เผยเอกสารต่อสู้คดีพระวิหาร2ฝ่าย

เผยเอกสารต่อสู้คดีพระวิหาร2ฝ่าย


กัมพูชาแจงศาลโลก ย้ำไทยรุกรานพื้นที่ใกล้ปราสาทพระวิหารก่อข้อพิพาทชายแดน

 เผยเอกสารต่อสู้คดีทั้ง2ฝ่ายว่อนเว็บ 'สุรพงษ์' มั่นใจ 17 เม.ย. ยกข้อเท็จจริงสู้ได้
 
 การต่อสู้คดีพระวิหารเริ่มต้นขึ้นแล้ว เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่น กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ องค์คณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 17 คน ได้เชิญคณะดำเนินการทางกฎหมายของกัมพูชา นำโดย นายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา นายวาร์ กิมฮอง รัฐมนตรีอาวุโสและประธานคณะกรรมาธิการชายแดนแห่งชาติ กับนายลอง วิสาโล รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศกัมพูชา เข้าให้คำแถลงคดีทางวาจาต่อศาลโลก

ขณะที่คณะดำเนินการกฎหมายต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารฝ่ายไทย นำโดย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายวีรชัย พลาศรัย ในฐานะตัวแทนไทยดำเนินการทางกฎหมายปราสาทพระวิหาร และนายวรเดช วีระเมคิน อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และที่ปรึกษาต่างชาติของไทย

"ฮอร์ นัม ฮง"ย้ำไทยรุกพื้นที่ใกล้ปราสาท

นายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลโลก กล่าวความเป็นมาของคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ในปี 2505 ที่นำมาสู่การที่กัมพูชายื่นตีความอาณาบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร ในปี 2554 โดยประธานศาลโลกได้เชิญนายฮอร์ นัม ฮง ขึ้นกล่าวถึงความสำคัญที่ศาลโลกได้พิจารณาตีความอาณาบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร โดยนายฮอร์ นัม ฮง กล่าวว่า กัมพูชารู้สึกเสียใจที่เกิดเหตุการณ์พิพาทตามแนวชายแดนในพื้นที่ใกล้ปราสาทพระวิหารที่มีความร้ายแรง ที่มีความจำเป็นให้ศาลช่วยตัดสินตีความ และช่วยคลี่คลายข้อโต้แย้งกรณีพิพาทกับไทย เพื่อให้เกิดสันติภาพและมิตรภาพในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณศาลที่ให้โอกาสแก่ไทยและกัมพูชาได้ชี้แจงทางวาจา และแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว

 นายฮอร์ นัม ฮง ชี้ว่า เหตุผลที่ทำไมคดีพระวิหารที่เกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในวันนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 เรื่องนี้เป็นที่รับรู้กันดี เมื่อสมัยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทางฝ่ายไทยได้รุกรานชายแดน และสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่และตัวปราสาทพระวิหาร และพื้นที่ตัวปราสาท ขณะที่กัมพูชาพยายามขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ไทยก็คัดค้าน และทำเหมือนไม่ทราบในเรื่องนี้ และมีท่าทีที่ไม่สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลโลกเดิมปี 2505 และคำสั่งศาลโลกที่สั่งให้มีการถอนทหารที่กำหนดให้เป็นพื้นที่เขตปลอดทหาร ตั้งแต่ปี 2554 โดยที่ไทยพยายามลดขอบเขตคำพิพากษาอย่างต่อเนื่อง ในการเจรจาถอนทหารออกจากเขตปลอดทหาร ไทยก็พยายามหาช่องโหว่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล และยังกล่าวหาว่ากัมพูชานำประชาชนกัมพูชาเข้าไปในพื้นที่ มีการตั้งชุมชน วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ และทำถนนในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย

 อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า คำให้การของไทยเป็นไปอย่างซ้ำซากและดูหมิ่น ไม่เป็นไปตามคำพิพากษา ปี 2505 ศาลตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา เพราะรู้เส้นเขตแดน ตามที่อ้างตามแผนที่ในภาคผนวก 1 ซึ่งความจริงก็มีอยู่ว่า ไทยไม่มีข้อต่อสู้ และพยายามยื้อคำตัดสินของศาลให้ล่าช้าออกไป ขณะที่กัมพูชาต้องการให้เกิดการตัดสินอย่างแท้จริง เนื่องจากการปักปันเขตแดนได้ทำไปแล้ว ตามแผนที่ในภาคผนวก 1 นำไปสู่คำถามในเรื่องอาณาธิปไตย กัมพูชาจะถอนกำลังทหารในพื้นที่ได้อย่างไร หากมีการอ้างอิงพื้นที่ของกัมพูชาเป็นไปตามแผนที่ในภาคผนวก 1

สิ่งนี้ ทำให้กัมพูชาไม่แน่ใจในเรื่องที่กัมพูชามีอธิปไตยในตัวปราสาทในภาคผนวก 1 ทางกัมพูชาต้องการให้ศาลตีความอาณาบริเวณรอบปราสาทที่เกี่ยวข้อง สิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ความสงบ และสันติภาพ ซึ่งศาลโลกมีบทบาทในสหประชาชาติ หากไม่มีคำตัดสินในวันที่ 25 มิถุนายน 2505 เราคงไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ โดยกัมพูชารอคำตัดสินอย่างจดจ่อที่ช่วยคลี่คลายความขัดแย้งดังกล่าวอีกด้วย

ทนายฝรั่งซัดไทยตีความฝ่ายเดียว

นายฌอง มาร์ค ซอเรล ทนายความชาวฝรั่งเศสของกัมพูชา แถลงด้วยวาจาต่อจากนายฮอร์ นัม ฮง ว่าไทยตีความคำพิพากษาเพียงฝ่ายเดียว และมีท่าทีที่ไม่เป็นมิตร ในการใช้คำพูดหรือภาษาที่เสียดสีและบิดเบือน ไทยพยายามทำให้เห็นว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนของไทย เราสงสัยว่าการใช้กำลังทหารและอาวุธจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในเขตแดน จึงต้องการให้ศาลตีความคำพิพากษาปี 2505

 ทั้งนี้ อาจจะแยกได้ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกสำหรับประเทศไทย คิดว่าไม่มีคำขัดแย้งหรือไม่เห็นด้วยในคำพิพากษา และศาลไม่มีอำนาจศาลที่จะรับตีความได้ แต่ถ้าศาลคิดว่ามีอำนาจตีความได้ แต่การตีความอาจจะไม่สามารถทำได้ เพราะต้องแยกออกมาเพราะยังไม่เป็นที่สิ้นสุด และถ้าคำตีความนั้น หากจะตีความก็ต้องให้ประโยชน์ต่อประเทศไทย เพราะศาลต้องยอมรับว่าเป็นข้อพิพาทเรื่องดินแดน ไม่ใช่เขตแดน แผนที่ที่เป็นจุดสำคัญนั้นคือ แผนที่ภาคผนวก 1 ไทยพยายามนำเรื่องเขตแดนและกรณีคำพิพากษามารวมกัน ทั้งที่เป็นคนละเรื่องกัน

