ถึงคิว เทพเทือก อัยการเตรียมเบิกความ คดี 6 ศพวัดปทุมฯ

ภาพจากข่าวสดภาพจากข่าวสด


 เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้อง ขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1 นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2 นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3 นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี พนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4 น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี อาสาพยาบาล ผู้เสียชีวิตที่ 5 และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้างและอาสาพยาบาล ผู้เสียชีวิตที่ 6 ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553

 โดยพนักงานอัยการนำพยานเข้าเบิกความ 3 ปาก คือ ร.ต.ต.หญิง สุพัตรา ถนอมวงค์ นักวิทยาศาสตร์ (สบ2) กลุ่มงานตรวจอาวุธและเครื่องกระสุน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ ผอ.สำนักตรวจสถานที่เกิดเหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และพ.ต.ท.ไพชยนต์ สุขเกษม ผู้เชี่ยวด้านอาวุธปืน กองสรรพาวุธ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 ร.ต.อ.หญิง สุพัตรา เบิกความโดยสรุปว่า รับหน้าที่ตรวจเขม่าปืนที่ศพทั้ง 6 ศพ โดยเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2553 กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุส่งของกลางเป็นสำลีพันปลายแท่งพลาสติกบรรจุในซอง ซองละ 1 ก้าน จำนวน 6 ซอง โดยแจ้งว่าเก็บมาจากมือของ 6 ศพ เพื่อตรวจหาธาตุสำคัญบางธาตุที่มาจากการยิงปืน ผลการตรวจพบธาตุแอนติโมนีและแบเรียมใน 2 ศพ ส่วนศพอื่นไม่พบ ซึ่งธาตุทั้ง 2 นี้เป็นองค์ประกอบของชนวนท้ายกระสุนปืน หรือแก๊ปปืน ถ้าพบ 2 ธาตุนี้พร้อมกัน ในมือผู้ถูกเก็บตัวอย่างเขม่า จะสรุปว่าบุคคลนั้นเกี่ยวข้องกับการยิงปืน 

 พยานเบิกความต่อว่า พยานไม่ทราบว่าการเก็บตัวอย่างเขม่า เจ้าหน้าที่เก็บจากที่พบศพทันทีหรือไม่ และธาตุทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวจะไม่พบในพลุ ตะไล หรือประทัด ต้องมาจากการใช้ปืนเท่านั้น ซึ่งมี 3 กรณี คือ เป็นผู้ยิงปืน เป็นผู้ยืนอยู่หลังอาวุธปืนขณะลั่นไก หรือสัมผัสอาวุธปืนหลังจากลั่นไกไปแล้ว และการตรวจเขม่าโดยปกติจะตรวจเมื่อเก็บตัวอย่างเขม่าหลังเสียชีวิตไม่เกิน 24 ชั่วโมง ซึ่งพยานไม่ทราบว่าในคดีนี้เจ้าหน้าที่เก็บหลักฐานทันทีหรือไม่

ส่วน พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เบิกความโดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2553 ได้รับประสานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ตรวจสถานที่เกิดเหตุภายในวัดปทุมฯ พยานจึงเดินทางไปตรวจในเวลา 08.00 น.เศษ เมื่อไปถึงพบว่าศพถูกนำมาวางไว้บริเวณศาลาวัดแล้ว พยานตรวจบาดแผลศพที่ถูกกระสุนยิง เก็บคราบเขม่าปืนเพื่อพิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนหรือไม่ และตรวจเก็บเยื่อบุกระพุ้งแก้ม เพื่อเปรียบเทียบกับคราบโลหิตในที่เกิดเหตุ ผลการตรวจไม่พบสารระเบิด หรือสารเสพติดในวัตถุพยาน และไม่พบอนุภาคที่มาจากการยิงปืน
         
 พยานเบิกความอีกว่า นอกจากนี้ยังตรวจสถานที่ภายนอกอีกครั้งวันที่ 17 มิ.ย. 2553 และวันที่ 24 ก.ย. 2553 พบรอยกระสุนที่ศาลา 2 รอย ที่กระจกสำนักงานมูลนิธิมหิตลาธิเบศรฯ 1 รอย บริเวณกำแพงวัด 3 รอย เสาไฟฟ้าใกล้ป้ายรถเมล์ 1 รอย และรั้วกั้นถนน 1 รอย และจำลองวิถีกระสุน พบว่าส่วนใหญ่เป็นแนวยิงจากบนลงล่าง ส่วนรอยจากล่างขึ้นบน และแนวระนาบมีบ้างแต่ไม่มาก ส่วนการตรวจคราบโลหิต 6 จุด พบตรงกับผู้ตาย 4 ศพ โดยมี 2 จุด ไม่ทราบว่าเป็นของใคร เพราะมีปริมาณสารพันธุกรรมน้อยเกินไป นอกจากนี้ยังจำลองภาพขณะถูกยิงโดยสมมติในท่ายืน พบทั้งที่มีแนวยิงจากบนลงล่างและแนวระนาบ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจน เพราะไม่ทราบว่าผู้ตายถูกยิงในขณะอยู่ในอิริยาบถใด ต้องอาศัยหลักฐานอื่นประกอบ

