เอแบคโพลล์เชื่อรัฐบาลแทรกแซงสื่อมวลชนจริง

เอแบคโพลล์เชื่อรัฐบาลแทรกแซงสื่อมวลชนจริง

เอแบคโพลล์ชี้ประชาชนเชื่อรัฐบาลแทรกแซงสื่อมวลชนจริง หลังย้าย บก.ข่าวช่อง 9 ร้องหาคนรับผิดชอบ พร้อมกันนี้ยังเห็นการเมืองเข้าสู่ภาวะวิกฤติ แต่จะยังคงออกไปเลือกตั้งพรรคที่ตัวเองชอบ และให้"ทักษิณ" ยอมเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบขายหุ้นชิน


วันที่ 26 มี.ค. สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทำการวิจัยภาคสนามหาข้อมูลเชิงสถิติศาสตร์เพื่อสำรวจความคิดเห็น ตลอดจนอารมณ์และความรู้สึกของประชาชน การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ตลอดจนสถานการณ์ปัญหาการเมืองที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้

ล่าสุดได้สำรวจภาคสนามเรื่อง อารมณ์ความรู้สึกและความคิดเห็นของสาธารณชนต่อสถานการณ์การเมืองไทยกับการสั่งย้ายบรรณาธิการข่าวเช้าช่อง 9 : กรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งดำเนินโครงการสำรวจในวันที่ 24-25 มีนาคม 2549 จำนวน 1,494 ตัวอย่าง

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวว่า พบประชาชนเกินกว่า 1 ใน 4 เล็กน้อยทราบข่าวเรื่องการโยกย้ายบรรณาธิการข่าวเช้าของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 และส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดในทางลบต่อรัฐบาลและสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 หลายด้านด้วยกัน เช่น

เชื่อว่ารัฐบาลแทรกแซงสื่อมวลชนจริง และคนที่ต้องรับผิดชอบมีอยู่สามส่วนคือผู้บริหารระดับสูงของช่อง 9 รัฐมนตรีกำกับดูแลสื่อมวลชน และรัฐบาล โดยเรียกร้องให้สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ประชาชนที่ติดตามข่าวช่อง 9 และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าตรวจสอบ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อประชาชนเปลี่ยนไปดูข่าวของโทรทัศน์ช่องอื่นๆ นั้นได้แก่ ดู ITV เป็นอันดับแรก ตามด้วย ช่อง 3 และช่อง 7

และเห็นว่าสถานการณ์การเมืองขณะนี้ร้อยละ 46.2 ระบุว่า อยู่ในขั้นวิกฤติแล้ว ขณะที่ร้อยละ 37.0 ระบุยังไม่วิกฤต และร้อยละ 16.8 ไม่ระบุความเห็น

เมื่อถามว่า วันที่ 2 เมษายนจะไปเลือกตั้งหรือไม่ ร้อยละ 15.0 ระบุไปเลือกตั้งแน่นอน ขณะที่ร้อยละ 41.4 ระบุไม่ไปแน่นอน และ ร้อยละ 43.6 ระบุไม่แน่ใจ และพบว่าตัวอย่างเกือบครึ่งคือร้อยละ 46.0 ระบุจะเลือกพรรคที่ตั้งใจจะเลือก ในขณะที่มีประมาณ 1 ใน 4 คือ ร้อยละ 25.6 ที่ระบุจะไปเลือกตั้งแต่งดลงคะแนน และร้อยละ 28.4 ระบุยังไม่ได้ตัดสินใจ "ประเด็นสุดท้ายที่ค้นพบคือความคิดเห็นของตัวอย่างนายกรัฐมนตรีต่อการยินยอมให้มีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการอิสระเรื่องปัญหาในการขายหุ้นชินคอร์ป พบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 56.6 เห็นว่านายกรัฐมนตรีควรยอมให้มีการตรวจสอบ ในขณะที่ร้อยละ 8.3 ระบุไม่ควรมีการตรวจสอบ และร้อยละ 35.1 ระบุไม่มีความเห็น" ดร.นพดล กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์