พีเน็ต เสนอเลื่อนเลือกตั้ง สกัดปัญหาซับซ้อน ผลาญเงินแบบไร้ค่า

พีเน็ต เสนอเลื่อนเลือกตั้ง สกัดปัญหาซับซ้อน ผลาญเงินแบบไร้ค่า

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 22 มีนาคม 2549 13:29 น.

พีเน็ต ยังไม่ท้อ เสนอเลื่อนเลือกตั้ง 2 เม.ย.ออกไปก่อน หวั่นจะยิ่งทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้น แถมประเทศชาติต้องเสียเงิน 2 พันล้านโดยไร้ประโยชน์ จี้ กกต.เร่งตัดสินใจ พร้อมเสนอตั้ง อนุญาโตตุลาการ เลือกตัวแทนจากทุกฝ่ายเป็นคนกลางพิจารณาตามข้อมูลหลักฐาน แทนการเปิดดีเบต วอนทุกฝ่ายพิจารณาข้อเสนอก่อนดีเดย์พันธมิตรฯ 48 ชั่วโมง ระบุเพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลายกลายเป็นความรุนแรงในอนาคต

วันนี้ (22 มี.ค.) มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายพีเน็ตเฉพาะกิจ ได้ออกแถลงการณ์แจกจ่ายแก่สื่อมวลชน ระบุว่า มูลนิธิองค์กรกลางฯได้พยายามเป็นคนกลางประสานให้คู่ขัดแย้งในสังคมไทยได้มีโอกาสพบปะกันเพื่อเริ่มต้นการเจรจา โดยได้มีความพยายามนัด 3 ฝ่าย คือ พรรคไทยรักไทย ฝ่ายพันธมิตร และพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะตัวแทนอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเจรจาครั้งแรกเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา

ปรากฏว่า พันธมิตรฯ และอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม และได้มีการจัดประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 มี.ค.49 ก็ได้รับความร่วมมือจากทั้ง 3 ฝ่ายเช่นกัน แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้เนื่องจากยังมีประเด็นความเห็นที่แตกต่าง จึงมีการนัดหมายให้มีการประชุมครั้งที่ 3 ในวันที่ 22 มี.ค.49 ซึ่งก็คือวันนี้ แต่ปรากฏว่าไม่มีตัวแทนจากทั้งสามเข้าร่วมเจรจา

ดังนั้น มูลนิธิองค์กรกลางฯ ขอแสดงจุดยืนในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ดังนี้ 1.การเจรจาต่อรองแบบเปิดเผยยังเป็นหนทางออกของสังคมไทยในปัจจุบัน แม้ว่าหนทางดังกล่าวในขณะนี้จะยังไม่บรรลุผล เนื่องจากเจรจาจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อคู่กรณีต้องปรารถนาเข้าสู่กระบวนการเจรจา หรือเห็นประโยชน์ของการเจรจา เมื่อใดก็ตามที่แต่ละฝ่ายยังเชื่อมั่นในวิถีทางของตนและยังคิดว่าจะชนะ การเจรจาย่อมไม่เกิด ซึ่งหมายความว่าสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่สุกงอมเพียงพอที่จะให้เกิดการเจรจา และเป็นที่น่าห่วงใยว่ากว่าที่แต่ละฝ่ายจะสนใจเข้าร่วมการเจรจา ความบอบช้ำที่เกิดขึ้นต่อบ้านเมืองจะเสียหายรุนแรงยากที่จะเยียวยาเพียงใด ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องรับผิดชอบ

