คตส.เรียก´ทักษิณ-สุริยะ´ รับข้อหา´ซีทีเอ็กซ์´มี.ค.นี้

คตส.เรียก´ทักษิณ-สุริยะ´ รับข้อหา´ซีทีเอ็กซ์´มี.ค.นี้


คตส.กางปฏิทินเรียก "ทักษิณ-สุริยะ-ศรีสุข" รับทราบข้อกล่าวหาทุจริตจัดซื้อซีทีเอ็กซ์ 9000 ต้นเดือน มี.ค.วันละ 6 คนรอบเช้าและบ่าย

นาย อำนวย ธันธรา คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดซีทีเอ็กซ์ เปิดเผยวานนี้ (22 ก.พ.) ว่า คตส.จัดทำหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวในคดีซีทีเอ็กซ์ 38 ราย

ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้มารับทราบข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ โดยน่าจะเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมนี้


โดยสัปดาห์นี้อนุกรรมการจะเร่งทำหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหา


มารับทราบข้อกล่าวหาให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะส่งให้ผู้ถูกกล่าวหาชุดแรก 23 รายภายในสัปดาห์หน้า แต่คงจะส่งได้เพียง 22 คนเท่านั้น เพราะอีก 1 ราย ยังไม่สามารถจัดส่งให้ได้

เนื่องจากนายสมชัย สมประสงค์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บทม. หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ ไม่ยอมตอบรับหนังสือการคัดค้านรายชื่อ สำหรับผู้ถูกกล่าวหาชุดแรกจำนวน 23 ราย จะมี พ.ต.ท.ทักษิณ และนายสุริยะรวมอยู่ด้วย

แหล่งข่าวจาก คตส.เปิดเผยว่า อนุกรรมการจะเชิญผู้ถูกกล่าวหาชุดแรกมารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตนเอง โดยจะแบ่งกลุ่มให้ผู้ถูกล่าวหาเข้ารับฟังข้อกล่าวหาด้วยตนเอง วันละประมาณ 6 คน แบ่งเป็นช่วงเช้า 3 คน บ่าย 3 คน


แหล่งข่าว ระบุว่า


"ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มแรก มีกำหนดการเข้ารับฟังข้อกล่าวหาในวันที่ 8 มีนาคม กลุ่มที่สองวันที่ 9 มีนาคม กลุ่มที่ 3 วันที่ 13 มีนาคม ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่จะเข้าชี้แจงข้อมูลจะมีชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ นายสุริยะ นายศรีสุข จันทรางศุ และนายชัยเกษม นิติสิริ

ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ 2 กระทง คือความผิดจากการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างออกแบบและเปลี่ยนแปลงระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและสัมภาระผู้โดยสาร และเครื่องซีทีเอ็กซ์ ระหว่าง บทม. กับกิจการร่วมค้า ITO และความผิดจากการทำสัญญาจัดซื้อเครื่อง ซีทีเอ็กซ์ จากบริษัท GE invision"

ส่วนผู้ถูกกล่าวหา ชุดที่ 2 ที่ คตส.ชี้มูลเพิ่มเติม 8 ราย และชุดที่ 3 ชี้มูลเพิ่ม 7 ราย กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำหนังสือแจ้งให้ทำการคัดค้านรายชื่ออนุกรรมการไต่สวน โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีบางส่วนที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่อยู่ในต่างประเทศ ทำให้ต้องมีการแปลข้อความเป็นภาษาต่างประเทศก่อน เพื่อจัดส่งให้รับทราบและใช้สิทธิในการคัดค้านรายชื่อได้ในเร็วๆ นี้


สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังอยู่ในต่างประเทศ


เบื้องต้นคงจะต้องรอฟังว่า มีความประสงค์จะเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตนเองหรือไม่ หากไม่ประสงค์เข้ามา อนุกรรมการก็จะใช้วิธีการทำหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาไปให้รับทราบอย่างเป็นทางการ แต่ถ้าประสงค์จะมารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตนเอง อนุกรรมการก็คงจะต้องนำเรื่องนี้ เข้าหารือต่อที่ประชุม คตส.ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตามหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการให้ คตส.เดินทางไปแจ้งข้อกล่าวหาในต่างประเทศ ก็จะต้องมีการเลือกประเทศ ที่มีความเป็นกลางและไม่มีปัญหาอะไร อาทิเช่น ญี่ปุ่น โดยใช้สถานทูตไทยเป็นที่ดำเนินการ

