จี้นายกฯทบทวนพาสปอร์ตทักษิณ

ภาพจาก คมชัดลึกภาพจาก คมชัดลึก


'ผู้ตรวจการฯ'ยื่นหนังสือถึง'นายกฯ'จี้ทบทวนคืนพาสปอร์ต'ทักษิณ'พร้อมให้ชี้แจงในใน 30 วัน ชี้แนวปฏิบัติกระทวงต่างประเทศหักล้างคำพิพากษาไม่ได้


 


14 ก.พ.56 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชา เพื่อให้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณากรณีการออกหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดี ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทางพ.ศ.2548 ข้อ 21 และให้รายงานผลการดำเนินการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน 30 วันนับแต่ได้รับหนังสือ


นายรักษเกชา กล่าวต่อว่า ภายหลังนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ได้ยื่นหนังสือขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาหาข้อเท็จจริงกรณีกระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากเห็นว่า เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบแล้วก็ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงต่างประเทศขอให้มีการพิจารณาทบทวนการออกหนังสือเดินทางดังกล่าวเพราะเห็นว่าข้อมูลที่กระทรวงการต่างประเทศใช้พิจารณาในการอนุมัติหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น เป็นข้อมูลเก่าก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษาสั่งจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ และพ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนีจนชื่อถูกขึ้นบัญชีต้องห้ามเดินทางออกนอกประเทศของกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงกลับมาว่า กรณีการออหนังสือออกหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยสุจริตคืนสิทธิการมีหนังสือเดินทางให้แก่บุคคลดังกล่าวตามที่รมว.ต่างประเทศได้มีข้อวินิจฉัยและคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 54 ว่า นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันเห็นว่า การคงอยู่ในต่างประเทศต่อไปของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยหรือต่างประเทศ ตามข้อ 23(7)ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศฯ จึงยกเลิกคำสั่งในเรื่องนี้ที่ออกโดยนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้ว และให้ออกหนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปให้แก่ พ.ต.ท. ทักษิณ


นายรักษเกชา กล่าวต่ออีกว่า จากคำชี้แจงดังกล่าวของกระทรวงต่างประเทศทำให้ผู้ตรวจฯเห็นว่า ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่กระทรวงการต่างประเทศจะต้องคำนึงถึงสำหรับประกอบการพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้แก่ พ.ต.ท. ทักษิณ ในครั้งนี้ คือ ผู้ถือหนังสือเดินทางเป็นบุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจออกหนังสือเดินทางให้ตามข้อ 21 ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศฯ หรือไม่ เพราะเป็นจำเลยในคดีอาญาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับ เป็นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้ออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และเป็นบุคคลที่ถูกขึ้นบัญชีดำห้ามเดินทางออกนอกประเทศตามฐานข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งพบว่ากระทรวงการต่างประเทศมิได้ใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณา แต่กลับอาศัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานเดิมเมื่อปี 41 ก่อนที่ศาลฎีกาฯจะมีคำพิพากษา

              

 "ดังนั้นที่กระทรวงต่างประเทศพิจารณาว่า การออกหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เข้าข่ายที่กระทรวงจะใช้ดุลยพินิจปฏิเสธหรือยับยั้งคำขอหนังสือเดินทางตามข้อ 21 ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศฯ ว่า จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่อาจคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในขณะพิจารณาคำขอหนังสือเดินทาง ส่วนที่กระทรวงต่างประเทศอ้างว่า รมว.ต่างประเทศระบุว่า นโยบายรัฐบาลปัจจุบันเห็นว่าการคงอยู่ต่างประเทศต่อไปของผู้ขอหนังสือเดินทางรายนี้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยหรือต่างประเทศนั้น เห็นว่า รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการมีหน้าที่กำหนดนโยบายกระทรวงที่สอดคล้องนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนด แต่นโยบายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือระเบียบราชการที่มีอยู่ ซึ่งระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 มิได้กำหนดให้รมว.ต่างประเทศ มีอำนาจดำเนินการในเรื่องนี้ได้โดยตรงไว้เป็นการเฉพาะ"นายรักษเกชากล่าว

               