2.เพื่อเป็นการยุติข้อขัดแย้งที่ดำรงอยู่ด้วยวิธีการสันติ มูลนิธิองค์กรกลางฯ ขอส่งข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดตั้งคนกลางเพื่อไต่สวนและชี้ขาดประเด็นข้อขัดแย้ง และทางออกต่าง ๆเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ที่เป็นทางตันของสังคมไทย โดยมีรูปแบบกระบวนการดำเนินการ ดังนี้ ให้มีคณะกรรมการกลาง หรืออนุญาโตตุลาการ (Voluntary Arbitration) ที่มาจากการยอมรับของคู่กรณีความขัดแย้ง โดยให้รัฐบาลเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม 5 ชื่อ พันธมิตรฯ และฝ่ายค้านเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม 5 ชื่อ ให้แต่ละฝ่ายเลือก 3 ชื่อจากบัญชีของอีกฝ่ายหนึ่ง เป็น 6 คน ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการกลาง เก็บรวบรวมประเด็นที่มีการเสนอต่อสาธารณะผ่านสื่อต่างๆ แล้วยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัย โดยคณะกรรมการกลางมีอำนาจในการไต่สวน เรียกบุคคล เรียกเอกสารต่างๆ แต่งตั้งคณะทำงานย่อย และมีงบประมาณ สถานที่ และบุคลากรสนับสนุนในการทำงาน กำหนดกรอบในการทำงานภายใต้ระยะเวลาจำกัด เช่น ภายในเวลา 2 เดือน ทำการไต่สวนข้อเท็จจริงและประกาศความเห็นต่อสาธารณะ และให้ผู้ได้รับคำชี้ขาดตัดสินเกี่ยวกับบทบาทของตนเอง

ข้อเสนอประการที่ 2 เห็นว่าควรมีการเลื่อนการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 ออกไป เพราะเห็นแล้วว่า หากมีการเลือกตั้งก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น จำนวน ส.ส.ที่ไม่ครบ 500 คน การไม่มีพรรคฝ่ายค้านในสภาเลยแม้แต่คนเดียว ทำให้ขาดกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาล และปัญหาการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เป็นต้น ซึ่งแม้จะมีการเลือกตั้งก็ยังไม่ใช่แก้ไขปัญหาที่ดำรงอยู่ แต่ยิ่งจะเป็นการเพิ่มความซับซ้อนของปัญหาให้มากขึ้น และสิ้นเปลืองงบประมาณการเลือกตั้งกว่า 2,000 ล้าน โดยไม่เกิดประโยชน์ โดยขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ประชุมตัดสินใจ และนำผลการตัดสินใจแจ้งคณะรัฐมนตรี เพื่อออกพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการเลือกตั้งใหม่ใน 60 วัน เพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ มีโอกาสกลับเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง แถลงการณ์ ระบุ

ข้อเสนอที่ 3 ในระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการกลาง ไม่ควรใช้การชุมนุมฝูงชน
จำนวนมาก เนื่องจากจะเป็นการกดดันต่อการทำงานของคณะกรรมการกลาง แต่การแสดงความเห็นของสาธารณะของบุคคล ฝ่ายต่างๆ เช่น การสัมภาษณ์ การอภิปราย การใช้ข้อเขียน การแสดงความคิดเห็นต่างๆ ผ่านสื่อ ของพันธมิตรฯ ฝ่ายค้าน นักวิชาการ หรือกลุ่มคนฝ่ายต่างๆ สามารถกระทำได้ และหากผลการไต่สวนปรากฏต่อสาธารณะแล้ว ผู้ที่ได้รับผลการไต่สวนไม่ตัดสินใจในทิศทางที่สอดคล้องกับผลการไต่สวน พันธมิตรฯสามารถเลือกวิธีการชุมนุมเพื่อกดดันให้เกิดการตัดสินใจของผู้นำประเทศได้

ทั้งนี้ มูลนิธิองค์กรกลางฯ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว ก่อนหน้าจะครบกำหนด 48 ชั่วโมงที่พันธมิตรฯได้ประกาศให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาลาออก โดยหากเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นประโยชน์ และมีแนวทางที่จะสามารถเจรจาให้เกิดความสำเร็จได้ ขอให้แต่ละฝ่ายส่งสัญญาณมาที่มูลนิธิองค์กรกลางฯก่อนเส้นตายที่กำหนด เพื่อมูลนิธิองค์กรกลางฯจะได้จัดให้มีการเจรจาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนวันนัดชุมนุมใหญ่ในวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2549 เพื่อที่จะได้เกิดการแก้ไขปัญหาโดยสันติ ไม่จำเป็นต้องมีการชุมนุมใหญ่หรือการยกระดับมาตรการการกดดัน ซึ่งมีแนวโน้มที่นำไปสู่ความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประเทศชาติ แถลงการณ์ ระบุ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์