ปชป. จับพิรุธ 10 ข้อรัฐบกพร่องแก้น้ำท่วม

ปชป. จับพิรุธ 10 ข้อรัฐบกพร่องแก้น้ำท่วม

วันนี้ (16 มิ.ย.)ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมาตรการเยียวยาเงินน้ำท่วมของปี 2554 ว่า พรรคประชาธิปัตย์เคยเตือนแล้วว่ามีกระบวนการทุจริตกินหัวคิวของชาวบ้าน แต่ไม่มีการออกมาแก้ไขปัญหา จนสุดท้ายเมื่อชาวบ้านออกมาก่อม็อบปิดถนน เพราะทนไม่ไหวที่บางบ้านได้เงินเยียวยาแค่ 250-300 บาทเท่านั้น สาเหตุมาจากการที่นายกรัฐมนตรีได้สร้างภาพใช้การตลาดนำการเมือง เพราะเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 54 หลังน้ำท่วม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทยไปจ.นครสวรรค์ เอาเงินสดๆไปให้ชาวบ้านครัวเรือนละ 30,000 บาท มีการตีข่าวสร้างภาพ ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าทุกครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วมจะได้รับการเยียวยาครัวเรือนละ 30,000 บาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ยืนยันว่าจะให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังมีข่าวม็อบเรียกร้องเงินเยียวยา


นายชวนนท์ กล่าวถึง การทัวร์นกขมิ้นของนายกรัฐมนตรี เพื่อตรวจสอบระบบการป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ว่า ตนยังเป็นห่วง เพราะข้อเรียกร้องของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่กับการดำเนินการตามข้อเท็จจริงของรัฐบาลยังมีความแตกต่างกันมากใน10เรื่อง คือ 1.การจ่ายเงินซ่อมแซมบ้านเรือนทุกพื้นที่ ประสบปัญหาการถูกหักหัวคิว เช่นเดียวกับเงินเยียวยา 5,000 บาท จนชาวบ้านต้องปิดถนน 2.การก่อสร้างประตูระบายน้ำขุดลอกคูคลองหลายแห่งมีความล่าช้า และเพิ่งทำสัญญาว่าจ้าง เช่นที่บึงบอระเพ็ด มีการสร้างผิดแบบ และคืบหน้าไปเพียง 19% ยังไม่รวมพื้นที่อื่น 3.ระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประตูระบายน้ำในจุดต่างๆ เพิ่งจะมีการทดสอบที่ จ.ชัยนาท เป็นผักชีโรยหน้าเพราะนายกฯ ลงไปตรวจ แต่ไม่มีการรายงานผลว่าเป็นอย่างไร 4.ที่มีการประกาศว่าจะทำระบบพยากรณ์ เตือนภัย และแบบจำลองสถานการณ์น้ำท่วม แต่ข้อเท็จจริงพบว่ามีหมู่บ้านเสี่ยงภัยกว่า 3,000 แห่ง แต่กลับมีระบบเตือนภัยแค่ 2,000 แห่ง ที่เหลือกำลังของบประมาณจัดทำ ซึ่งไม่รู้จะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ 5.ความชัดเจนของพื้นที่รับน้ำและหลักเกณฑ์ในการเยียวยา ที่ปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์และพื้นที่ที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งพื้นที่นอกเขตชลประทานก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยด้วย


โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า 6.ที่ระบุว่าจะสรุปโครงการป้องกันน้ำท่วมในระยะกลาง และระยะยาวในแต่ละพื้นที่ แต่ปรากฎว่าปัจจุบันโครงการระยะยาวยังอยู่ระหว่างการประมูล เพราะรัฐบาลล่าช้า ไม่มีการใช้จ่ายเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ซ้ำยังหาผู้รับเหมาไม่ได้ 7. ตามแผนป้องกันน้ำท่วมของรัฐ ระบุให้ตั้งหน่วยงานประสานกับกลุ่มจิตอาสาเพื่อแจกจ่ายถึงยังชีพ แต่ข้อเท็จจริงกลับมอบหมายให้จังหวัดเป็นผู้ทำถุงยังชีพ ซึ่งคาดว่าที่สุดแล้วก็จะมีปัญหาหารทุจริตตามมาซ้ำรอยกับปีที่แล้ว 8.ระบบการอพยพคนออกนอกพื้นที่ประสบภัยเพิ่งจะเริ่มมีการทดสอบระบบที่จ.อยุธยา เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. เพื่อสร้างภาพผักชีโรยหน้า เพราะนายกฯ ไปทัวร์นกขมิ้น แต่กลับไม่มีรายงานผลการทดสอบใดๆ ที่จะสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านแบละผู้ประกอบการ 9.การป้องกันในภาคอุตสาหกรรม เพิ่งจะมีการสร้างเขื่อนป้องกันนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในปลายเดือนมิ.ย. ขณะที่การปรับปรุงยกพื้นถนนเข้า-ออกนิคมยังไม่มีการเริ่มก่อสร้าง 10.งบประมาณที่ใช้จ่ายในโครงการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลที่ใช้เงินก็ 3.5 แสนล้านบาท ระบุให้ทำรายละเอียดของการใช้งบประมารณ ปัจจุบันพบว่าเพิ่งอนุมัติงบใช้จ่ายไป 50,000 ล้านบาท และกำลังทำทีโออาร์กับเอกชนอีก 3 แสนล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างปี 56 นอกจากนี้ ยังไม่มีการทำรายละเอียดของการใช้งบของกระทรวง ทบวง และกรมต่างๆ


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์