ตามรอยคดีปราสาทพระวิหาร ระเบิดเวลาลูกใหม่ รบ.ปู

ตามรอยคดีปราสาทพระวิหาร ระเบิดเวลาลูกใหม่ รบ.ปู


หมายเหตุ - ขณะนี้เริ่มมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลไทยต่อข้อพิพาทคดีปราสาทพระวิหาร ระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา จึงย้อนรอยลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมท่าทีที่ผ่านมาทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา ก่อนที่ศาลโลกจะพิจารณาคดีในเดือนเมษายน และคาดว่าจะมีคำพิพากษาปลายปีนี้

ลำดับเหตุการณ์
คดีปราสาทพระวิหาร


15มิถุนายน 2505 ศาลโลกมีคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา พร้อมสั่งให้ไทยถอนทหารและตำรวจออกจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร รวมถึงให้คืนวัตถุโบราณที่ไทยนำออกจากตัวปราสาท

10 กรกฎาคม 2505 คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดเส้นขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร

15 กรกฎาคม 2505 ไทยถอนกำลังทหารและตำรวจออกจากปราสาทพระวิหารและบริเวณใกล้เคียง

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

28 เมษายน 2554 กัมพูชายื่นขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 และขอให้ศาลโลกออกคำสั่งมาตรการชั่วคราวให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร

3 พฤษภาคม 2554 คณะรัฐมนตรีอนุมัติการจัดตั้งคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของไทย และแต่งตั้งทนายความของไทยในการสู้คดี

30-31 พฤษภาคม 2554 องค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกนั่งพิจารณาคดี (oral hearings) ตามคำขอของกัมพูชาเรื่องมาตรการชั่วคราว

18 กรกฎาคม 2554 ศาลโลกมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว 4 ข้อ

1.ให้ไทยและกัมพูชาถอนกำลังทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราวตามพื้นที่ซึ่งศาลกำหนดให้ทันที

2.ไม่ให้ไทยขัดขวางกัมพูชาในการเข้าถึงปราสาทพระวิหารอย่างอิสระ รวมถึงการส่งเสบียงที่จำเป็นให้กับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ทหารของกัมพูชาในปราสาทพระวิหาร

3.ให้ไทยและกัมพูชาร่วมมือกับอาเซียน และอนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนเข้าไปในพื้นที่เขตปลอดทหารชั่วคราว

4.ให้ไทยและกัมพูชาละเว้นการดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้สถานการณ์หรือข้อพิพาทมีความรุนแรงมากขึ้น

รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

18 ตุลาคม 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลโลก โดยใช้กลไกคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสองฝ่ายเป็นประธานร่วม

15 พฤศจิกายน 2554 รัฐสภาพิจารณาเรื่องการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลโลกตามมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญ

21 พฤศจิกายน 2554 ไทยยื่นเอกสารข้อเขียนฉบับแรก (ข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษร) ต่อศาลโลก โต้แย้งคำขอของกัมพูชาให้ศาลตีความคำพิพากษาปี 2505

21 ธันวาคม 2554 ที่ประชุมจีบีซีไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 8 ที่กรุงพนมเปญ มีมติจัดตั้งคณะทำงานร่วม (เจดับเบิลยู จี) เพื่อหารือเรื่องการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราว

8 มีนาคม 2555 กัมพูชายื่นข้อเขียนฉบับที่ 2

(คำตอบ) ต่อศาลโลก เพื่อโต้แย้งข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรของไทย

3-5 เมษายน 2555 การประชุมเจดับเบิลยูจี ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ สาระสำคัญคือให้เก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ซึ่งศาลโลกกำหนดเป็นเขตปลอดทหารชั่วคราว และให้หารือเกี่ยวกับการปรับกำลังและบทบาทของคณะ

ผู้สังเกตการณ์ในการประชุมครั้งต่อไป

21 มิถุนายน 2555 ไทยยื่นเอกสารข้อเขียนฉบับที่ 2 (คำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร) ต่อศาลโลก เพื่อโต้แย้งคำตอบของกัมพูชา

26-28 มิถุนายน 2555 การประชุมเจดับเบิลยูจี ครั้งที่ 2 ที่กรุงพนมเปญ สาระสำคัญคือให้เก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันในพื้นที่ที่จำเป็นของเขตปลอดทหารชั่วคราว ก่อนปรับกำลังทหารออกจากพื้นที่ โดยให้คณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียสังเกตการณ์

13 กรกฎาคม 2555 นายกรัฐมตรีไทยพบกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่กรุงพนมเปญ โดยได้หารือเกี่ยวกับการปฎิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลโลก

18 กรกฎาคม 2555 ไทยและกัมพูชาปรับกำลังทหารบางส่วนของแต่ละฝ่ายในพื้นที่ซึ่งศาลโลกกำหนดให้เป็นเขตปลอดทหารชั่วคราว

