วิชาชี้นักการเมืองตัวฉุดความโปร่งใส

ภาพจาก คมชัดลึกภาพจาก คมชัดลึก


 แล้ว...อันดับโลกความโปร่งใสของประเทศไทยก็ร่วงหล่นเมื่อ "องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ" จัดให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 88 ของโลกจากเดิมอยู่ในลำดับที่ 80 


"วิชา มหาคุณ" กรรมการ ป.ป.ช. มองเรื่องนี้ว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประเทศอยู่ในสถานะที่ย่ำแย่จากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ในขณะที่ประเทศไทยต้องแข่งกับประเทศทั่วโลกที่เขากระเถิบตัวเองขึ้นในเรื่องความโปร่งใส และตัวฉุดสำคัญให้ดัชนีคะแนนความโปร่งใสของประเทศไทยต่ำเตี้ย ก็คือนักการเมือง อันมาจากการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย

  
มองอย่างไรกับการที่ดัชนีชี้วัดความโปร่งใสประจำปี 2555 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จัดให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 88 ตกจากเดิมที่อยู่ในลำดับ 80

โดยภาพรวมถ้าคิดคะแนนจากเดิมที่เราเคยได้ 3.4 จาก 10 คะแนน เดิมประเทศไทยอยู่ในลำดับ 80 ของโลกและอยู่ลำดับที่ 13 จาก 27 ประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ปีนี้มีการปรับฐานคะแนนจากคะแนนเต็ม 10 มาเป็นคะแนนเต็ม 100 พูดโดยภาพรวมในเรื่องคะแนนเราได้คะแนนดีกว่าเดิม คือได้ 3.7 คะแนน แต่ภาพรวมในเรื่องลำดับประเทศ เราตกลงมาอยู่ที่ลำดับ 88 ดังนั้น เมื่อมองในส่วนนี้เราต้องแข่งขันกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ใช่แค่แข่งขันกับตัวเองเท่านั้น เดิมเราคิดว่า เราทำคะแนนได้ดีขึ้น อะไรก็คงดี แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย ทำให้เราต้องมาใคร่ครวญใหม่แล้วว่าในแต่ละประเทศก็คงขยับสถานะของเขาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ค่าเฉลี่ยดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของโลกอยู่ที่ 43 คะแนน ของเราได้ 37 คะแนน ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย คือ 43 คะแนน ดังนั้น เป้าหมายของเราคือต้องให้ผ่าน 43 คะแนนให้ได้ ซึ่งอย่างประเทศในอาเซียนด้วยกัน เช่น บรูไน มาเลเซีย ก็สูงกว่าคือเขาได้ 4.3 ส่วนสิงคโปร์ไม่ต้องพูดถึงเขาดีอยู่แล้ว ส่วนอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ต่ำกว่าเราอยู่ในลำดับล่างอย่างที่เคยเป็นมา แต่เราจะคิดแต่อาเซียนไม่ได้ ต้องคิดทั้งโลกเลย ค่าเฉลี่ยมันอยู่ที่ 43 คะแนน โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้คะแนนเฉลี่ย 3.7 เหมือนเรา คือประเทศที่อยู่ในแอฟริกาทั้งนั้น คือ มาลาวี โมร็อกโก สุรินัม สวาซิแลนด์ แซมเบีย หมายความว่าอยู่ในกลุ่มที่ไม่ไหว ต้องยอมรับกันว่า เมื่อก่อนกลุ่มประเทศเหล่านี้อยู่หลังเราหมดแต่ตอนนี้เขาเทียบเท่าเราแล้ว ส่วนจีนถีบตัวจากเราไป เมื่อก่อนไทยได้เท่ากับจีนคือ อันดับที่ 80 เหมือนกัน แต่ตอนนี้เขาถีบตัวเองสูงขึ้น เราจึงมาอยู่ในกลุ่มแอฟริกาซึ่งมันไม่ดีเลย


องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ มีวิธีคิดคะแนนจากอะไร

เขาเก็บข้อมูลจากหลายองค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่เป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญมากๆ เลย ที่แสดงให้เห็นตัวเลขของเราว่าต่ำเตี้ยมาก ก็คือองค์กรที่เรียกว่า Political Risk Services International Country Risk Guide หมายความถึง การเก็บข้อมูลความเสี่ยงในทางการเมือง ซึ่งการเก็บข้อมูลความเสี่ยงในทางการเมือง ไม่ใช่หมายถึงการเมืองไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน ไม่มีความมั่นคง แต่การเก็บข้อมูลองค์กรนี้มุ่งไปที่การคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในระบบการเมือง เขาชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายมาก มีการเรียกรับสินบน เล่นพรรคเล่นพวก อยู่ในระบบอุปถัมภ์ การแต่งตั้งข้าราชการก็ใช้การเมืองเป็นหลัก หมายความว่าข้าราชการไม่มีความมั่นคงเลย มันจริง เราต้องยอมรับ เราเถียงเขาไม่ขึ้นเลย เขาให้เรา 31 คะแนนจาก 100 ดังนั้น ส่วนนี้ถ้าเราไม่แก้ไข ไม่มีทางเลยที่มันจะดีขึ้น หมายความว่าต้องมีความโปร่งใสในการแต่งตั้ง การเลือกคนขึ้นมาดำรงตำแหน่งที่เราเคยคิดกันตลอดเวลาคือในเรื่องระบบคุณธรรม แต่ที่ผ่านมาจนถึงบัดนี้เรายังใช้ระบบอุปถัมภ์ หรือใช้ระบบ Spoils System มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ มีการเรียกรับสินบน

