“ณัฐวุฒิ” ทำนายการเมืองปี 56 แรง! สงครามอุดมการณ์

สัมภาษณ์โดย วีรวุธ พรชัยสิทธิ์ และ ฟ้ารุ่ง ศรีขาว

จากบทบาทแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กระทั่งวันนี้ในบทบาทของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” จัดว่าเป็นบุคคลที่มีจุดขายทั้งในฐานะแกนนำมวลชน และเสนาบดี ในขณะที่การเมืองปี 2555 มีประเด็นที่เป็นเผือกร้อนอยู่หลายประเด็นต่อเนื่องมาจนถึงปีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นต้น 

“มติชนออนไลน์” สัมภาษณ์ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ในวาระก้าวสู่ปีใหม่ ถึงแนวโน้มทางการเมืองในปี 2556 และบทบาทของฝ่ายต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์ที่พร้อมจะคุขึ้นมาได้ตลอดเวลา

@คิดอย่างไรกับฉายารัฐมนตรี “ไพร่เทียม”

เมื่ออยู่ในเวทีที่วิจารณ์คนอื่น ก็ต้องยอมรับการถูกวิจารณ์ได้เช่นเดียวกัน  ถือว่าเวลาของเราในเวทีการเมืองไม่ว่าสถานะใดก็ตาม มีไว้ให้ทุกฝ่ายตรวจสอบพิสูจน์ทราบ แต่คิดว่ามีข้อเท็จจริง 2 ข้อ ที่อาจเข้าใจไม่ตรงกัน


ข้อแรกคือ ความหมายของคำว่า “ไพร่-อำมาตย์” ที่เราใช้ในการต่อสู้คงเป็นคนละอย่างกับที่สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลหยิบมาตั้ง ผมเคยอธิบายว่า การบอกว่าเป็นไพร่ ไม่ได้หมายความว่า เราอยากเป็น แต่หมายความว่า ในเมื่อคนกลุ่มหนึ่งเห็นว่าตัวเองดี ฉลาด มีชาติตระกูล แล้วเห็นว่า อีกกลุ่มหนึ่งโง่ ไร้การศึกษา เห็นแก่เงิน งั้นเราจะต่ำสุดๆ ต่ำกว่าที่คุณคิด แล้วสู้กับคุณ เพื่อให้รู้ว่าที่ใดมีการกดขี่ที่นั่นมีการต่อสู้


ข้อที่สองคือ เอาเข้าจริงๆ ผมคิดว่าคนที่บอกว่า “ไพร่เทียม” อาจจะอธิบายไม่ได้ว่า ถ้าเป็นรัฐมนตรี ซึ่งเป็น “ไพร่แท้” ต้องใช้ชีวิตแบบไหน ต้องทำงานแบบไหน ไม่มีใครตอบได้และหาคำตอบไม่ได้ 


ในระบอบประชาธิปไตย ไพร่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งใช่ไหม ไพร่มีสิทธิ์เป็น ส.ส.ใช่ไหม ถ้าอยู่ในฝ่ายบริหารไพร่ก็เป็นรัฐมนตรีได้ใช่ไหม แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยอธิบาย "ไพร่-อำมาตย์" เป็นเรื่องสถานะ พอได้รับการเลือกตั้ง เป็น ส.ส. ก็บอกว่าเป็น อำมาตย์ พอทำงานบริหารเป็นรัฐมนตรี ก็บอกว่าเป็น อำมาตย์ เพราะความคิดกดขี่แบบเดิมยังคงอยู่ คือ คิดว่าไพร่ต้องถูกกดขี่ ไม่มีโอกาส  มีคนคิดว่าเลือกตั้ง 3 ก.ค.54 คนไทยยังโง่ ถูกหลอกลวงให้เลือกพรรคเพื่อไทยและคนกลุ่มนี้ไม่กล้าไว้วางใจให้ประชาชนกำหนดทิศทางประเทศ   


“ณัฐวุฒิ” ทำนายการเมืองปี 56 แรง! สงครามอุดมการณ์

@เปลี่ยนบทบาทเป็นรัฐมนตรี มา 2 กระทรวง ชวนแม่บ้าน - รปภ. มากินข้าว ที่สำนักรัฐมนตรี ตั้งใจจะรักษาความเป็นไพร่หรืออย่างไร 


