“พ.อ.สรรเสริญ” เบิกความไต่สวนคดีการเสียชีวิตของคนเสื้อแดง

ศาลอาญา 5 ก.ค.-“พ.อ.สรรเสริญ” เบิกความไต่สวนการตายคนเสื้อแดง ยันการกระชับพื้นที่ปฏิบัติตามหลักสากล ตั้งแต่เบาไปหาหนัก เผยเจ้าหน้าที่ถูกแย่งอาวุธประจำกายไปหลายกระบอก

ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 14.00 น. วันนี้ (5 ก.ค.)
 
ศาลนัดไต่สวนคดีชันสูตรการตายของนายพัน คำกอง ชาว จ.ยโสธร อาชีพขับรถแท็กซี่ ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้าคอนโดมิเนียมใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ สถานีราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ระหว่างเหตุการณ์ทหารกระชับพื้นที่บริเวณราชประสงค์

วานนี้ (5 ก.ค.) อัยการนำตัว พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ผอ.กองปฏิบัติการจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารบก และโฆษกกองทัพบก
 
เบิกความว่า เมื่อปี 2553 ขณะนั้นสถานการณ์บ้านเมืองมีความขัดแย้งกัน เนื่องจากมีกลุ่มความคิดแปลกแยกทางการเมืองและมีการชุมนุมของ นปช. โดยก่อนวันที่ 12 มีนาคม 2553 มีกลุ่มคนเสื้อแดงมาชุมนุมกันบริเวณสะพานผ่านฟ้า ถ.ราชดำเนินนอก และการชุมนุมมีความรุนแรงมากขึ้น มีการปิดถนนและสถานที่ราชการสำคัญ ต่อมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี จึงได้ประกาศแต่งตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบภายใน (ศอ.รส.) มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็น ผอ.ศอ.รส. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ขณะนั้น) เป็นรอง ผอ.ศอ.รส. ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อควบคุมและบังคับบัญชาหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่พลเรือนในหลายๆ หน่วยงาน และมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ทหารจะออกปฏิบัติงานพร้อมกับตำรวจ ในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงาน โดยช่วงวันที่ 6-7 เมษายน 2553 กลุ่มคนเสื้อแดงพยายามบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา ซึ่งทราบจากข่าวโทรทัศน์ว่า มีนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง เป็นแกนนำกลุ่ม และกลุ่มผู้ชุมนุมได้แย่งปืนประจำตัวของเจ้าหน้าที่รักษาความสงบภายในอาคารรัฐสภาด้วย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เห็นว่าสถานการณ์ตึงเครียด ทวีความรุนแรงบานปลายมากยิ่งขึ้น
 
จึงประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก..ฉุกเฉิน หลังจากนั้นจึงแปรสภาพหน่วยงาน ศอ.รส.เป็นศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. เพื่อให้สอดคล้องกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มอบหมายให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็น ผอ.ศอฉ.และหัวหน้าผู้รับผิดชอบอีกตำแหน่งด้วย ซึ่งมีการประชุมกันทุกวันเพื่อประเมินข้อมูลข่าวสารจากสื่อและหน่วยงงานต่าง ๆ


“พ.อ.สรรเสริญ” เบิกความไต่สวนคดีการเสียชีวิตของคนเสื้อแดง

พ.อ.สรรเสริญ เบิกความต่อว่า ตนได้รับมอบหมายให้เป็นโฆษก ศอฉ.มีหน้าที่นำมติของที่ประชุม ศอฉ.ไปชี้แจงให้ประชาชนและสื่อมวลชนทราบเกี่ยวกับสถานการณ์
 
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตประชาชนและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยมีกฎการใช้กำลัง 7 ขั้นตอน ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล เน้นจากมาตรการเบาไปหาหนัก และการใช้อาวุธ มี 2 ลักษณะ คือ 1.กระสุนซ้อมรบ หรือลูกแบลงค์ เพื่อปฏิบัติการจิตวิทยาข่มขวัญกลุ่มผู้ชุมนุม ปกติจะไม่มีลูกไฟออกจากปากกระบอกปืน แต่บางกรณีมีลูกไฟออกจากปากกระบอก แต่จะปรากฏประกายไฟน้อยมาก 2.กระสุนยาง ซึ่งใช้กับปืนลูกซอง จะใช้ยิงในระยะห่างประมาณ 30 เมตร จะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการใช้กระสุนจริงที่จะใช้วิธียิงขึ้นฟ้า หรือยิงเฉียงไปในทิศทางที่ปลอดภัย ซึ่งกระสุนจะไปไกลประมาณ 3 กม. เพื่อข่มขวัญกลุ่มผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การจะใช้กระสุนจริง ก็ต่อเมื่อเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมประทุษร้ายต่อประชาชนหรือเจ้าหน้าที่จนเกิดอันตรายต่อชีวิต และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถหยุดยั้งด้วยวิธีการอื่นได้อีก โดยจะยิงไปยังจุดหรืออวัยวะของร่างกายส่วนที่ไม่สำคัญ

