เร่งดันปรองดอง-นิรโทษเข้าสภารบ.เจอปัญหาแน่!

เร่งดันปรองดอง-นิรโทษเข้าสภารบ.เจอปัญหาแน่!


'เร่งดันปรองดอง-นิรโทษเข้าสภา' รัฐบาลเจอปัญหาแน่! : ขยายปมร้อน โดยสมถวิล เทพสวัสดิ์, จารุวรรณ วงศ์ประยุกต์

ภายใต้ความเงียบสงบของบรรยากาศการเมืองในขณะนี้ ดูเหมือนจะซ่อนความคุกรุ่นพร้อมปะทุขึ้นมาตลอดเวลา แม้ว่าสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายของการเปิดสมัยประชุมสภา เนื่องจากระหว่างวันที่ 15-19 เมษายนนี้ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีพิพาทพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร ระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่เชื่อว่าอาจส่งผลให้การเมืองร้อนขึ้นมาอีกครั้ง

 โดยเฉพาะการเดินหน้าแก้ไข "ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ" ซึ่งบรรจุเป็นญัตติอยู่ในวาระการประชุมของสภาเป็นลำดับแรก และวันที่ 18 เมษายนนี้ "วรชัย เหมะ" ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำ 42 ส.ส.ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภา จะใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.เสนอให้ที่ประชุมโหวตเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน

 "ดร.นิติ มณีกาญจน์" อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า หากร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสู่การพิจารณาของสภาจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลมากกว่าเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้าน เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยตรง

 "อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มศว" มองว่า แนวทางร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ขณะนี้มีอยู่ 2 ประการ คือ ปรองดองแบบมีคนรับโทษ และปรองดองโดยที่ไม่มีใครได้รับโทษคล้ายกับการนิรโทษกรรม ถ้าปรองดองโดยไม่มีคนรับโทษกลายเป็นนิรโทษกรรม ทุกคนปราศจากมลทิน หรืออาจคืนสิทธิทางการเมืองและเรียกร้องเงินได้ ส่วนตัวมองว่า ถ้าไม่มีคนรับโทษ ปัญหาจะจบเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่สามารถแก้ความเคลือบแคลงใจต่อกันได้ และมีโอกาสที่ปัญหาจะปะทุขึ้นมาอีกในอนาคต

  ส่วนปรองดองโดยมีคนรับโทษ "นิติ" บอกว่า ประเด็นนี้เกิดยาก เพราะถ้าลงโทษต้องดูจากข้อเท็จจริงว่า จะลงโทษใคร มีโทษเท่าไรการลงโทษต้องสมน้ำสมเนื้อกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ลงโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากหรือน้อยเกินไป ถามว่าจะให้ไปลงโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ, พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน, แกนนำเสื้อเหลือง แกนนำเสื้อแดง ส่วนตัวมองว่า ค่อนข้างยาก เพราะปัญหาในสังคมไทยขณะนี้คือ ไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร เพราะความจริงแต่ละชุดขณะนี้ไม่ได้เป็นความจริงที่เป็นกลาง แต่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้ความเคลือบแคลงของอีกฝ่ายหนึ่งตลอดเวลา ดังนั้นจึงยากที่จะไปยึดบรรทัดฐานของความจริง จึงดูเหมือนว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเดินไปได้ยาก

  ในฐานะนักวิชาการ "นิติ" ได้เสนอแนวทางปรองดองไว้ 3 ข้อ 1.การลงโทษตัวเอง โดยไม่ต้องให้ใครหรือหน่วยงานไหนมาออกกฎหมายเพื่อลงโทษแกนนำหรือผู้กระทำผิด แต่ให้คนเหล่านั้นลงโทษตัวเอง เช่น ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ, พล.อ.สนธิ, อภิสิทธิ์, สุเทพ ฯลฯ มาอยู่ร่วมกันให้สัตยาบันว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง วางมือทางการเมือง ไม่ให้ความคิดเห็น ไม่ให้ใครนำชื่อคุณไปใช้ในทางผลประโยชน์ทางการเมือง ให้คนเหล่านี้หายไปเลยจากการเมือง 2.บริบทของศาลต่อสังคมควรมีระยะห่าง เพราะสถานะของศาลคือความสูงส่ง เพื่อให้คนเชื่อมั่นในคำตัดสิน 3.สร้างบรรยากาศการปรองดอง โดยหาประเด็นร่วมกันเพื่อให้คนในสังคมไทยสามารถคิดร่วมกันทำร่วมกันได้ เพื่อลดความไม่ไว้วางใจกัน แม้ทั้ง 3 ข้อทำยาก แต่เป็นแนวทางที่จะก่อให้เกิดการปรองดอง เพราะกฎหมายไม่ทำให้เกิดการปรองดอง การปรองดองต้องใช้ความจริงใจ

 สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งผ่านการพิจารณาของรัฐสภาวาระแรก "นิติ" มองว่า การแก้รัฐธรรมนูญต้องเคารพเจตนารมณ์เดิมของรัฐปี 50 ที่มีเจตนารมณ์ตรวจสอบนักการเมือง เพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชน และเพิ่มอำนาจให้แก่องค์กรอิสระ แต่ที่แก้ไขปัจจุบันนี้ไปเปลี่ยนเจตนารมณ์เดิมของรัฐธรรมนูญปี 50 หรือไม่ ถ้าเปลี่ยนถือว่าไม่ใช่การแก้ไข แต่เป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา โดยรวมแล้วที่แก้ 3 ประเด็นคิดว่านักการเมืองได้ประโยชน์มากกว่าประชาชน

 "เรื่องผลประโยชน์จากการแก้ไขกฎหมายปฏิเสธไม่ได้ ทั้งเรื่องดินแดน เรื่องการใช้จ่ายเงิน รัฐบาลค่อนข้างมั่นใจว่าจะอยู่ในอำนาจนาน จึงกล้าที่จะทำ เพราะบริหารจัดการได้ง่าย โดยการแก้ไขจะไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล แต่มี 3 เรื่อง ถ้าแก้ไขแล้วจะเกิดผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล คือ แก้ไขหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์, แก้ไขอำนาจศาล และแก้ไขเกี่ยวกับองค์กรอิสระ แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะยังไม่แตะทั้ง 3 เรื่องนี้"

ส่วนสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลล้มหรืออยู่ไม่ได้ "นิติ" ได้จัดลำดับไว้คือ 1.เศรษฐกิจล่มสลาย ฟองสบู่แตกหรือว่าเกิดเงินเฟ้อของแพง โดยประเด็นนี้จะไปเกี่ยวโยงกับ 2 ล้านล้านบาทด้วย ถ้ารัฐบาลดูแลไม่ดีระบบเศรษฐกิจล่มขึ้นมารัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ 2.อุบัติเหตุทางการเมือง เช่น ผลจากคำตัดสินของศาลกรณียุบพรรคหรือถอดถอน 3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ และการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 4.การคอร์รัปชั่น ซึ่งหมายถึงรัฐบาลทำตัวเอง

ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะอยู่บริหารประเทศครบเทอม แม้ว่านายกฯ จะถูกมองเรื่องภาวะผู้นำ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้แสดงบทบาทมากนัก ทำให้เป้าโจมตีไม่ชัด จึงกลายเป็นข้อดี นอกจากความเป็นผู้หญิงแล้ว การบริหารประเทศจะไม่เน้นพูดเรื่องการเมืองมาก ทำให้ไม่เป็นเป้า"

ส่วนที่มีการมองกันว่า คณะรัฐมนตรีของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่มีใครมีผลงานโดดเด่น "นิติ" มองว่า การบริหารงานของรัฐบาลเหมือนปล่อยให้ระบบราชการนำไปปฏิบัติ รัฐมนตรีพยายามดีดตัวว่าเป็นฝ่ายคิดนโยบาย กรณีเงินกู้ 2 ล้านล้าน รัฐบาลวางนโยบาย กระทรวงหรือข้าราชการก็นำไปทำให้เป็นจริง ถามว่าจะประเมินความสามารถได้ไหม พูดได้ยาก เพราะรัฐมนตรีไม่ได้ลงไปในเชิงปฏิบัติจริงๆ ปล่อยให้ระบบราชการทำ

 "คณะรัฐมนตรีคิดนโยบาย ราชการก็ทำไป ถ้ามองในแง่ความเป็นห่วง ถ้าเป็นนักวิชาการประเภทที่ว่าต้องตรวจสอบได้ นี่ใช้เงินของรัฐนะ ก็น่าเป็นห่วง แต่ถ้าเป็นนักวิชาการอีกสาย ก็มองในแง่ที่ว่า ถ้ามัวรอจ่ายเงินแบบเป็นเหตุเป็นผล โครงการศึกษาความเป็นไปได้เมื่อไรจะได้ทำ เมื่อไรจะเกิดพลังที่จะไปดึงเอาประชาชนรากหญ้าขึ้นมาจากระดับที่เขาลำบากอยู่ 

ต้องยอมขาดทุน ขาดทุนจำนำข้าวขาดทุนไปสิ เพื่อดึงให้คนกลุ่มนี้ลืมตาอ้าปากได้ ตีความกันอยู่สองสาย สายหนึ่งก็แบบจารีต บริหารต้องรอบคอบบ้านเมืองไม่ใช่ของเล่น อีกสายหนึ่งก็บอก ถ้ามัวคิดอย่างนั้นประเทศไม่ก้าวหน้า ขาดทุนแสนล้านช่างมัน ชาวนาได้ลืมตาอ้าปาก ได้เอาเงินไปต่อยอดทำธุรกิจอย่างอื่นต่อ นี่คือการปฏิรูปสังคม แล้วคนไทยก็ชอบสายที่สอง ชอบประชานิยม เลิกไม่ได้แล้ว" อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มศว กล่าว

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์