สมศักดิ์เชื่อประชามติผ่านยาก

'ปธ.สภาฯ' เชื่อประชามติผ่านยาก แนะแก้รายมาตรา หนุนถามความเห็นประชาชน ชี้เป็นทางออกดีที่สุด ด้าน 'มท.' ชี้จัดเสวนาสร้างปรองดอง

สมศักดิ์เชื่อประชามติผ่านยาก


                  นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวบรรยายเรื่อง "ทิศทางการเมืองไทยกับรัฐสภา ในปี 2556" ต่อประเด็นที่รัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะทำประชามติก่อนการเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามว่า ตนสนับสนุนกับการทำประชามติ และประชาเสวนาของรัฐบาล เพราะเชื่อว่าจะลดความขัดแย้งของสังคมได้

อย่างไรก็ตามในการทำประชามติหรือประชาเสวนาดังกล่าว ตนขอให้ผู้ที่ดำเนินการทำอย่างเต็มที่และมีความจริงใจ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ ทั้งนี้ตนมองว่าหากเวทีของการให้ความรู้จัดเป็นแค่พิธี เชื่อว่าจะเกิดภาพของความวุ่นวายได้


           “ส่วนตัวผมมองว่า เจ้าภาพที่จะทำควรเป็นฝ่ายวิชาการที่ภาพกลางๆ และเพิ่มเติมในการทำประชาเสวนา บอกได้ว่า 1 เดือนหลังจากนี้ที่คณะทำงานจะไปศึกษาแนวทางทำประชามติและประชาเสวนา จากนั้นจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนจะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นเป็นขั้นตอนทำประชามติตามกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าการทำประชามติจะเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งเป็นช่วงปิดสมัยประชุม ดังนั้นเรื่องลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง คือ ช่วงสมัยประชุมสามัญ วันที่ 2 สิงหาคม 2556 ดังนั้นเมื่อดูกรอบเวลาแล้วหมอดูฟันธงว่าหากไม่มีอุปสรรคอะไร จะมีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม ได้ในวันศุกร์แรกของเดือนสิงหาคม 2556 แน่นอน ซึ่งระยะเวลาจากวันนี้ไปจนถึงวันที่จะมีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมเวลา 6 เดือน ซึ่งมากพอที่จะทำประชาเสวนา ดังนั้นขอให้ทำทุกตารางนิ้ว ไหนๆ จะเสียเงิน 2,000 ล้านบาทอยู่แล้ว ต้องทำให้ครอบคลุมและลงลึก ซึ่งผมเชื่อว่าหากทำครอบคลุมทุกตารางนิ้วทุกอย่างจบ” นายสมศักดิ์ กล่าว


            นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวมองโอกาสของความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงลงประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั่วประเทศว่า เป็นไปได้ยาก เพราะมีจำนวนมากถึง 23 - 24 ล้านคน หากพิจารณาการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีคนออกมาใช้สิทธิ์จำนวน 70 เปอร์เซ็นต์ โดยจำนวนดังกล่าวมีทั้งฝ่ายที่ชอบรัฐบาล และไม่ชอบรัฐบาล ดังนั้นหากคนที่ไม่ชอบรัฐบาลไม่ออกมาใช้สิทธิ์ โอกาสที่ประชามติจะถึงครึ่งของผู้มีสิทธิ์จึงไม่ง่าย แต่ประเด็นนี้ตนมองว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด และเมื่อผลออกมาเป็นอย่างไรค่อยหารือกัน ถ้าหากออกมาในเชิงที่เลวร้ายที่สุด คือประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่ง ก็ต้องตกไป แล้วค่อยมาเสนอแก้รัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตราแทน


          “หลายคนทักท้วงว่าหากทำแล้วจะมีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่เกินครึ่งจะเสียเวลาเปล่า ผมมองว่าไม่เป็นไร ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะหากไม่ทำก็ขัดต่อคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ และมีคนยื่นให้ตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่าด้วยการล้มล้างระบอบปกครองอีก บ้านเมืองตอนนี้ใครจะให้คำตอบ หลายสี เห็นแย้ง ถือธงคนละสี พูดกันอย่างไรไม่เข้าใจ ในระบอบประชาธิปไตยทางออกคือ ให้ประชาชนทั่วประเทศตอบ ผลออกมาอย่างไรต้องเป็นข้อสรุป ต้องยอมรับ แต่หากไม่ยอมรับ เรียกว่าอันธพาลแล้ว” นายสมศักดิ์ กล่าว


          นายสมศักดิ์ ได้กล่าวขยายความถึงข้อสังเกตที่นายสมศักดิ์เคยระบุว่า “มีถนนคอนกรีตให้วิ่ง ไม่วิ่ง จะไปวิ่งถนนลูกรัง"ด้วยว่า ถนนลูกรัง คือ การเดินหน้าลงมติแก้รัฐธรรมนูญ วาระสาม โดยไม่ทำประชามติก่อน ซึ่งเชื่อว่าทางนี้จะมีปัญหา ใช้เวลา 6-7 เดือนก็ไม่จบ ส่วนทางคอนกรีต คือ การทำประชามติก่อนเดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม ซึ่งจะทำให้ไม่มีปัญหาและเป็นทางออกที่เดินมาถูกทางแล้ว


          นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ (พรบ.) ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระว่า เชื่อว่ารัฐบาลจะใช้ทางออกเช่นเดียวกับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ คำตอบสุดท้ายของแนวทางประชาธิปไตย ตนมองว่าหลังจากนี้การเมืองของประเทศจะเดินไปได้อย่างไม่มีอุปสรรค มองเห็นว่าอนาคตของชาติในมุมบวก และเป็นโอกาสที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่การเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียน ในปี 2558 ได้อย่างสดใส


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์