เปิดฉากศึกเลือกตั้งชิงผู้ว่าฯกทม. เดิมพันอนาคตการเมืองปชป.-เพื่อไทย

เปิดฉากศึกเลือกตั้งชิงผู้ว่าฯกทม. เดิมพันอนาคตการเมืองปชป.-เพื่อไทย


ปี่กลองรัวเชิดดังขึ้นเป็นที่เรียบร้อย สำหรับศึกการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งแม้จะเป็นการเมืองระดับท้องถิ่น แต่ผลที่ตามมาจะมี “ความหมาย” อย่างมากกับการเมืองระดับชาติชนิดหลีกเลี่ยงไม่พ้น

แน่นอนว่า 2 พรรคใหญ่อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ กับ พรรคเพื่อไทย คือ “คู่ต่อสู้” ที่ถูกคาดหมายว่า ไม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ต้องเป็น “ผู้ชนะ” แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ระหว่างทางหรือการรณรงค์หาเสียงตลอดเกือบจะ 60 วัน จะเต็มไปด้วยความเข้มข้นเพราะต่างฝ่ายต่างระดมสรรพกำลังที่ตัวเองมีอยู่มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองอย่างสูงสุด

นอกจาก 2 พรรคหลักยังมีผู้สมัครอิสระซึ่งน่าจะมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบกับ 2 พรรคไม่มากก็น้อยแตกต่างกันไป

สำหรับการเลือกตั้งแล้ว มีองค์ประกอบมากมายที่ล้วนเป็น “ปัจจัย” และน่าจะเป็นเรื่องยากที่จะ “ฟันธง” กันลงไปตรงนี้ว่า ใครจะไปใครจะมา ของเดิมหรือของใหม่ ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

ปัจจัยที่ว่าก็น่าจะ “จำแนก” ได้ออกมาดังต่อไปนี้

ในแง่ตัวบุคคล ต้องยอมรับว่า “แชมป์เก่า” อย่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร นั้นมีความโดดเด่นในแง่ของการตั้งใจทำงาน มีผลงานในหลายเรื่องตลอดระยะเวลา 4 ปี แต่ก็แน่นอนว่าในแง่ของ “คนทำงาน” ย่อมมีข้อผิดพลาดและนำมาซึ่งการถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งก็เป็น “จุดด้อย” เพราะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อ่อนในเรื่องการประชาสัมพันธ์แต่ก็ต้องถือว่าม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มีประสบการณ์และน่าที่จะสานงานต่อหากได้รับโอกาสอีกครั้ง ขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งแน่นอนว่าจะส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร.และเลขาธิการป.ป.ส.ลงสมัคร พล.ต.อ.พงศพัศ เป็นที่รู้จักในสังคมอย่างมากเพราะมีจุดแข็งด้านการประชาสัมพันธ์ สังเกตได้จาก “ฉายา” ที่สื่อมวลชนตั้งให้ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการประชาสัมพันธ์ ทั้งสิ้น ขณะที่จุดอ่อนคือความที่เป็น “มือใหม่” และที่ผ่านมาก็ไม่มี “ความชัดเจน” จากเจ้าตัวเลยว่า คิดหรือมีนโยบายอย่างไรกับการพัฒนากรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังถูกมองว่าเป็นผู้สมัครที่ทำตาม “ใบสั่ง” จากแดนไกล หากได้รับโอกาสก็อาจจะมีสภาพไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มีหน้าที่ “ทำ” แต่ไม่มีโอกาสได้ “คิด”

ในแง่พรรค ความเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย จะทำให้สังคมมองว่า หากได้ผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ เป็นหน้าเป็นตาของสังคมไทยอย่างกรุงเทพฯเป็นคนชุดเดียวกันอาจจะทำให้กระบวนการตรวจสอบ “มีปัญหา” ซึ่งที่ผ่านมาผลจากการเลือกตั้งครั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ท่ามกลางกระแสทางการเมืองแต่ผู้มีสิทธิในกรุงเทพฯก็ยังเทคะแนนและให้ความไว้วางใจพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ จุดแข็งคือความต่อเนื่องในการบริหารที่มีคนของพรรคเข้าไปทำหน้าที่สูงสุดในกรุงเทพฯมาตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในสมัยของ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม.ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ที่สำคัญพรรคประชาธิปัตย์ มีความเป็นเอกภาพในการทำงานและมีความพร้อมที่มากกว่า ขณะที่พรรคเพื่อไทย กว่าจะลงได้ก็ต้องรอจนนาทีสุดท้าย

ในแง่การสนับสนุน พรรคประชาธิปัตย์ มีส.ส.มีส.ก.และมีส.ข.ในจำนวนที่มากกว่าครอบคลุมทั้ง 50 เขตการปกครองในกรุงเทพฯ การเข้าถึงมวลชน ระบบการจัดตั้งก็ย่อมที่จะดีกว่า ขณะที่พรรคเพื่อไทย ได้ความเป็นรัฐบาลซึ่งถืออำนาจรัฐอยู่ในมือ มีหน่วยงานอย่างตำรวจ ที่ประกาศตัวชัดเจนว่าอยู่ข้างรัฐบาลนั่นคือ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. หรือแม้แต่หน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องแต่มีอำนาจในการสอบสวนยังถูกโยงเข้ามา