17-19 ธันวาคม 2555 การประชุมเจดับเบิลยูจี ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพฯ สาระสำคัญคือให้เจ้าหน้าที่สองฝ่ายพิสูจน์จุดเอ บี ซี ดี ของเขตปลอดทหารชั่วคราวตามคำสั่งศาลโลกร่วมกัน โดยศูนย์ทุ่นระเบิดแห่งชาติสองประเทศจะร่วมกันเตรียมแผนการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมในพื้นที่ดังกล่าวภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 และจะเริ่มเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมในไตรมาสแรกของปี 2556

15-19 เมษายน 2556 ศาลโลกจะนั่งพิจารณาคดี โดยไทยและกัมพูชาจะขึ้นกล่าวถ้อยแถลงคนละ 2 รอบ อย่างไรก็ดี เนื่องจากศาลยังไม่อนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายเปิดเผยเนื้อหาที่ได้มีการยื่นต่อศาลไปก่อนหน้านี้ จึงทำให้ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าแต่ละฝ่ายจะหยิบยกประเด็นใดขึ้นมาชี้แจง

ปลายปี 2556 คาดว่าศาลจะมีคำพิพากษาในช่วงปลายปี เพราะโดยทั่วไปศาลจะใช้เวลาอีกราว 6 เดือนหลังขั้นตอนการนั่งพิจารณาคดีจึงจะมีคำตัดสิน

คำขอของกัมพูชา
เพื่อให้ศาลตีความคำพิพากษา

กัมพูชาเห็นว่าไทยและกัมพูชาตีความคำพิพากษาปี 2505 ไม่เหมือนกันในประเด็นว่าขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร (vicinity of the Temple) อยู่ที่ไหน จึงมีข้อพิพาทเรื่องการตีความ

กัมพูชาเห็นว่าศาลโลกจะต้องตีความโดยยึด "แผนที่ภาคผนวก 1" (แผนที่ 1 : 200,000 ระวางดงรัก) เป็นหลัก กล่าวคือ แผนที่ดังกล่าวเป็นเหตุผลสำคัญที่ศาลโลกใช้เป็นพื้นฐานของคำพิพากษาเมื่อปี 2505

กัมพูชาจึงเห็นว่าขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารต้องเป็นไปตามเส้นที่ปรากฏในแผนที่

ข้อต่อสู้ทางกฎหมายของไทย

1.ไทยคัดค้านว่าศาลไม่มีอำนาจพิจารณาและกัมพูชาไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากประเด็นที่กัมพูชาขอให้ศาลโลกพิจารณาไม่ใช่การตีความ แต่เป็นการฟ้องคดีใหม่เรื่องเขตแดนซึ่งอยู่นอกขอบเขตของคดีเดิม

2.ไทยและกัมพูชาไม่มีข้อพิพาทในเรื่องการตีความคำพิพากษาเดิม เพราะกัมพูชาได้ยอมรับอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2505 แล้วว่า ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาในคดีเดิมอย่างครบถ้วนแล้ว โดยได้ถอนทหารและตำรวจออกจากปราสาทพระวิหารและบริเวณใกล้เคียงปราสาทตามขอบเขตที่กำหนดโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 ซึ่งสอดคล้องกับขอบเขตของพื้นที่พิพาทในคดีเดิมตามความเข้าใจของคู่ความและศาลโลก

3.คำฟ้องของกัมพูชาเป็นเสมือนการอุทธรณ์ที่ซ่อนมาในรูปของคำขอตีความ ขัดธรรมนูญศาลโลก และแนวคำพิพากษาของศาล เพราะกัมพูชาขอตีความคำพิพากษาส่วนที่เป็นเหตุผล ไม่ใช่ส่วนที่เป็นคำตัดสิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอให้ศาลตัดสินสิ่งที่ศาลได้เคยปฏิเสธมาแล้วอย่างชัดแจ้งเมื่อปี 2505 กล่าวคือ (หนึ่ง) ศาลมิได้ตัดสินว่าเส้นเขตแดนอยู่ที่ไหน และ (สอง) ศาลมิได้ตัดสินว่าแผนที่ที่กัมพูชาเรียกว่า "แผนที่ภาคผนวก 1" มีสถานะทางกฎหมายอย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

นายกรัฐมนตรีได้หารือผู้นำทหารเมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา ถึงแนวทางการดำเนินการในเรื่องความมั่นคงว่าจะทำอย่างไร รวมถึงปัญหาที่ค้างคา ที่ประชุมมีมติให้ตั้งทีมโฆษกชี้แจงงานด้านความมั่นคง เพราะบางอย่างต่างคนต่างพูดกันไป อาจไม่ตรงกัน จึงจำเป็นต้องมีทีมงานให้ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับทราบไปในทิศทางเดียวกัน ทีมโฆษก ทางรัฐบาลจะเป็นผู้จัดตั้ง โดยมีพลเรือน ตำรวจ ทหาร เข้าไปร่วม ส่วนการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพและกระทรวงการต่างประเทศในกรณีปราสาทพระวิหารนั้น เราทำงานร่วมกันมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2505 จนมาถึงช่วงปี 2551 ก็มีปัญหา ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 2 มกราคม