ไม่เกี่ยวกับเรื่องไพร่หรือเปล่า เพราะผมเป็นแบบนี้มาตลอด เป็นแกนนำ นปช. ก็เป็นแบบนี้ มาเป็นรัฐมนตรี ทำงานที่กระทรวงก็ทักทาย รปภ. แม่บ้าน แล้ว มีอยู่วันหนึ่งช่วงปลายปี 55 กำลังจะขึ้นลิฟท์ที่กระทรวงพาณิชย์ มีรปภ.  เดินเข้ามา แล้วบอกว่าขอกอดหน่อย ผมก็ให้กอด กอดแล้วเขาก็ไปทำงานต่อ แล้วอยู่สำนักรัฐมนตรี บางวันเจอแม่บ้านถือถ้วยมาตักแกง ผมก็ควงแขนพาไปห้องที่วางกับข้าว แล้วพาไปตักแกง อยู่กันแบบนี้ ก็เลยไม่รู้ว่า ถ้าเป็น “ไพร่แท้” รูปธรรมเป็นอย่างไร อาจจะหาคนอธิบายไม่ได้ แต่ผมไม่ซีเรียส เพราะก็จะเป็นแบบนี้ต่อไปไม่เปลี่ยน  

ตั้งแต่อยู่กระทรวงเกษตรฯ ก็ซื้อกับข้าวมาจากร้านอาหาร “เยี่ยมใต้” ของภรรยา โดยจ่ายสตางค์ให้เขาด้วยนะครับ วันละ 4-5 อย่าง ไปวางไว้ห้องทำงานในกระทรวงในมุมที่สามารถวางกับข้าวได้ ให้เจ้าหน้าที่ที่เขาทำงานหน้าห้องกินด้วย แล้วบอกให้ไปชวน รปภ. แม่บ้าน คนกวาดพื้นถูพื้น กินด้วยกันหมด ที่กระทรวงเกษตร ก็อยู่กันแบบนี้

แขกไปใครมา พี่น้องคนเสื้อแดง พี่น้องเกษตรกรมีปัญหามา ถ้าตรงเวลาเที่ยงผมก็ชวนไปกินข้าว ก็กินกันแบบนี้  พอมาที่กระทรวงพาณิชย์ ก็ทำแบบเดิมครับ สะดวกขึ้นด้วย เพราะว่าบ้านกับกระทรวง กิโลกว่าๆ ก็ถึงแล้ว แต่กระทรวงพาณิชย์ สถานที่กระทรวงกว้าง ตึกใหญ่ แม่บ้าน รปภ. ก็กระจายกันอยู่ ตามห้องต่างๆ ผมก็ ให้เขาส่งข่าวกันไป แรกๆ เขาก็ไม่กล้าเข้ามา เพราะถือว่าเป็นสำนักรัฐมนตรี อยู่ๆ จะเข้ามาเดิน หรือกินข้าว เขาอาจจะรู้สึกว่า ยังไงๆ อยู่


ผมก็บอกทีมงานไปชวนมา ใครสะดวก มานั่งกินข้างในก็กิน ใครไม่สะดวกก็ตักใส่ถุงใส่ชาม ใส่ถ้วย ก็ได้ตามสบาย วันไหนผมอยู่กระทรวงก็นั่งกินกับพรรคพวก วันไหน ผมไม่อยู่ก็ยังมีกับข้าวกับปลาอยู่ ก็อยู่กันแบบนี้ครับ

@ บทบาทคนเสื้อแดงในปี 2556 คาดว่าจะเป็นอย่างไร 


ถ้าสถานการณ์สงบราบเรียบ การเคลื่อนไหว ก็คงเป็นลักษณะหลอมรวมความคิด ระดมพลในที่ตั้ง แต่ถ้าสถานการณ์เข้มข้น แหลมคม การเคลื่อนไหว เชื่อมโยงในลักษณะเครือข่าย การทำงานในลักษณะการจัดตั้ง หรือการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สอดรับสถานการณ์ สิ่งเหล่านี้ จะทำให้ขบวนการประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้น สถานการณ์ทางการเมือง จะร้อนแรงเข้มข้นยิ่งขึ้น เช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นตัวนำในการขับเคลื่อนขบวนการประชาธิปไตย
 


