โพลชี้ ปชช.ลังเลออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เหตุวิกฤตการเมือง

โพลชี้ ปชช.ลังเลออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เหตุวิกฤตการเมือง

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 19 มีนาคม 2549 15:21 น.

เอแบคโพลล์ ระบุ พบประชาชนลังเลออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2 เม.ย.ด้วยเหตุผลเบื่อการเมือง ฝ่ายค้านไม่ส่งผู้สมัคร จึงไม่เกิดประโยชน์ ขณะเดียวกัน เห็นด้วยให้เลื่อนวันเลือกตั้งออกไป ด้าน ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ชี้ วิกฤตการเมืองส่งผลทำให้ประชาชนลังเลใจ แนะสถาบันการเมืองเรียกความเชื่อมั่น พร้อมเร่งแก้รัฐธรรมนูญ-ปฏิรูปการเมือง

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ สำรวจความคิดประชาชนในเขต กทม.และปริมณฑล เรื่อง ผลกระทบของวิกฤตการเมืองต่อความตั้งใจของประชาชนในการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน จำนวนทั้งสิ้น 1,552 ตัวอย่าง เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่า พฤติกรรมการติดตามข่าวสารของประชาชนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 72.2 ติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ขณะที่ร้อยละ 14.6 ติดตาม 3-4 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 10.7 ติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ และร้อยละ 2.5 ไม่ได้ติดตาม

สำหรับความคิดเห็นต่อการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 2 เมษายนนี้ พบว่า ประชาชนจำนวนมาก หรือร้อยละ 39.5 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 30.2 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 30.3 ไม่มีความเห็น เมื่อถามถึงการเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 2 เมษายนนี้ พบว่า ประชาชนไม่ถึงครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 43.1 ระบุไปแน่นอน ร้อยละ 39.8 ระบุยังไม่แน่ใจ และร้อยละ 17.1 ระบุไม่ไปเลือกตั้งแน่นอน

โดยกลุ่มคนที่ไม่แน่ใจ และไม่ไปแน่นอน ให้เหตุผลว่า เบื่อการเมือง พรรคการเมืองฝ่ายค้านไม่ส่งผู้สมัครรับการเลือกตั้ง ไม่เกิดประโยชน์ รู้สึกว่าไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นต้น และกลุ่มคนที่ตอบว่าจะไปเลือกตั้งแน่นอน คณะผู้วิจัยได้ถามต่อไปว่าถ้าคุณคิดว่าพรรคที่คุณตั้งใจจะไปเลือกชนะการเลือกตั้งแน่นอน คุณยังจะไปเลือกตั้งอีกหรือไม่

ซึ่งผลสำรวจพบว่า ประชาชนไม่ถึงครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 47.8 ของคนที่จะไปเลือกตั้งนั้น ระบุว่า จะไปเลือกตั้ง ถ้าพรรคที่ตั้งใจจะไปเลือกชนะการเลือกตั้งแน่นอน ในขณะที่ร้อยละ 37.1 ระบุยังไม่แน่ใจ และร้อยละ 15.1 ระบุว่าไม่ไป

ต่อประเด็นที่อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายนนี้ พบว่าร้อยละ 21.7 ระบุเห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 47.1 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 31.2 ไม่มีความเห็น ซึ่งสัดส่วนของคนที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย ไม่แตกต่างกับผลสำรวจครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ผลการสำรวจครั้งนี้ พบว่า ประชาชนยังไม่เห็นด้วยกับการที่อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ถึงแม้อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงเหตุผลแล้ว

สำหรับความเชื่อมั่นต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการจัดการเลือกตั้งนั้น พบว่า ร้อยละ 44.7 ระบุไปในทิศทางเชื่อมั่นต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรม (เชื่อมั่นร้อยละ 27.4 และค่อนข้างเชื่อมั่นร้อยละ 17.3) ขณะที่ร้อยละ 42.3 ระบุไปในทิศทางไม่เชื่อมั่น (ไม่ค่อยเชื่อมั่นร้อยละ 26.7 และไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 15.6) และร้อยละ 13 ไม่มีความคิดเห็น

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวว่า จากการสำรวจพบกลุ่มคนจำนวนมากยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะให้ความเชื่อมั่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นรายบุคคลได้ แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งคงต้องทำงานให้หนักขึ้น และแสดงภาพลักษณ์ให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะวางตัวเป็นกลางอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ผลสำรวจพบประชาชนมีความเชื่อมั่น และไม่เชื่อมั่นต่อ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ คิดเป็นร้อยละ 36 ต่อร้อยละ 19.5 ประชาชนเชื่อมั่นและไม่เชื่อมั่นต่อนายปริญญา นาคฉัตรีย์ คิดเป็นร้อยละ 32.4 ต่อร้อยละ 19.4 ประชาชนเชื่อมั่นและไม่เชื่อมั่นต่อ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ คิดเป็นร้อยละ 32.1 ต่อร้อยละ 18.2 และประชาชนเชื่อมั่นและไม่เชื่อมั่นต่อนายวีระชัย แนวบุญเนียร คิดเป็นร้อยละ 31.7 ต่อร้อยละ 18.4 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ร้อยละ 38.1 ระบุควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่ร้อยละ 16.2 ระบุไม่ควรแก้ไข และร้อยละ 45.7 ไม่มีความเห็น เมื่อสอบถามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างต่อกรณีการปฏิรูปการเมือง พบว่า ร้อยละ 21.7 ระบุสนับสนุนอย่างยิ่ง ร้อยละ 37.2 ระบุสนับสนุน ร้อยละ 11.8 ระบุไม่สนับสนุน ร้อยละ 3.8 ระบุไม่สนับสนุนเลย และร้อยละ 25.5 ระบุไม่มีความเห็น

นายนพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตการเมืองขณะนี้ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนเกินกว่าครึ่งหนึ่งลังเลที่จะไปเลือกตั้ง และบางส่วนยืนยันว่าจะไม่ไปแน่นอน นอกจากนี้ ปัจจัยทางการเมืองยังส่งผลทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องการที่จะให้เลื่อนวันเลือกตั้งออกไป และต้องการให้พรรคร่วมฝ่ายค้านกลับเข้ามาสู่สนามการเลือกตั้ง ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มคนที่ตั้งใจจะไปเลือกตั้ง ถ้ารู้ว่าพรรคที่ตนเองชอบจะชนะการเลือกตั้งส่วนใหญ่ลังเลว่าจะไปและบางส่วนไม่คิดว่าจะไป

ซึ่งผลสำรวจครั้งนี้น่าจะเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้กับสถาบันการเมือง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำไปประกอบการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ ให้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการจัดการเลือกตั้งกลับคืนมา และการเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งในกลุ่มประชาชนเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปการเมืองสำเร็จลุล่วงไปได้ ตามความต้องการของประชาชน และให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต่อไป

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์