 นายเซอร์ แฟรงคลิน เบอร์แมน ทนายชาวอังกฤษของกัมพูชา ให้การด้วยวาจาต่อศาลโลกต่อ โดยกัมพูชาได้แสดงเอกสารภาคผนวก 5 พูดถึงมติครม.ไทย ที่บอกว่ากัมพูชาจะได้เฉพาะซากปรักหักพังไปเท่านั้น และสิ่งที่เป็นการกำหนดพื้นที่ปราสาทมี 2 วิธี และมีการตีความแนวเขตแดนตามแนวสันปันน้ำ ซึ่งจะทำให้ไทยเสียดินแดนน้อยกว่าการยึดแนวเขตแผนที่ตามแนวปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นเอกสารที่จัดทำโดยฝ่ายไทยฝ่ายเดียว และเกี่ยวข้องกับคำพิพากษาที่กัมพูชาเสนอให้มีการตีความในส่วนปฏิบัติการส่วนที่ 2 และต้องมีการตีความก่อนถึงจะมีการปฏิบัติการได้ ส่วนที่ว่าไม่จำเป็นต้องตีความนั้น เพราะเป็นการตีความฝ่ายเดียว เป็นการตีความแบบนามธรรมที่คิดขึ้นมาโดยไม่มีการเตรียมการใดๆ เลย และการที่ขอให้ศาลตีความเพื่อกำหนดเส้นเขตแดนนั้น เพื่อให้กัมพูชาได้รับอธิปไตยตามที่ศาลโลกได้พิพากษา ที่ผ่านมาฝ่ายกัมพูชาไม่เคยตีความ แต่ไทยเป็นฝ่ายตีความโดยมีการออกมติครม.และล้อมรั้ว ซึ่งใครก็ตามที่ละเมิดรั้วนั้นไปจะถูกยิง หากไม่เรียกว่าเป็นการตัดสินใจฝ่ายเดียวจะเรียกว่าอะไร เราจะเห็นจากแผนที่เมื่อปี 2550 ซึ่งเป็นแผนที่ฝ่ายเดียวจากสันปันน้ำไปถึงพระวิหาร จากนั้นเว้าเข้าไปก่อนที่กลับมาที่เส้นสันปันน้ำอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเอกสารนี้ถูกเก็บเป็นความลับและถูกเปิดเผยออกมาเมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยฝ่ายไทยฝ่ายเดียว เราจึงจำเป็นต้องให้ศาลตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 การที่ฝ่ายไทยต่อสู้ว่ากัมพูชาไม่มีอำนาจยื่นขอให้ศาลตีความนั้น โดยได้หยิบยกกรณีแคเมอรูนและไนจีเรียขึ้นมาเป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งศาลรับตีความ

  ตามที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จเยี่ยมนั้น แสดงให้เห็นถึงทัศนคติไทยต่อแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นอย่างไร คำตัดสินของศาลต้องมีพื้นฐานที่ชัดเจนว่ามาจากสิ่งใด เป็นการยืนยันว่าประเทศไทยยอมรับข้อพิพากษานั้น ว่าเส้นที่ลากไว้เป็นตัวแทนการปักปันเขตแดนปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 และขอให้ศาลตัดสินชี้ขาดตีความคำพิพากษาที่แน่นอนไม่ใช่มาตรการชั่วคราว และข้อกล่าวหาของไทยที่ว่าปัญหาที่ผ่านไปเป็นปัญหาความถูกต้องในการตีความเป็นอย่างไรนั้น ไม่ถูกต้อง

นายร็อดแมน บันดี ทนายชาวอเมริกันของฝ่ายกัมพูชา ให้การต่อจากทนายชาวอังกฤษ ว่า แผนที่ที่ประเทศไทยทำเป็นแผนที่ที่จัดทำใหม่ไม่เกี่ยวกับคำพิพากษาเมื่อปี 2505 เอกสารจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าไทยเพิกเฉยต่อคำพิพากษา ในถ้อยแถลงของฝ่ายไทยอ้างว่าไม่มีข้อพิพาท นอกจากนี้ ครม.ยังลงบันทึกว่าการกำหนดขอบเขตทำได้ 2 วิธี และไทยรับข้อ 2 ตามมาตรการชั่วคราว ที่ผานมากัมพูชาได้ยื่นคำประท้วงมาเป็นระยะว่าไทยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โดยยูเอ็นก็ได้ตั้งผู้แทนเข้ามาดูแล

เผยเอกสารต่อสู้คดีทั้ง2ฝ่าย
              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ตัวแทนของฝ่ายกัมพูชาได้ให้ถ้อยแถลงเป็นวาจาเพิ่มเติมต่อคณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนั้น ปรากฏว่าบนเว็บไซต์ www.phraviharn.org ได้เผยแพร่เอกสารต่อสู้คดีที่ฝ่ายไทยและกัมพูชาได้ยื่นต่อศาลเมื่อช่วงปี 2554 หลังจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้การอนุญาต โดยเอกสารดังกล่าวได้เผยแพร่ฉบับที่เป็นต้นฉบับ ความยาวฝ่ายละกว่า 200 หน้า และผ่านการแปลเป็นภาษาไทย โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ

              โดยสาระสำคัญในเอกสารต่อสู้ของฝ่ายกัมพูชา ได้พยายามชี้ให้เห็นว่าฝ่ายไทยมีความเห็นต่างเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ทั้งที่ในคำพิพากษาในปีดังกล่าวชี้ชัดว่า พื้นที่ของปราสาทพระวิหารเป็นพื้นที่อธิปไตยของกัมพูชา ดังนั้นฝ่ายไทยต้องแสดงความยอมรับและเคารพในบูรณภาพของอธิปไตยกัมพูชา ด้วยการถอนกองกำลังทหาร ตำรวจ ผู้เฝ้ารักษา หรือผู้ดูแล ซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำการในพื้นที่ปราสาทและบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทเป็นผลแห่งการตามคำพิพากษาของศาล เมื่อปี 2505 แต่ขณะนี้ฝ่ายไทยไม่ได้ปฏิบัติตาม และไม่ได้ถอนกองกำลังทหารหรือตำรวจออกจากพื้นที่ รวมถึงมีการใช้อาวุธหนักโจมตีพื้นที่อธิปไตยของกัมพูชาจนทำให้ทหารกัมพูชาบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงชาวกัมพูชาด้วย ทางกัมพูชาจึงขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเดิมในความชัดเจนของบริเวณใกล้เคียงปราสาทว่าครอบคลุมพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ตามแผนที่ที่กัมพูชาได้ทำเสนอไปแล้วหรือไม่
ไทยโต้ศาลไม่มีอำนาจตีความ

              ด้านเอกสารข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรของฝ่ายไทย ที่ยื่นต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 สรุปสาระสำคัญเป็นการโต้แย้งคำร้องของฝ่ายกัมพูชา และชี้ให้เห็นว่า คำร้องขอให้ตีความคำพิพากษา ปี 2505 ของกัมพูชามีความกำกวม และมีเป้าหมายให้ศาลโลกตัดสินในเรื่องเขตแดน ทั้งที่ศาลโลกเคยปฏิเสธไปแล้ว ทั้งนี้ ในคำพิพากษาปี 2505 ไทยได้มีการปฏิบัติตามโดยออกเป็นมติ ครม.เมื่อปี 2505 ด้วยการถอนกองกำลังทหารออกจากพื้นที่ตัวปราสาท แต่ด้วยเหตุที่กัมพูชาต้องการพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว ทำให้ฝ่ายกัมพูชาพยายามอ้างสิทธิในเขตแดนเพิ่มเติมกว่าความพึงพอใจในอดีต ส่วนเหตุการณ์ปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่เกิดขึ้น ไม่พบการรุกล้ำของกองกำลังไทยในพื้นที่ปราสาทพระวิหารและบริเวณใกล้เคียง ส่วนการถอนกองกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยไม่ใช่พันธกรณีต่อเนื่อง แต่เป็นพันธกรณีที่เฉพาะเจาะจงและทันที

              “ในส่วนของแผนที่ 1:200,000 ที่กัมพูชานำเสนออ้างอิงนั้น ผู้เชี่ยวชาญแผนที่ของฝ่ายไทยพบว่า แผนที่ไม่สามารถเชื่อถือได้ เพราะเมื่อลงแผนที่ในภูมิประเทศจริงเกิดความผิดพลาด ดังนั้นศาลโลกจึงไม่ควรตัดสินว่าเส้นเขตแดน หรือเส้นบริเวณใกล้เคียงปราสาทเป็นไปตามแผนที่ 1:200,000 นอกจากนั้นแล้ว International Boundary Research Unit (IBRU) ค้นพบแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชายื่นต่อศาลโลก ในบทสรุป ไทยได้ขอให้ศาลตัดสินว่า ศาลไม่มีอำนาจตีความและไม่สามารถรับคดีไว้พิจารณา หรือหากศาลเห็นว่าศาลมีอำนาจและสามารถรับไว้พิจารณาก็ไม่มีเหตุผลที่จะตีความคำพิพากษา ปี 2505 หรือหากศาลเห็นว่ามีเหตุผลที่จะตีความดังกล่าว ขอให้ศาลอย่าได้ตัดสินว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ 1:200,000” เอกสารฝ่ายไทย ระบุ