ในแง่นโยบายหาเสียงและกลยุทธ์ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้วถือว่ามีความพร้อมมากกว่า รู้และเข้าใจปัญหา จึงน่าจะมีนโยบายทั้งที่จะ “ต่อยอด” และทั้งที่ “เริ่มใหม่” ในลักษณะของการเข้าใจปัญหาและอยู่บนความเป็นจริงมากกว่า ขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเดิมประกาศตัวว่าจะขายที่นโยบายมากกว่าตัวบุคคลแต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปนโยบายดูจะถูกพูดถึงน้อยกว่าเพราะมัวแต่เอาเวลาไปหาข้อสรุปว่าตัวบุคคลที่จะลงสมัครในนามพรรคจะเป็นใคร

ขณะที่ กลยุทธ์หาเสียง พรรคประชาธิปัตย์ จะขายประสบการณ์ความต่อเนื่อง การทำหน้าที่ท้องถิ่น ไม่เกี่ยวกับการเมืองระดับชาติ ส่วนพรรคเพื่อไทย จะขายความใหม่ การประสานงานกับรัฐบาลเพื่อให้การปัญหาต่าง ๆ ไปในทิศทางเดียวกัน

อีกเรื่องที่ไม่ควรจะมองข้าม คือ ปัจจัยความนิยมทางการเมืองระดับชาติ จะเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจในครั้งนี้อย่างมาก เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ไม่ใช่การเลือกใครเข้ามาทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯเท่านั้น แต่จะเป็นการตัดสินความนิยมทางการเมืองทั้งของรัฐบาลและของฝ่ายค้าน

ฝ่ายรัฐบาลซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจุดขาย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ นั้นจะมี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้านเป็นตัวชูโรง

ภาพทางการเมืองวันนี้แม้ อภิสิทธิ์ จะถูกข้อกล่าวหาในหลาย ๆ คดีและถูกเล่นงานทางการเมืองจากเรื่องในอดีต แต่ดูเหมือนกระแสตอบรับในกรุงเทพฯจะเป็นไปอย่างน้อยมาก ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเพราะคนกรุงเทพฯนั้นได้ชื่อว่าไวและใกล้ชิดกับข้อมูลทางการเมืองอย่างมาก รู้และแยกแยะได้

ใช่ว่าเวทีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.จะมีแค่ 2 พรรคการเมืองใหญ่เท่านั้น ที่ผ่านมา มักจะมีผู้สมัครคนอื่นที่จะมาสร้าง “สีสัน” ทางการเมือง ครั้งนี้ที่ถูกเปิดออกมาคือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผบ.ตร.ที่ลงในนามกลุ่มอิสระ และเดินหน้าหาเสียงอย่างเงียบ ๆ มาได้ระยะหนึ่ง “เป้าหมาย” ของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ น่าจะอยู่ที่กลุ่มพลังเงียบหรือพวกบ้านมีรั้ว ทั้งนี้มีข่าวว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือคนเสื้อเหลืองกำลังจะหันไปให้การสนับสนุน เพราะมองว่า นี่คือทางเลือกที่ 3 ซึ่งนั่นก็หมายความว่า พลังโนโหวต จะเทมาตรงนี้ ซึ่งจะเป็นผลดีกับพรรคเพื่อไทยแต่เป็นผลร้ายกับพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ นายโฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัครอิสระอีกคน คงเป็นได้แค่สนามสร้างชื่อเพื่อเดินไปบนถนนทางการเมืองในโอกาสข้างหน้า

ดังนั้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.รอบนี้จึงมีความหมายและเดิมพันทางการเมืองอย่างสูงยิ่ง ไม่ใช่แค่ว่าใครหรือฝ่ายไหนจะดูแลผลประโยชน์และทำกรุงเทพฯให้น่าอยู่กว่ากัน แต่น่าจะเป็นการเลือกตั้ง โดยมองถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองระดับชาติกับการเมืองระดับท้องถิ่นเป็นสำคัญ

ทางหนึ่งเมื่อเป็นเนื้อเดียวกันก็ง่ายและไปในทิศทางเดียวกัน แต่อีกทางก็มองว่าโอกาสและกระบวนการตรวจสอบจะไม่มี ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ที่สุด คนกรุงเทพฯก็จะเป็นผู้เสียประโยชน์ซะเอง

การแพ้หรือการชนะมีผลทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทยน้อยกว่ามีผลทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีที่มั่นทางการเมืองเหลืออยู่ที่กรุงเทพฯและภาคใต้เท่านั้น

ยังมี “เวลา” และเร็วเกินไปที่จะคาดเดาผลการเลือกตั้งที่ออกมาว่าใครจะ “หัว” หรือใครจะ “ก้อย” แต่สิ่งที่บอกไว้ได้เลยคือ สนามการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่มีใครยอมใคร เป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่น่าจับตาพอ ๆ กับการเลือกตั้งระดับชาติก็ว่าได้

ถือเป็นอีกบททดสอบของประชาธิปไตยในประเทศไทยเลยทีเดียว.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์