"การใช้ดุลพินิจของปลัดกระทรวงการต่างประเทศหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการพิจารณาคืนสิทธิการมีหนังสือเดินทางให้แก่ พ.ต.ท. ทักษิณ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ได้มีการปฏิบัติให้ครบถ้วนตามระเบียบกระทรวงต่างประเทศฯ และแนวทางปฏิบัติที่กระทรวงการต่างประเทศกำหนดไว้ ซึ่งแม้นโยบายของรมว.ต่างประเทศในเรื่องนี้จะสำคัญ แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่เพียงพอที่จะหักล้างข้อมูลที่ว่าศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ และศาลออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเดินทางไปต่างประเทศได้ ซึ่งหนังสือเดินทางเป็นเอกสารราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงต่างประเทศดังนั้น เพื่อเป็นการประสานประโยชน์ของราชการต่อการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของศาลและตำรวจ กระทรวงการต่างประเทศสมควรต้องตรวจสอบไปยังหน่วยราชการดังกล่าวเสียก่อน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบันและเป็นการขอคำยืนยันสถานะบุคคลและคดีว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ขอหนังสือเดินทางเป็นบุคคลเดียวกันกับที่ออกหมายจับไว้ และยังต้องการตัวมาเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้แก่ พ.ต.ท. ทักษิณ ต่อไป"นายรักษเกชา กล่าว

               

นายรักษเกชา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ผู้ตรวจฯยังได้เสนอกระทรวงการต่างประเทศให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบดังกล่าว เนื่องจากในการพิจารณาปฏิเสธ ยับยั้ง ยกเลิก หรือเรียกคืนหนังสือเดินทาง กำหนดให้เป็นดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงอาจเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตีความไปในทางที่อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม หรือความไม่เสมอกันในกฎหมาย หรือเป็นการเลือกปฏิบัติได้ โดยในข้อ 21(2) ที่กำหนดให้ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธ หรือยับยั้งการขอ หรือแก้ไขหนังสือเดินทาง ในกรณีเมื่อได้รับแจ้งว่าผู้ร้องเป็นผู้ซึ่งกำลังรับโทษในคดีอาญา หรืออยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว หรือเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ได้มีการออกหมายจับไว้แล้ว ซึ่งศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเห็นว่าไม่ควรจะออกหนังสือเดินทางให้ แต่ในทางปฏิบัติศาลหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนเท่านั้น ไม่อาจมีความเห็นเกี่ยวกับการออกหนังสือเดินทางแต่อย่างใด

               

ดังนั้น หากกระทรวงการต่างประเทศพิจารณาโดยตีความอย่างเคร่งครัดว่า กรณีที่จะเข้าข่ายข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องได้รับแจ้งจากศาลหรือตำรวจว่าไม่ควรออกหนังสือเดินทางให้แก่ผู้ร้องขอเท่านั้น ก็อาจเป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ใช้อำนาจตามระเบียบฯ ดังกล่าว ปฏิเสธหรือยับยั้งการออกหนังสือเดินทางให้แก่ผู้ร้องขอหนังสือเดินทางตามข้อ 21(2) แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องขอหนังสือเดินทางเป็นจำเลยในคดีอาญาที่ได้มีการออกหมายจับไว้แล้ว หรือศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกบุคคลดังกล่าวแล้วก็ตาม ซึ่งไม่น่าจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของระเบียบดังกล่าวที่กำหนดให้ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธหรือยกเลิกหนังสือเดินทางเมื่อพบว่า ผู้ร้องขอเป็นผู้ไม่อยู่ในฐานะที่จะเดินทางไปต่างประเทศได้

               

เมื่อถามว่า นายกฯเป็นน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ หวังแค่ไหนที่จะให้สั่งกระทรวงต่างประเทศทบทวน นายรักษเกชา กล่าวว่า เชื่อว่าโดยหน้าที่รับผิดชอบนายกฯคงใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ เพราะท่านเป็นนายกของประเทศ ผู้ตรวจไม่ได้พิจารณาว่าคนนั้นนามสกุลเดียวกับคนนี้แล้วจะไม่ส่งไป แต่หากส่งไปที่นายกแล้วกระทรวงการต่างประเทศยังไม่มีการทบทวนตามขั้นตอนผู้ตรวจฯก็จะรายงานต่อไปที่รัฐสภา และเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ต่อสาธารณชนให้ทราบว่าเรื่องดังกล่าวตามระเบียบของกระทรวงประเทศมีข้อห้ามอะไรอยู่บ้าง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์