วันเดียวกัน คณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก ของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีนายอุดม เฟื่องฟุ้ง กรรมการ คตส. เป็นประธาน ได้เชิญนายสมบูรณ์ คุปติมนัส ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย บริษัท เอสซีแอสเสท จำกัด (บริษัทในตระกูลชินวัตร)

เข้าชี้แจงข้อมูลในฐานะพยานที่ลงนามในหนังสือยินยอมที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำขึ้นเพื่อมอบอำนาจให้ คุณหญิงพจมาน เข้าทำสัญญาการซื้อขายที่ดินกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน


นายสมบูรณ์ กล่าวภายหลังการชี้แจงว่า


ตนเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อซองประกวดราคาที่ดินแปลงดังกล่าว ในฐานะตัวแทนคุณหญิงพจมาน โดยยืนยันว่า ฝ่ายผู้ซื้อและฝ่ายผู้ขายคือกองทุนฯ ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว ไม่พบว่าผิดหลักเกณฑ์หรือกฎหมายข้อบังคับใด โดยเฉพาะกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 100

"แม้ว่านายกฯ มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่า ด้วยการบริหารราชการแผ่นดินจริง แต่อำนาจดังกล่าว ก็มีเฉพาะหน่วยงานราชการส่วนกลางและต่างจังหวัดเท่านั้น แต่ในส่วนของกองทุนฟื้นฟู นายกฯ ไม่มีอำนาจในการกำกับดูแล เพราะถือเป็นนิติบุคคลใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เท่านั้น

แต่ถ้าจะถามว่า นายกฯ สามารถเข้ามาควบคุมดูแลกองทุนฯ ได้หรือไม่ ก็คงต้องถามกลับไปว่า นายกฯ เคยสั่ง ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล (อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ) ได้หรือไม่"

ด้านนายอุดม กล่าวว่า ความเห็นทางกฎหมายเป็นเรื่องที่สามารถเห็นต่างกันได้ เพราะสุดท้ายแล้วผู้ที่จะตัดสินก็คือศาล ทั้งนี้ช่วงเช้าวันที่ 26 กุมภาพันธ์ อนุกรรมการไต่สวนจะมีการประชุม เพื่อสรุปข้อกล่าวหาในคดีอย่างเป็นทางการ

เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม คตส.ชุดใหญ่ ให้พิจารณา ก่อนที่จะมีการออกหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งข้อกล่าวที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากมาตรา 100 กฎหมาย ป.ป.ช.ที่มีความชัดเจนในเรื่องการกระทำความผิดแล้ว อาจจะมีกฎหมายอื่นเกี่ยวข้องด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน


สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อาทิเช่น นายประพันธ์ คูณมี นายคำนูณ สิทธิสมาน นายสำราญ รอดเพชร ได้เข้าหารือกับ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ และ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน เพื่อผลักดันเสนอร่างกฎหมายต่ออายุคณะกรรมการ คตส.เข้าสู่ที่ประชุม สนช.โดยหลายฝ่ายต่างเห็นด้วย

นายประพันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนและเพื่อนสมาชิก สนช.ประมาณ 50 คน ได้ร่วมกันลงชื่อเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เพื่อขยายเวลาการทำงานให้ คตส.ออกไปอีก 1-2 ปี เพราะที่กำหนดไว้เพียง 1 ปีสั้นเกินไปในการตรวจสอบทุจริต

รวมทั้งใช้โอกาสนี้แก้ไขปัญหา เช่น อำนาจในการกล่าวโทษซึ่งจะเปิดโอกาสให้คนที่ได้รับความเสียหายไม่จำกัดเฉพาะหน่วยงานของรัฐ สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ และกรณีที่มีปัญหาไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลจากข้าราชการหรือข้าราชการเกียร์ว่าง

ทั้งนี้ในวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ จะนำร่างดังกล่าวหารือในคณะกรรมาธิการกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมต่อไป อย่างไรก็ดีกฎหมายนี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ดังนั้น จะต้องให้ ครม.รับรองก่อน ซึ่งเท่าที่ได้คุยกับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการบางคนก็เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ

จาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์