 ขณะที่ พ.ต.ท.ไพชยนต์ เบิกความโดยสรุปว่า ปืนเอ็ม 16 หรือปืนขนาด 5.56 ม.ม. ที่เกี่ยวกับคดีนี้ สามารถถอดแบ่งส่วนประกอบหลักได้ 5 ส่วน ได้แก่ ลำกล้อง โครงปืน พานท้ายปืน ชุดลูกเลื่อน และชุดเครื่องลั่นไก ในการตรวจปลอกกระสุนปืนว่ายิงมาจากปืนกระบอกใด จะดูร่องรอยของขอรั้งปลอก และรอยเข็มแทงชนวนตรงพานท้ายกระสุนปืนว่าตรงกันหรือไม่ ส่วนการตรวจหัวกระสุนปืน จะต้องเทียบกับรอยในลำกล้องปืน ทั้งนี้ หากถอดเปลี่ยนส่วนประกอบของปืน ก็จะมีผลทำให้ผลการตรวจไม่ตรงกัน

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไป วันที่ 6 มิ.ย. โดยอัยการจะนำ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และผู้เชี่ยวชาญด้านตรวจเขม่าดินปืน สถานบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าเบิกความ

 วันเดียวกัน ที่วัดศรีชมภู่ ต.นาหว้า อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ นางคำจันทร์ แสงคำ พร้อมด้วยญาติพี่น้อง ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้นายวุฒิชัย วราห์คัม อายุ 22 ปี ลูกชายที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553 โดยถูกยิงบริเวณหน้าร้านทอง ถนนพระราม 4 โดยนางคำจันทร์กล่าวว่า ยังคงเสียใจอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ภูมิใจที่ลูกชายไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง เพราะอยากเห็นประชาธิปไตยจริงๆ และในวันที่ 19 พ.ค. ตนและสามีจะไปร่วมชุมนุมรำลึกครบรอบ 3 ปี ที่ราชประสงค์ กรุงเทพฯ ด้วย

 ขอให้กระบวนการยุติธรรมมีจริง เพราะคนที่ต้องสูญเสียญาติและพี่น้อง ยังเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ในช่วงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ไม่น่าจะรุนแรงขนาดนั้น เราคนไทยด้วยกัน ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนของกันและกัน เงินเยียวยาไม่ใช่ว่าเราอยากได้ แต่ถ้ามันต้องแลกด้วยชีวิตเราก็ไม่อยากเอาŽ แม่ผู้สูญเสียกล่าว

 ด้าน ด.ช.โรจนศักดิ์ ประจวบสุข อายุ 14 ปี ลูกชายนายประจวบ ประจวบสุข ผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณใต้ทางด่วนเฉลิมมหานคร ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553 กล่าวว่าครอบครัวไปทำบุญให้พ่อที่วัดใกล้บ้าน โดยปกติแม่จะทำบุญตักบาตรให้พ่อทุกเช้า และไปวัดทุกวันพระ ทุกวันนี้ยังเสียใจที่พ่อจากไป อยากให้คนที่สั่งการยิงพ่อและคนเสื้อแดง ออกมารับผิดชอบแบบลูกผู้ชาย กล้าทำต้องกล้ารับ เพราะตอนที่พ่อมีชีวิตอยู่ มักบอกตลอดว่าเกิดเป็นลูกผู้ชาย ทำผิดก็ต้องกล้ารับ และในวันที่ 19 พ.ค.นี้ แม่และญาติพี่น้องจะไปร่วมชุมนุมรำลึกที่ราชประสงค์ด้วย

 ขณะเดียวกัน นายศิริวัฒน์ จุปะมัดถา ผู้ประสานงานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จ.พะเยา เปิดเผยว่ากลุ่มเสื้อแดงพะเยาจากทุกอำเภอประมาณ 200 คน จะเดินทางด้วยรถบัส 5 คัน จาก อ.เชียงคำ อ.จุน อ.ดอกคำใต้ มารวมตัวกันที่สี่แยกแม่ต๋ำ อ.เมือง จ.พะเยา ในช่วงเย็นวันที่ 18 พ.ค. ก่อนมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร่วมชุมนุมรำลึกครบรอบ 3 ปี 19 พ.ค. ที่ราชประสงค์ 

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์