ปชป.ไล่ธาริตเป็นแกนนำแดง

ปชป.ไล่ธาริตเป็นแกนนำแดง

'ชวนนท์'ซัด'ธาริต'ไม่ควรเป็น'อธิบดีดีเอสไอ'หลังหนุน'เต้น-ตู่'เคลื่อนไหวเหมาะสม จวก'อุกฤษ'ไร้จุดยืน

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ที่ออกมากล่าวหาว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมรับกฎหมาย กรณีที่ฟ้องกลับดีเอสไอจากการตั้งข้อหาบริจาคเงินให้พรรค ว่า เป็นตรรกกะที่น่าเป็นห่วง ไม่น่าจะเป็นความคิดของคนที่จะบังคับใช้กฎหมายหรือมีตำแหน่งเป็นถึงอธิบดีดีเอสไอ เพราะถ้าคิดว่าคนรักษาสิทธิตามกฎหมายใช้กฎหมายเป็นเครื่องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ กลับเป็นสิ่งที่ นายธาริต ไม่เห็นด้วยแต่เห็นด้วยกับวิธีการกดดันข่มขู่สร้างความวุ่นวายเหมือนกับที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำเสื้อแดง และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ทำ

หากมีแนวความคิดแบบนี้ นายธาริต ไม่ควรเป็นอธิบดีดีเอสไอ แต่ควรออกไปเป็นแกนนำเสื้อแดงหรือแกนนำม็อบที่มีแนวคิดแบบ นายธาริต จะดีกว่า เพราะการแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องเงินบริจาคกับ สส.ของพรรค ทางกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ก็บอกว่าไม่ผิด

แต่ นายธาริต กลับทำเรื่องนี้ให้เป็นการเมืองเพื่อสร้างแรงกดดันให้พรรคยอมรับเรื่องนิรโทษกรรมหรือการปรองดอง ดังนั้นพรรคไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ นายธาริต เพราะเจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจในทางที่ผิด ก็ใช้สิทธิ์ในการฟ้องกลับตามกระบวนการทางกฎหมาย


ส่วนข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ คอนธ. ที่มีความเห็นให้แก้ไขโครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญ ถึงขนาดระบุว่า

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้เฉพาะเรื่องที่ผ่านกระบวนการทางรัฐสภาแล้วเท่านั้น นายชวนนท์ กล่าวว่า เป็นข้อเสนอที่ไม่เป็นกลางไม่คำนึงถึงประโยชน์ประชาชนส่วนรวม แต่อิงการเมืองให้ฝ่ายบริหารได้ประโยชน์ ลิดรอนอำนาจองค์กรอิสระ ปิดช่องการตรวจสอบของประชาชน ทั้งนี้ คอนธ.เคยเสนอหลายเรื่องและได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือผู้นำรัฐบาลที่ตั้ง คอนธ.ขึ้นมา

ก่อนหน้านี้ คอนธ.ได้ออกแถลงการณ์ของ วันที่ 14 ก.ย.54 ข้อ 7 ที่ระบุว่า คอนธ.จะไม่พิจารณาเรื่องที่มีองค์กรส่วนอื่นและภาคประชาชนดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การนิรโทษกรรม หรือคดีที่ดินรัชดา ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาเปรียบเทียบ แต่ข้อเสนอของนายอุกฤษ และคอนธ. กลับไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามคำแถลงการณ์ของ คอนธ.เอง


นายชวนนท์ กล่าวต่อว่า เห็นได้จากเมื่อต้นปี 2556 นายอุกฤษ ส่งร่าง พรบ.นิรโทษกรรมให้รัฐบาลพิจารณา

ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา จึงต้องถาม นายอุกฤษ ว่า ที่เคยออกแถลงการณ์ว่า จะไม่พิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม แต่ผ่านไปปีครึ่งทำไมจึงเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้รัฐบาล จึงต้องถามว่า คอนธ.ยังมีอุดมการณ์เหมือนที่เคยแถลงในวันที่ 14 ก.ย.54 หรือไม่ เพราะข้อเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญก็เข้าข่ายขัดต่ออุดมการณ์ของตัวเอง เพราะเรื่องโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญมีคนอื่นทำอยู่แล้ว อยากให้นายอุกฤษทบทวนว่า ควรจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ เพราะหากทำเช่นนี้ คอนธ.จะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ เนื่องจากมีการตระบัดสัตย์จากคำแถลงการณ์ของตัวเอง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์