@ วิเคราะห์ การเมืองปีหน้า


เข้มข้นแน่นอน การเมืองปีหน้าจะมีความเคลื่อนไหว ทั้งในและนอกระบบรัฐสภา โดยมีเป้าหมาย ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ ตัวนายกรัฐมนตรี โดยพรรคประชาธิปัตย์ จะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญขนานใหญ่ ปรากฎความเคลื่อนไหวกลุ่มมวลชนนอกรัฐสภาครั้งใหญ่ เพื่อสอดรับการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ จะเห็นการขยับตัวขององค์กรอิสระบางองค์กร ชัดเจนมากขึ้น โดยใช้กลไกตัวเองดำเนินการต่อนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน จะเห็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เช่นกัน ของขบวนประชาธิปไตย โดยมวลชน โดยนักวิชาการ โดยกลุ่มอิสระ อาจจะไม่ใช่การชุมนุมใหญ่ แต่มีลักษณะ เป็นขบวนการ โดยปี 2556 จะเป็นปีสำคัญมากๆ ปีหนึ่งในการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยมของประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์เปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของประเทศไทย ที่กำลังเดินไปด้วยเงื่อนไขของกาลเวลา

@ ประเมิน ฝ่ายต่างๆ อย่างไร 


ผมเชื่อว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยม คาดหวัง ว่ากำลังชี้ขาด น่าจะเป็นกำลังเดิม คือ กองทัพ คือการเคลื่อนกำลังของผู้ถืออาวุธ แต่ว่าสำหรับ ฝ่ายเสรีนิยม เรามีความเชื่อมั่นว่า ใครก็ตามที่คุมกำลังกองทัพอยู่ จะเคลื่อนออกมา เพื่อหวังเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมือง แบบหลายๆ ครั้งก่อน ไม่น่าจะใช่เรื่องง่าย แล้วดีไม่ดี มันอาจจะทำให้สถานการณ์บานปลาย ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะฉะนั้น  ภายใต้สถานการณ์ที่เป็น แต่ละฝ่าย จึงอยู่ในลักษณะคุมเชิง ตรวจสอบกันอยู่ตลอดเวลา

ผมก็ภาวนา ให้ในที่สุดนี่เป็นการหักล้างกันทางความคิดอย่าง แหลมคม โดยไม่มีการใช้กำลัง ไม่ว่า จากฝ่ายใดๆ แล้วก็โดยที่สุด เมื่อการต่อสู้ยุติ ทุกสิ่งในประเทศนี้ ยังคงอยู่ร่วมกันได้ โดยสันติ โดยมีหลักการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง เป็นตัวขับเคลื่อน
การคัดง้างกันของ 2 อุดมการณ์ความคิดในประเทศไทย ไม่ว่าจะสู้กันรู้แพ้รู้ชนะยังไง ก็ไม่ได้หมายความว่าอีก ฝ่ายหนึ่งจะล้มหายตายจากไปหมดสิ้น  ถ้าฝ่ายเสรีนิยมได้รับชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็ย่อมต้องหมายความว่า แนวความคิดอนุรักษ์นิยม ก็ยังมีอยู่ ยังมีคนบางกลุ่มเชื่อแบบนี้ ยังมีคนบางกลุ่มเคลื่อนไหวแบบนี้


หรือถ้าหากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แนวคิด เสรีนิยม ก็จะไม่มีวันตาย เพียงแต่ว่าประเทศไทย ความแตกต่างทางความคิด เป็นความงามในระบอบประชาธิปไตย แล้วอยู่ร่วมกันได้ ผมยืนยันว่าทุกอย่างที่เคยมีมาในประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องมีอะไรล้มหายตายจากไป ทุกอย่างยังคงมีอยู่แล้วก็อยู่ร่วมกันได้ในที่สุด เพียงแต่ว่า ต้องเอาประชาธิปไตยมาเป็นตัวนำขับเคลื่อนเท่านั้นเอง


@ มองการผลัดเปลี่ยนรุ่นนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรบ้าง


