นพดล ย้ำ แม้ว หนุนประชามติ ถามเจ้าของประเทศ เมินฟังเสียงนรก

นพดล ย้ำ แม้ว หนุนประชามติ ถามเจ้าของประเทศ เมินฟังเสียงนรก

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงว่า

กรณีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พูดในทำนองว่า พ.ต.ท.ทักษิณโฟนอินที่โบนันซ่า จ.นครราชสีมา ว่าการทำประชามติหมูมากจะมีผู้มาออกเสียงเกิน 24 ล้านคน ซึ่งเป็นเล่ห์เพทุบายของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ท่าที พ.ต.ท.ทักษิณให้ทำประชามติ เพราะไม่มีทางออกที่ชัดเจน บ้านเมืองขัดแย้งการออกจากความขัดแย้งคือการสอบถามเจ้าของประเทศ เป็นทางออกที่ดีที่สุด จึงเห็นด้วยกับการทำประชามติ ในอดีต พ.ต.ท.ทักษิณมาจากประชาชนทุกครั้ง การเลือกตั้งคือการไปหาประชาชน การทำประชามติต้องไปหาประชาชน พ.ต.ท.ทักษิณพูดว่าเป็นนักการเมืองต้องฟังเสียงประชาชน คือเสียงสวรรค์ อย่าฟังเสียงเรียกหาจากนรก

 ดังนั้น การทำประชามติตรงไปตรงมา ไม่มีเล่ห์เพทุบาย พท.จะเดินประชามติต้องเดินตรงไปตรงมาอย่างโปร่งใส
 
เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องดูแลการออกเสียงประชามติ ดังนั้น ต้องมีการออกเสียงที่สุจริตและเที่ยงธรรมอย่างแน่นอน อยากขอความเป็นธรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณย้ำอยู่เสมอ เราต้องฟังเสียงนายของเราคือเจ้าของประเทศ ให้พรรคประชาธิปัตย์ก้าวพ้น พ.ต.ท.ทักษิณเสียที


"ปชป.ตีกินมาตรา 309 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อ้าปากบอกว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคนคนเดียวล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ขอชี้แจงดังนี้ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้แก้เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ 2.มาตรา 309 นายอภิสิทธิ์จะรู้ได้อย่างไรว่า ส.ส.ร.จะยกเลิก 309 3.ปชป.บิดเบือนเนื้อหาสาระ มาตรา 309 แก้ไขแล้วทำให้คดี พ.ต.ท.ทักษิณพ้นหมด ทั้งที่มาตรา 309 เป็นการรับรองการรัฐประหาร ทุกหน่วยงานที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารเท่านั้น ใครรักมาตรา 309 คือรักระบอบเผด็จการ 4.สมมุติ ส.ส.ร.ยกเลิก มาตรา 309 คดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ตัดสินไปแล้ว จะไม่ได้ล้มเลิกไปโดยอัตโนมัติ จะต้องก้าวสู้กระบวนการยุติธรรมเหมือนเดิม ดังนั้น มาตรา 309 ไม่ใช่ล้างผิดยกเลิกความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ขอเรียกร้องให้ ปชป.ยุติบิดเบือนสร้างความสับสนให้ประชาชน" นายนพดลกล่าว


นายนพดลกล่าวว่า ในการประชุมพรรคเพื่อไทย วันที่ 25 ธันวาคมนี้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้โฟนอินมายังที่ประชุมพรรค
 
และยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้สั่งให้พรรคเพื่อไทยเดินหน้าทำประชามติ แต่เป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล และจากประสบการณ์ทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ เห็นว่าหากเรื่องใดที่เป็นที่สนใจจากประชาชน ก็จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิเยอะ ทั้งนี้ ในการประชุมพรรคจะมีการรับฟังความเห็นที่หลากหลาย ทั้งข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา รวมทั้งข้อเสนอของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่บอกว่าให้เดินหน้าลงมติในวาระที่ 3 ไม่ต้องทำประชามติ ซึ่งคาดว่าในการประชุมจะตกผลึกแนวทาง แม้แนวโน้มการทำประชามติจะเป็นกระแสหลักของพรรคเพื่อไทย แต่เราไม่ละเลยคนที่มีความเห็นต่าง ที่เสนอให้แก้ไขเป็นรายมาตรา เช่น ที่มาวุฒิสภาจะให้มาเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ มาตรา 237 ยุบพรรคได้ง่ายทำลายระบบพรรคการเมืองจะแก้หรือไม่ มาตรา 190 หนังสือสัญญาและกรอบการเจรจาระหว่างประเทศจะทำอะไรต้องเข้ารัฐสภาทั้งหมด เพราะข้าราชการไม่กล้าเซ็นเอ็มโอยู


เมื่อถามว่า การจัดทำประชามติ จะมีแนวโน้มไปทำประชามติ เพื่อให้คำปรึกษาแก่ ครม.ที่ใช้เพียงเสียงข้างมากเหมือนประชามติเมื่อปี 2550 ได้หรือไม่

นายนพดลกล่าวว่า คิดว่าจะไปแนวโน้มแบบผลผูกมัดหรือหาข้อยุติ หากทำประชามติแบบขอคำปรึกษา แม้เงื่อนไขของผู้มาออกเสียงประชามติจะน้อยลง คือใช้เพียงเสียงข้างมากไม่ต้องครบ 24 ล้านเสียง หรือกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ แต่ก็จะถูกโจมตีจากพรรคประชาธิปัตย์ว่าเลี่ยงบาลี ดังนั้น ควรทำประชามติแบบข้อผูกมัด คือให้มีผู้มาออกเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ตนคิดว่าการทำประชามติเป็นทางออกละมุนละม่อมเป็นการฟังเสียงประชาชน ถ้าเราจะไปแก้ไขรายมาตราก็อาจต้องมาถกเถียงและกลายเป็นประเด็นว่าทำเพื่อคนนั้นคนนี้หรือไม่


เมื่อถามว่า มั่นใจว่าการทำประชามติในแบบหาข้อยุติ จะไม่ทำถูกยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายนพดลกล่าวว่า ถ้าทำเช่นนี้ แทบจะไม่มีช่องไปโต้แย้งหรือยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แต่อย่าไปประเมินศักยภาพในการยื่นเรื่องร้องเรียนของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะอาจหาเรื่องที่เราคาดไม่ถึงได้ แต่การทำประชามติในแบบหาข้อยุติ น่าจะมีข้อโต้แย้งน้อยที่สุด


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์