เวทีนี้เราได้เชิญผู้ที่มีประสบการณ์ที่หลากหลาย มีมุมมองในแต่ละมิติต่างกันมาพูดคุยกัน เพื่อจะได้ร่วมกันหาทางออก และวางอนาคตประเทศไทย ซึ่งมีทั้งด้านการเมือง ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงภาคเอกชน ภาคประชาชน สื่อมวลชน อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดาย ที่ยังไม่ครบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายค้าน หรือกลุ่ม พธม. แต่เวทีนี้พร้อมที่จะเปิดรับ และเรียนเชิญทุกเมื่อ ทุกเวลาที่เหมาะสม รวมถึงหลายคนที่อาจติดภารกิจ หรือยังไม่แน่ใจ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่ารัฐบาลมีความจริงใจ อยากเห็นการเริ่มพูดคุยกัน เพื่อหาทางออก และมองไปอนาคตข้างหน้าร่วมกัน เราอยากเห็นการปฏิรูปการเมืองในมิติที่กว้างครบทุกองค์กร และวางกรอบยุทธศาสตร์ เพราะหากเราคุยแค่เรื่องในปัจจุบันก็จะต้องไปคุยถึงรายละเอียดของปัญหา ซึ่งยังมีข้อขัดแย้งที่ยังหาทางออกไม่ได้ หรือบางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมเราถึงไม่รอบางข้อ หรือถอนกฎหมายบางอย่างที่ถกเถียงในสภาฯ ก่อน แต่ตนมองว่าเวทีนี้จะเป็นเวทีที่เราจะได้เห็นภาพในหลายมิติที่กว้างมากขึ้น แต่ในส่วนเวทีสภาฯจะเป็นเวทีของตัวแทนที่จะแก้ปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น ซึ่งเวทีนี้เราได้เชิญผู้ที่เคยศึกษาข้อขัดแย้งต่าง ๆ มาร่วมด้วย เชื่อว่าเราจะได้นำข้อศึกษาต่างๆ ในอดีตทุกกลุ่มทุกสถาบันมาพูดคุยกันว่าเราจะแก้ปัญหาประเทศได้อย่างไร

“อยากให้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2556 ที่ปรารถนาจะเห็นคนไทยของเราได้ตั้งจิตตั้งใจให้มั่นอยู่ในความเมตตา และหวังดีต่อกัน ดูแลเอาใจใส่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ให้กำลังใจแก่กันและกัน ผูกพันกันไว้ฉันท์มิตร และทุก ๆ ฝ่ายจะได้มีโอกาสได้ร่วมกันคิด ร่วมกันอ่าน สร้างสรรค์ความสุขความเจริญ มั่นคงให้แก่คนในชาติได้อย่างที่ใจปรารถนา ซึ่งรัฐบาลได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่านมาเป็นแนวทางในการเริ่มเปิดเวทีพูดคุย” นายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า ส่วนในเดือนหน้าที่เราได้เชิญผู้นำจากต่างประเทศ เช่นโทนี แบลร์ มานั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นเวทีที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ แต่เป็นเวทีเชิงวิชาการที่ให้มาเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์เท่านั้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับประเทศไทย ดังนั้นเวทีวันนี้ ตนเชื่อว่าเป็นเวทีของคนไทย เราเป็นคนไทยด้วยกัน ตนเชื่อว่าถ้าเราค่อย ๆ พูดคุยกันด้วยบรรยากาศประชาธิปไตยที่เน้นการมีส่วนร่วม ถ้าเรามองไปข้างหน้า พูดด้วยโจทย์เดียวกัน คืออยากเห็นบ้านของเรามีความสุข ความสามัคคี มีความเป็นอยู่ทีดี มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ก็เชื่อว่าเราจะพูดกันด้วยบรรยากาศที่ดี และสร้างสรรค์ และไว้วางใจ

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนหัวข้อที่จะหารือนั้น ตนขอให้เวทีนี้เป็นเวทีที่เปิดกว้างว่าเราอยากจะเห็นบ้านของเรา ประเทศของเราเป็นอย่างไร ไม่ได้เป็นเวทีที่จะมากำหนดอะไร ขอให้เป็นเวทีของทุกคน รัฐบาลเป็นเพียงผู้ประสานงานให้ ดังนั้นเนื้อหาที่พูดคุยอาจจะแค่ตั้งประเด็นไว้ว่าทำอย่างไรให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น มีความมั่นคงแข็งแรง ทำอย่างไรให้คนไทยมีความสุข มีความกินดีอยู่ดี จะวางระบบอย่างไรระหว่าง 3 เสาหลัก คือ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ให้มีการคานกัน ถ่วงดุล และตรวจสอบซึ่งกันและกัน นั่นคือเราจะหันไปหาคำว่าประชาธิปไตยที่โปร่งใส มีกลไกตรวจสอบที่เป็นมาตรฐานสากลที่นานาประเทศยอมรับ เราอยากเห็นกติกาที่ทุกคนจะได้มาพูดคุยกันว่าจะให้เกิดการตรวจสอบอย่างไร มีระบบที่ดีอย่างไร ให้เกิดความมั่นคง และสมดุลในแต่ละเสาหลัก ซึ่งคงต้องมาพูดคุยกันตั้งแต่ระบบการเข้ามาคัดเลือก ตรวจสอบประเมินผล ให้มีความเป็นกลาง เป็นที่ยอมรับ เพราะคำว่าประชาธิปไตยมีอีกหนึ่งมิติคือทำอย่างไรให้คนได้เข้าถึงสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน และให้ประชาชนได้สบายใจว่า ได้รับการดูแลเรื่องสิทธิเสรีภาพในทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์