ตัวแบบ หรือแม่พิมพ์ ที่คมชัดที่สุด คือ คุณ ชวน หลีกภัย แล้วหลายคนในพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีความเชื่อ ว่า ถ้าเดินตามแนวทางของคุณชวนหลีกภัยแล้วจะประสบความสำเร็จ ได้รับความยอมรับ ทั้งที่ คุณชวน เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง มีเพียงครั้งเดียวที่ ประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง โดยหลังเป็นนายกรัฐมนตรี ประชาธิปัตย์ ก็พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งถัดมา นั่นหมายความว่า บทบาทยังมีปัญหาการยอมรับ แต่เมื่อถูกทำให้เป็นเหมือนผู้วิเศษ หรือ เทพเจ้าทางการเมือง ทำให้นักการเมืองรุ่นใหม่ ใน ประชาธิปัตย์เดินหาตัวแบบ แบบคุณชวน ทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่ คุณอภิสิทธิ์ บวกกับบุคคลิกแต่ละคน เราจึงเห็น คุณชวน แบบคุณเทพไท คุณชวนแบบคุณชวนนท์ คุณชวนแบบคุณอภิสิทธิ์ และอีกหลายคน


พรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะสายเลือดใหม่ๆ น่าจะจับมือตั้งวงคุยกันอย่างจริงจัง


ผมยังไม่เห็นนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ซึ่งเป็น ผลผลิตที่มีบทบาทจนถึงปัจจุบัน  ลองเอ่ยชื่อดู ใครบ้างที่สร้างความแตกต่างทางสังคมได้ ใครเป็นผู้นำทางการเมืองที่แท้จริง ที่ประชาชนฝากความหวังได้ เท่าที่เห็นออกมาโชว์ตัวอยู่ ก็เป็น “แกงค์ไอติม”  “แกงค์สายล่อฟ้า” ใครมาเป็นโฆษก ไม่ว่าจะเคยเป็นอะไรมาก่อน ก็จะต้องทำคล้ายๆ กัน  ยังไม่เห็นนักการเมืองรุ่นใหม่ผ่านเบ้าหลอมประชาธิปัตย์ แล้วมีความแตกต่าง จากที่หลายคนทำในเวลานี้ แม้ว่าจะอยู่พรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม แต่นี่เป็นความเห็นจากความบริสุทธิ์ใจ จะถูกผิด หรือ ใช่ไม่ใช่ เป็นเรื่องที่สังคมต้องพิจารณา

@ โอกาสที่จะเกิดรัฐประหารในปีหน้า


ประเมินจากภาพปัจจุบัน โอกาสที่จะเกิดรัฐประหาร มีน้อย แต่ว่าการเมืองแบบประเทศไทย อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่อย่างที่ผมเรียน ถ้าเกิดการรัฐประหารขึ้นมาอีก นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ล้อรถถังหมุน จะไม่มีใครเดาภาพจบของเหตุการณ์นั้นได้เลย แล้วผมเชื่อว่า จะเกิดการต่อสู้ต่อต้านในพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่วินาทีแรกที่คนมั่นใจว่าเกิดการรัฐประหาร


@ลีลาอภิปรายในสภา เช่น “ไหว้พี่เขาเสียสิ” “หอแต๋วแตก” เวลาตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม ทำไมมีความ ฮา มากกว่าเครียด คิดว่าเป็นสภาโจ๊ก หรือเปล่า


ไม่ใช่สภาโจ๊ก นี่คือของจริง และไม่ได้คิดว่ามีความฮามากกว่า เพราะรักษาเนื้อหาได้ครบ แต่มีสีสันด้วย การฟังการอภิปรายหรือข้อมูลใด ไม่จำเป็นต้องอยู่ในบรรยากาศเครียดเสมอไป มีอารมณ์ขันได้ อยู่ที่ข้อมูลที่เราต้องการสื่อสาร แม่นยำขนาดไหน เขาเข้าใจตามที่เราต้องการหรือรับข้อมูลที่เรานำเสนอได้หรือไม่ ฉะนั้น เวลาอภิปราย หรือปราศรัย ผมจึงมีอารมณ์ขันและทำให้คนรู้สึกเพลิดเพลินไปด้วย ส่วนในสภา เวลาฝ่ายตรงข้ามประท้วง แต่ละคนก็ทำหน้าตาถมึงทึง เหมือนกับการประท้วงครั้งนี้ จะเอากันให้เป็นให้ตายทางการเมือง หลังจากประท้วงเสร็จ ณัฐวุฒิ ต้องไปต่อไม่ได้ ต้องถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ในการอภิปรายต่อ ผมก็เลยนึกว่า ต้องใส่อารมณ์ขันบ้าง เพื่อให้คนดู ซึ่งติดตามอภิปรายอยู่ รู้สึกว่า บรรยากาศไม่เครื่งเครียดเกินไปนัก