ที่ผ่านมา อยากให้สองประเทศอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีความร่วมมือกัน และสองประเทศไม่ได้มีแนวโน้มจะสู้รบกัน

เรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตขอให้ผ่านไป แต่นโยบายของรัฐบาล คือ ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านรอบประเทศ สำหรับกองทัพบกได้จัดกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 2 ไปรับผิดชอบในพื้นที่เขาพระวิหารอยู่ รวมถึงตำรวจตระเวนชายแดน 2 กองร้อย ภาพลักษณ์ที่ออกมาจะได้ดูเบาลงในสายตาของภายนอก ทุกอย่างที่เคยมีปัญหาผ่านมาตอนนี้ก็จบสิ้นแล้ว ตั้งแต่เรามีการปรับวิธีการ มีการพูดคุยกัน ถือเป็นความก้าวหน้าที่ดี

ส่วนกรณีที่ศาลโลกจะมีการตัดสินคดีปราสาทพระวิหารในช่วงกลางปีนี้นั้น เป็นเรื่องของการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม แต่ในช่องทางการพูดคุยเรายังเน้นการพูดคุยกันทางคณะทำงานร่วม (JWG) ดำเนินการตามมติศาลโลก ส่วนรัฐบาลก็คุยกับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อนำภาพรวมทั้งหมดสรุปให้กับรัฐบาลของประเทศตัวเอง เพื่อแก้ไขปัญหาในการอยู่ร่วมกันในอนาคต ส่วนการเก็บกู้วัตถุระเบิดยังคงดำเนินการต่อไป แต่คงใช้เวลานานพอสมควร โดยจะมีการกำหนดจุดที่มีการสัญจรของประชาชนที่จะเก็บกู้อย่างเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัย

ส่วนกรณีกระทรวงการต่างประเทศต้องการเร่งรัดให้ดำเนินการแต่ยังติดขัดที่ฝ่ายความมั่นคง ผมไม่ได้ใช้คำว่าติดขัด แต่เป็นการหาวิธีการอย่างไรให้คนภายนอกและศาลโลกได้เข้าใจว่าไม่ใช่ ไทยหรือกัมพูชา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนทำ ต้องให้ทั่วโลกหรือศาลโลกเห็นว่าทั้ง 2 ประเทศพูดคุยในทวิภาคีได้ และอยู่ร่วมกันได้ รวมถึงหาแนวทางในการอยู่ร่วมกันได้ในอนาคต โดยไม่มีการสู้รบกันอีกอย่างยั่งยืน ถ้าหากเราไม่มีช่องทางพูดคุยเลยให้เป็นเรื่องรัฐบาลกับรัฐบาล จะดูเหมือนว่าฝ่ายความมั่นคงกับรัฐบาลมีความขัดแย้งกัน

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

หน่วยงานด้านความมั่นคงได้เสนอ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ตั้งทีมงานขึ้นมาเพื่ออธิบายรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร และอธิบายคำวินิจฉัยของศาลโลกที่จะเกิดขึ้นภายในปีนี้ โดยศาลโลกจะเริ่มกระบวนการทั้งหมดในช่วงเดือนเมษายน ดังนั้น เราต้องเตรียมพร้อมเอาไว้ เนื่องจากเรารู้อยู่แล้วว่าคำตัดสินของศาลโลกไม่แปรเปลี่ยนไปจากคำตัดสินเมื่อปี 2505 จึงเชื่อได้ว่าประเทศไทยมีแต่เสมอกับแพ้ เหมือนกับที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้

รัฐบาลคำนึงว่าเมื่อคำตัดสินของศาลโลกออกมาจะมีบางกลุ่มนำคำตัดสินที่ออกมาไปหาประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะการเมืองภายในประเทศ อาจจะมีการนำไปขยายผล เพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก เพราะที่ผ่านมาประเด็นปราสาทพระวิหารฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลนำไปจุดชนวนมาตลอด และจุดติดเสียด้วย เพราะไปกล่าวหาว่าประเทศไทยสูญเสียดินแดน

ทั้งที่คำตัดสินของศาลโลกครั้งนี้อาจจะไม่ต่างจากคำตัดสินเมื่อปี 2505 เลยก็ได้ รัฐบาลจึงต้องเตรียมชุดข้อมูลไว้อธิบายกับประชาชนให้เข้าใจในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้หน่วยงานด้านความมั่นคงได้หารือกันเบื้องต้นแล้ว โดยจะให้กระทรวงการต่างประเทศรับหน้าที่ทำความเข้าใจกับประชาชนเป็นหลัก
ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ และจะให้ สมช.รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ให้กระทรวงการต่างประเทศอีกทีหนึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์และหน่วยงานความมั่นคง ต้องการจะให้ข้อมูลที่สื่อสารไปยังประชาชนมีความเป็นเอกภาพมากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนออกไป


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์