โต้แย้งแผนที่1:200,000

              ขณะที่คำตอบของฝ่ายกัมพูชา โดยสรุปเป็นการโต้แย้งข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรของฝ่ายไทย โดยชี้ให้เห็นว่า การส่งเรื่องให้ศาลตีความคำพิพากษา ปี 2505 ไม่ได้มีเป้าหมายเรื่องการชี้ชัดของเขตแดน อีกทั้งกัมพูชามีสิทธิ์ที่จะยื่นศาลตีความคำพิพากษาคดีได้ แม้เวลาจะผ่านมานานกว่า 50 ปี นอกจากนั้นในส่วนของแผนที่ 1:200,000 ที่กัมพูชาได้ยกเป็นเอกสารอ้างอิง แผนที่ภาคผนวก 1 นั้น เป็นบทปฏิบัติการและมีสถานะ ตามที่ศาลได้ตัดสินให้มีผลผูกพัน

              ส่วนเอกสารคำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรของไทย สรุปสาระสำคัญได้ว่า แผนที่ 1:200,000 ไม่มีความเป็นเหตุเป็นผลและไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยกัมพูชาได้สร้างหลักฐานทางแผนที่ที่ไม่ถูกต้อง โดยมีการชี้นำว่า กรณีที่ศาลฯพิพากษาในปี 2505 ไม่รับพิจารณาประเด็นเส้นเขตแดนและสถานะของแผนที่ 1:200,000 เป็นเพราะเหตุผลทางกระบวนการพิจารณาคดี แต่ข้อเท็จจริงแล้วมีนัยด้านสารัตถะที่สำคัญ ซึ่งขอระบุเพิ่มเติมในนอกขอบเขตคำฟ้อง
 
"สุรพงษ์"มั่นใจฝ่ายไทยอธิบายได้

              ภายหลังจากฝ่ายกัมพูชาให้การทางวาจาต่อศาลโลกเสร็จสิ้นในรอบแรก นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า พอใจต่อการชี้แจงในรอบแรก

              ขณะที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงเนื้อหาการให้ถ้อยแถลงด้วยวาจาของฝ่ายกัมพูชา ตามที่ได้ยื่นขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ในปี 2505 ว่า ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของทีมทนายของฝ่ายไทย และเป็นสิ่งที่ทีมฝ่ายไทยเตรียมข้อมูลไว้ทั้งหมดแล้ว และเป็นสิ่งที่สามารถนำมาอธิบายให้คณะผู้พิพากษาได้พิจารณาในคดีดังกล่าวได้

              ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางกัมพูชาได้หยิบยกแผนที่ภาคผนวกที่ 1 มาอ้างถึงตลอดเวลา ทางฝ่ายไทยจะชี้แจงประเด็นดังกล่าวได้ใช่หรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่ฝ่ายกัมพูชาพูด ตรงกับสิ่งที่ทีมทนายฝ่ายไทยค้นคว้าและเตรียมมาชี้แจง ซึ่งในรายละเอียดขอให้รอฟังจากทีมทนายฝั่งไทยดีกว่า ทั้งนี้มีสิ่งที่ตนกังวลคือ ประชาชนอาจไม่เข้าใจในเนื้อหาตามที่ฝ่ายกัมพูชาได้ให้ถ้อยแถลงไว้ เนื่องจากเป็นเรื่องทางเทคนิค แต่อยากให้ประชาชนรอฟัง โดยเฉพาะสิ่งที่ทีมทนายฝั่งไทยจะได้ขึ้นพูด
              นอกจากนี้นายสุรพงษ์ได้โฟนอินไปยังศูนย์ข่าวคดีปราสาทพระวิหาร ที่กระทรวงการต่างประเทศว่า  ในภาพรวมทั้งวัน รู้สึกไม่หนักใจใดๆ และไทยก็มีความพร้อมจะเสนอข้อมูลนำมาหักล้างเช่นกัน ในส่วนของไทยจะขึ้นชี้แจงในเวลา 10.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 17 เม.ย.โดยจะให้ผู้พิพากษาเห็นว่าระหว่างไทยกับกัมพูชามีการตีความหมายและขอบเขตคำพิพากษา 2505 แตกต่างกัน กัมพูชาชี้ให้ชัดเจนว่าคำพิพากษาเป็นไปตามศาลไม่ใช่ฝ่ายไทย วันที่ 17 ที่ฝ่ายไทยจะให้ถ้อยแถลงด้วยวาจากับคณะผู้พิพากษา 
              "เราจะใช้เหตุและผลหลายเรื่อง เช่น เรื่องลวดหนาม บริเวณปราสาทพระวิหาร มติ ครม. กัมพูชาคิดฝ่ายเดียว โดยจะแก้เพื่อให้ศาลเข้าใจว่า ฝ่ายเขาขึ้นมาเห็นและเชื่อว่าหากได้รับทราบ ไม่มีการคัดค้านเช่นกันเป็นอย่างไร ขอให้ประชาชนคนไทยติดตามรายละเอียดฝ่ายไทย กระทรวงการต่างประเทศ ทีมงานจะนำที่มีการแปลสรุปอีกครั้ง ทีมทนายจะสรุปประเด็นให้ชัดเจนเพื่อให้คนไทยที่ฟังการถ่ายทอดได้เขาใจอย่างครบถ้วน หากมีคำถามต้องการสอบถาม ติดต่อที่กระทรวงการต่างประเทศ มีศูนย์ชี้แจงเพิ่มเติมด้วย"นายสุรพงษ์ กล่าว
              ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมายต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารฝ่ายไทย กล่าวว่า ในการชี้แจงกัมพูชาพยายามทำให้เห็นว่า การยื่นขอตีความอาณาบริเวณรอบปราสาทพระวิหารตรงตามเงื่อนไข คือไทยและกัมพูชามีความเห็นขอบเขตคำพิพากษาปี 2505 ที่แตกต่างกัน ที่นำไปสู่การขอให้ศาลตีความ รวมทั้งแผนที่ 1 : 2 แสน หรือที่เรียกว่าแผนที่แนบท้าย ที่ใช้ประกอบการพิจารณาศาลโลก ซึ่งกัมพูชาพยายามอ้างว่า ไทยต้องถอยทหารออกไปจาก 4.6 ตร.กม. ไม่ใช่เฉพาะที่มติครม. ปี 2505 ได้ตีกรอบล้อมรั้วไว้ ทั้งนี้ขอให้สบายใจได้ว่า คณะต่อสู้คดีฝ่ายไทยได้เตรียมจะหักล้างไว้แล้ว ขอให้ติดตามในวันที่ 17 เม.ย.นี้ เบื้องต้นจะมีประเด็นที่ยกมาแถลง อาทิ กรณีที่สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ไม่มีการโต้แย้งและให้การยอมรับการตีเส้นของฝั่งไทย แม้ว่าจะมีการล้อมรั้วล้ำไปยังเขตแดนของกัมพูชา

ทหารห้ามปชช.เข้าใกล้เขาพระวิหาร 
              ขณะที่บรรยากาศที่คลองบ้านด่าน บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ทหารสังกัดกองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ซึ่งประกอบไปด้วยทหารราบ ทหารพราน ยังคงตั้งด่านตรวจเข้มห้ามประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องในเรื่องของความมั่นคง เดินทางผ่านโดยเด็ดขาด มีเพียงประชาชนในพื้นที่ ที่มีที่ดินทำกินในบริเวณ ใกล้กับเขตอุทยานสามารถเข้าไปยังบริเวณดังกล่าวเพื่อประกอบอาชีพเท่านั้น โดยกองกำลังมีการจัดหน่วยเข้าปฏิบัติหน้าที่กันตลอด 24 ชั่วโมง เพราะมีกระแสข่าวว่ากลุ่มมวลชนต่างๆ ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง และกลุ่มเกษตรกร จะเดินทางเข้ามาในพื้นที่ในช่วงเร็ววันนี้ ทหาร และฝ่ายความมั่นคงจึงต้องเฝ้าระวังเหตุการณ์ตลอดเวลา

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์