คนที่จะยกมือขึ้นมาจะได้เข้าใจว่า ไม่ต้องทำขนาดนั้นก็ได้ ไม่ต้องลุกขึ้นมาบู๊ ไม่ต้องลุกขึ้นมาแสดงอารมณ์ โกรธเกรี้ยวโกรธาอะไรมากมายก็ได้ ก็ว่ากันสบายๆ แต่ถ้ามาแบบโกรธเกรี้ยวก็อาจจะมีหมัดแปลกๆ ที่จะชกกลับไปแบบที่ คุณเองก็หลบยาก

ผมไม่ได้มีความคิดว่า ขึ้นไปพูดทุกครั้งต้องเสียดสี ต้องทำให้ใครได้เจ็บได้อาย แต่ว่า เวลาเขายกมือขึ้นมา บางทีเราเห็นว่าเป็นเจตนาทำลายจังหวะ เป็นเจตนาที่จะสะกัดการลื่นไหลของข้อมูล เราก็จะต้องมีการส่งอะไร กลับคืนไปบ้างเพื่อบอกว่า ต้องหยุดก่อนนะ เพราะ ถ้ามาอีกก็ต้องมีอะไรกลับไปอีกที่ทันกัน รับมือกันได้ ถือว่าเป็นสีสันน้ำจิ้ม ไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อเกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็สวนไป แต่จริงๆ การอภิปรายก็อยากนำเสนอเนื้อด้วยลีลาแนวทางที่เราเป็น


@ แกนนำเสื้อแดง ได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภา มองบทบาท เช่น "จ่าประสิทธิ์ ไชยศรีษะ"อย่างไร


ผมบอกจ่าประสิทธิ์ ว่า ในแง่การเป็นที่รู้จัก คอการเมืองวันนี้ถ้าไม่รู้จักจ่าประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ผมว่า ไม่น่าจะใช่คอการเมืองตัวจริง ต่อไปสิ่งที่จ่าประสิทธิ์ ต้องทำ คือการเป็นที่ยอมรับ จ่าประสิทธิ์ จะไม่ใช่ลุกขึ้นแล้วประท้วงอย่างเดียว เพราะว่าหน้าที่นั้น คุณอภิสิทธิ์ ได้พยายามแย่ง จ่าประสิทธิ์ไปแล้ว โดยความพยายามล้อเลียนให้เหมือนที่สุด เพื่อที่จะได้อาศัยบทบาทนั้น เบียดจ่าประสิทธิ์ ให้ตกขอบไปให้ได้ เพราะฉะนั้น ในฐานะผู้ประท้วง จ่าประสิทธิ์ ก็เจอคู่แข่งที่แข็งแรงอย่างคุณอภิสิทธิ์

ฉะนั้น จ่าประสิทธิ์ ก็น่าจะต้องเดินเข้ามาในบทบาทนักอภิปรายนักนำเสนอ ผมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ เราก็จะได้เห็นจ่าประสิทธิ์ ในบทบาทนั้น ในสมัยประชุมที่กำลังจะเปิด จากบทบาทเพียงปีเศษๆ ของจ่าประสิทธิ์ ในทางการเมือง พี่น้องผมคนนี้ จากการทำโพลล์สำรวจของพรรคเพื่อไทย เขาได้รับคะแนนนิยมเป็นอันดับ 1 ของ ส.ส.จังหวัดสุรินทร์ ต้องดูเขาลงพื้นที่อยู่กับประชาชน จะรู้จักมากขึ้น


ขณะเดียวกัน "วรชัย เหมะ" ก็เป็น ส.ส.สมัยแรกของสมุทรปราการ เป็น ส.ส. ได้รับคะแนนนิยมอันดับ 1 จากผลสำรวจ จ.สมุทรปราการ เช่นเดียวกัน วันนี้ คุณวรชัย เหมะ เดินมาอีกก้าวโดยลุกขึ้นอภิปราย นำเสนอสิ่งที่ตัวเองคิด   และอยากสื่อสารสังคม ในสภาผู้แทนราษฎร ผมเชื่อว่า จะมีพัฒนาการต่อๆ ไปอีก รวมถึงจ่าประสิทธิ์ จะมีพัฒนาการที่ดี เช่นเดียวกัน ลองดูทั้งคู่ลงพื้นที่ลองถอดอคติแล้วมองเขาในฐานะนักการเมืองหน้าใหม่ บวกกับข้อมูลในพื้นที่ จะทำให้รู้จัก 2 คนนี้ ดีขึ้น 