มีดัชนีตัวไหนที่เราได้คะแนนดีบ้าง

ก็มี ดัชนีของเราที่ถือว่าดี คือการปฏิรูปการทำงานที่ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องโดนลงโทษจากการทุจริต หรือมีกลไกตรวจสอบของรัฐที่มีประสิทธิภาพซึ่งเราได้ 45 คะแนน แสดงว่าเกือบได้ถึงครึ่งแล้วและมันก็ผ่าน 43 คะแนน แต่กลับมีในส่วนที่เราได้ 31 คะแนน จึงฉุดให้คะแนนโดยรวมดูต่ำเตี้ยไป


มีปัญหาเรื่องทุจริตเชิงนโยบาย แสดงว่านักการเมือง ฝ่ายการเมือง มีส่วนทำให้ดัชนีความโปร่งใสของเราได้คะแนนตกต่ำ

ใช่ครับ ถ้าเราดูตรงนี้เราต้องแก้ไขความโปร่งใสในแง่ของการวางนโยบายของรัฐ ก็คือของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะต้องเป็นหลักเพราะเขามองในแง่ของรัฐบาลว่ารัฐบาลใช้วิธีการอะไรในการดำเนินการโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจกท์ อย่างที่เราทราบมีการออกข่าวตัวเลขของหอการค้าว่ามีการเรียกเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นๆ เรื่อยๆ ทุกที นี่แหละเป็นตัวฉุดคะแนน


รัฐบาลในที่นี้หมายถึงรัฐบาลชุดนี้หรือเปล่า

ไม่จำเป็น ทุกรัฐบาล ผมยืนยันเลยว่าต้องทุกรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้เท่านั้น หมายความว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนที่เข้ามา ต้องเปลี่ยนความคิดที่จะหาเงินเข้าพรรค หรือจะหาเงินเพื่อให้เล่นการเมืองได้ในระยะยาวต่อไป ซึ่งมันไม่ได้แล้ว เพราะระดับสากลเขามองว่าการทำอย่างนี้จะทำให้ประเทศชาติทรุดหนักหรือเสื่อม กลไกในการใช้จ่ายงบประมาณอย่างฟุ่มเฟือยตามใจนักการเมือง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ รวมทั้งการที่เราต้องตรวจสอบนักการเมืองระดับสูงของประเทศอย่างจริงจัง ตรงนี้เราเรียกว่าเป็นดัชนีการติดสินบน เป็นการคอร์รัปชั่นในระบบการเมือง จากการสำรวจเขามองว่าระบบการเมืองเปิดโอกาสให้มีการคอร์รัปชั่นกัน มีการเรียกรับสินบนกัน ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลไหน แต่ทุกรัฐบาล อย่าไปโทษรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งเลย เพราะรัฐบาลของเราไม่ใช่พรรคเดียวแต่มีหลายพรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาล บางทีก็เกิดความเกรงใจกัน เมื่อมอบกระทรวงไปให้เขาดูแล้วและเป็นกระทรวงใหญ่ที่หาเงินได้มากที่สุด

นักการเมืองต้องตระหนักเรื่องนี้ให้ดีด้วย

แน่นอน ถ้าหากยังทำอย่างนี้อยู่ต่อไป ประเทศก็จะต่ำเตี้ยอยู่อย่างนี้

ข้าราชการเป็นต้นเหตุด้วยหรือเปล่า

ด้วยครับ เพราะข้าราชการมีเสียงพูดกันว่า ไม่เป็นไรหรอกถูกตรวจสอบเรื่องนั้นเรื่องนี้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เดี๋ยวนักการเมืองก็ตั้งในตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น เช่น เป็นรองอธิบดีพ้นตำแหน่งแต่แทนที่จะแย่ลง กลับได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดี ปลัดกระทรวง


มีคนในรัฐบาลนี้บอกว่าประเทศเราไม่ได้ตกต่ำลง เราเท่าเดิม เพียงแต่ว่าประเทศอื่นเขาได้คะแนนดีขึ้น

จะพูดอย่างนั้นก็พูดได้ แต่มันสง่างามหรือเปล่า ผมยอมรับว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นมันถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด ประเทศอื่นเขาดีขึ้นแสดงว่าเขาพยายามปรับปรุงรัฐบาลของเขา ปรับปรุงกลไก ปรับปรุงกระบวนการให้มันดีขึ้น ของเราก็พยายามปรับปรุงเหมือนกันแต่มันสู้ประเทศอื่นเขาไม่ได้ เราต้องแข่งทั้งโลก คิดอย่างนั้นก็เรียกได้ว่าถอยหลัง อย่างลูกเราสมมุติว่าเมื่อก่อนก็สอบตกเหมือนกันได้ 3.4 ต่อมาได้ 3.7 เราจะบอกว่าลูกเราดีขึ้นมั้ย ก็ยังไม่ดีขึ้นเพราะว่ามันยังสอบตกอยู่ เราต้องทำตัวเองให้ดีขึ้นด้วย โอเคในจุดหนึ่งเราอาจพอใจในแง่ที่ว่า เหตุที่คะแนนเพิ่มขึ้นมาเป็น 3.7 แต่ก็เพราะมีดัชนีตัวหนึ่งในเรื่องของความเอาจริงเอาจังในการทำงานในด้านการตรวจสอบการทุจริตมันช่วยเรา มิฉะนั้นประเทศไทยจะร่วงลงมากไปกว่านี้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์