พ.อ.สรรเสริญ เบิกความอีกว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ศอฉ.ได้มีคำสั่งเพิ่มเติมขอคืนพื้นที่
 
โดยออกเป็นมติที่ประชุม จากนั้นได้สั่งการทางวิทยุไปยังหน่วยกำลังต่าง ๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานบริเวณสะพานผ่านฟ้าและพื้นที่ใกล้เคียง โดยปฏิบัติตามกฎการใช้กำลัง โดยช่วงแรกสถานการณ์ไม่มีความรุนแรง กระทั่งก่อนเวลาประมาณ 17.00 น. ศอฉ.ได้มีคำสั่งให้ทุกหน่วยยุติปฏิบัติหน้าที่และถอนกำลัง เนื่องจากเห็นว่าเวลาใกล้จะมืดค่ำ เกรงจะมีกลุ่มอื่นสวมรอยก่อเหตุรุนแรงขึ้น และวันเดียวกันเวลา 15.00 น. บริเวณสะพานปิ่นเกล้าและถนนดินสอ กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงได้ก่อเหตุแย่งอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่

กระทั่งช่วงหัวค่ำ เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณแยกคอกหัวถูกกลุ่ม นปช.ปิดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้ไม่สามารถออกมาได้
 
ขณะเดียวกัน มีชายชุดดำที่แฝงกายอยู่ภายในกลุ่มคนเสื้อแดงยิงระเบิดเอ็ม 79 และระเบิดขว้างเข้าใส่ ทำให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 เสียชีวิต และทหารบาดเจ็บอีกหลายราย หลังเหตุการณ์ความรุนแรงวันที่ 10 เมษายน 2553 อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่สูญหายไป และแจ้งความไว้ที่ สน.บางยี่ขัน ประกอบด้วย อาวุธปืนทาโว่ 12 กระบอก และปืนลูกซอง 35 กระบอก และปรากฏว่าทางกลุ่มคนเสื้อแดงได้นำอาวุธปืนที่แย่งจากเจ้าหน้าที่ไปโชว์บนเวทีการชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า และต่อมาเจ้าหน้าที่สามารถยึดคืนมาได้บางส่วนจากโรงแรมสวัสดี

พ.อ.สรรเสริญ เบิกความด้วยว่า จนกระทั่งวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีกลุ่มคนยิงปืนเอ็ม 79 เข้าในแฟลตตำรวจและสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส มีผู้บาดเจ็บหลายราย

จึงมีคำสั่งให้กระชับพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนกำลังไปกดดันและเข้าไปได้แค่ถนนราชดำริ แยกเฉลิมเผ่าและแยกชิดลม และหยุดอยู่แค่นั้น ไม่เข้าไปยังแยกราชประสงค์ ซึ่งกลุ่ม นปช.ชุมนุมอยู่ โดยเป็นวิธีการสร้างความกดดันและกระะชับวงล้อมเข้ามาเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเอง และมีจุดประสงค์เพื่อจะเข้าไปควบคุมพื้นที่สวนลุมพินี ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทราบว่ามีการซุกซ่อนและยิงระเบิดเอ็ม 79 มาจากบริเวณนั้น ส่วนเหตุการณ์ยิงสกัดรถตู้ที่บริเวณถนนราชปรารภนั้น ตนไม่ทราบ เนื่องจากปฏิบัติงานอยู่ในส่วนกลาง ไม่ได้ออกไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งควบคุมดูแลตั้งแต่บริเวณถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนพญาไท ถนนราชวิถี และถนนเพชรบุรี

ทั้งนี้ พยานเบิกความเรื่องอื่นแล้วเสร็จ ศาลจึงนัดไต่สวนพยานต่อในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ เวลา 09.00 น.-สำนักข่าวไทย

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์