@ คุณณัฐวุฒิ มีทักษะการโต้วาที เช่นเดียวกับ คุณอภิสิทธ์ ก็เป็นนักโต้วาทีมาก่อน 


ทักษะการโต้วาทีทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องลบ หลายเรื่องก็ได้ใช้เป็นประโยชน์ แต่ไม่ได้หมายความว่า เถียงเก่ง หักล้างได้หมดหรือคิดเข้าข้างตัวเองเก่ง เหล่านี้ไม่ใช่ แต่ ทักษะการโต้วาที หมายถึงการคิดแยกแยะ ประเด็นต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว จัดข้อมูลเป็นระบบ มีวิธีการถ่ายทอดในระยะเวลาจำกัด ให้เข้าถึงผู้ฟังได้มากที่สุด นี่คือทักษะที่เป็นประโยชน์ ส่วนที่เถียงไปมาหักล้างไปมาพูดจาเข้าข้างตัวเอง ก็เป็นคุณสมบัติที่สังคมต้องพิจารณาว่าใครนำมาใช้ทางเวทีการเมือง


ส่วนกรณีคุณอภิสิทธิ์ ปัญหาใหญ่ ไม่ได้อยู่ที่การพูด แต่ปัญหาอยู่ที่คุณอภิสิทธิ์ ไปยืนอยู่ ในจุดที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ แล้วคุณอภิสิทธิ์ ไปอธิบายสิ่งที่ขัดกับความจริงของสังคม ทฤษฎีผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว ตรงนั้น ทำให้คุณอภิสิทธิ์ ถูกมองว่า กำลังใช้ความเป็นนักพูดทำลายหลักการประชาธิปไตย และด้วยความเคารพขออนุญาตพูดว่า กำลังทำลายความเป็นตัวตนของคุณอภิสิทธิ์เอง

@ ถ้าให้โต้วาทีกับ คุณอภิสิทธิ์ คิดว่าอย่างไร


ไม่หนักใจ พร้อมจะเจอกับใครก็ได้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เพื่อที่จะใช้ความคิด การอธิบายความให้สังคมเกิดความเข้าใจ เพราะฉะนั้น จะไปกำหนดว่า ถ้าเจอกับใครแล้วจะหนักใจไหม ขอเรียนว่าไม่หนักใจ เมื่อต้องทำหน้าที่ไม่ว่าเจอใครแบบไหนก็พร้อมที่จะทำ


@คุณอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศอย่าง บีบีซี ถึงเหตุการณ์ ปี 53 ในฐานะแกนนำ นปช. ฟังแล้วรู้สึกอย่างไร

ผมรู้สึกผิดหวัง กับความเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ว่า ไม่ผิดหวังเลยกับความเป็นคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณอภิสิทธิ์ ก็ยังเป็นคุณอภิสิทธิ์ ของทุกคน ก็คือ ชี้ทั้ง 5 นิ้ว ไปที่ใครก็ตามที่ ไม่ใช่ตัวเอง แล้วก็อธิบายว่า ทุกสิ่งที่เป็นความผิดพลาดเป็นเรื่องของคนนั้นคนนี้ โดยที่ตัวเอง ไม่ได้อยู่ในจุดที่จะต้องแบกรับความรับผิดชอบอะไรเลย นี่คือสิ่งที่ผมมองเห็นจากบทสัมภาษณ์คุณอภิสิทธิ์ และ มองเห็นจากหลายๆ ครั้ง หลายๆ เหตุการณ์ในทางการเมืองที่ผ่านมา  


สำหรับความสามารถ หรือทักษะทางการพูดของคุณอภิสิทธิ์ เมื่อถูกนำไปใช้ ในอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง คุณอภิสิทธิ์ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนที่ตัวคุณอภิสิทธิ์ คิดอยู่ก็ได้



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์