คำแถลงปธ.ศาลรธน.กรณีสั่งชะลอลงมติแก้รธน.

ตามที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

พร้อมด้วยนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ นายกมล โสตถิโภคา และนายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงชี้แจงถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สภาฯชะลอการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ออกไปก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยวันที่ 6 มิ.ย.นั้น มีรายละเอียดช่วงที่นายวสันต์และตอบคำถามผู้สื่อข่าวดังนี้

                 
นายวสันต์ กล่าวว่า ตามคำร้องอ้างว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นผลให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ

ซึ่งเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ให้เป็นการปกครองอย่างอื่น ข้อกล่าวหาอย่างนี้ใหญ่พอให้ศาลพิจารณาหรือไหม เรื่องจะพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน เปลี่ยนแปลงการปกครอง จะให้เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียวหรือ และขณะนี้ยังอยู่ในชั้นของการรับคำร้อง ซึ่งศาลไม่ได้ไปสั่งให้รัฐสภาหยุดการพิจารณาแต่มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักเลขาฯ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐว่าขอให้แจ้งประธานสภาฯ ส่วนสภาจะดำเนินอย่างไรก็เป็นเรื่องของสภา หากเกิดอะไรขึ้นสภาฯจะต้องรับผิดชอบ


คำแถลงปธ.ศาลรธน.กรณีสั่งชะลอลงมติแก้รธน.

สำหรับการที่เลขาสภาฯระบุว่า หนังสือขอให้ชะลอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลผูกพันรัฐสภา

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 ประกอบมาตรา 213 ตนเห็นว่า เป็นความเห็นทางกฎหมาย ที่นักกฎหมายตีความกันไป เก่งกันทั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลฎีกา มีคำพิพากษาก็บอกว่าไม่ใช่เหลือแต่ศาลเจ้า ดังนั้นจะเห็นอย่างไรก็ตามใจเขา

                 
เมื่อถามว่าหลายฝ่ายมองว่าศาลรัฐธรรมนูญ ทำเกินอำนาจจะทำให้เกิดการรวมตัวของมวลชนกดดันถอดถอน
 
และกลายเป็นปัจจัยให้นำไปสู่เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงทางการเมืองเร็วขึ้น นายวสันต์ กล่าวอย่างติดตลกว่า “จินตนาการมากไปหน่อย กรุณาอย่าทานของเสาะท้องก่อนนอนเพราะจะทำให้ฝัน จริงๆ แล้ว จะใช้สิทธิ์อะไร จะถอดถอนก็ทำไป แต่ที่ว่าจะมีอะไรทำนองนั้นคงไม่ใช่”

                 
"ยืนยันไม่มีใครมาสั่ง ชี้นำเราได้ เราระวังมากกับการเข้าไปแตะต้องก้าวล่วงอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการทั้ง 9 คน เราไม่ใช่มนุษย์ทองคำ เรารู้ตัวดี ว่าเราไม่มีอำนาจอื่นใด นอกจากรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ ตอนที่พิจารณาพระราชกำหนดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 4 ฉบับ คนภายนอกก็จะคิดว่าศาลจะไม่ผ่านให้ ซึ่งความจริง ศาลรู้ดีว่าดุลยพินิจการออกพระราชกำหนดเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่เมื่อรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลในการตรวจสอบ ว่าการออกมีการตุกติกอะไรหรือเปล่า เมื่อเราตรวจสอบแล้ว ไม่มีอะไรก็ผ่านให้ทุกครั้ง แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขากล่าวหามาว่า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกเฉย ซึ่งเท่ากับว่า จะเปลี่ยนก็เปลี่ยนไป อย่างนั้นได้หรือ มันก็ต้องไต่สวนทวนความกันก่อน ซึ่งหากสภาฯ จะให้ความร่วมมือเลื่อนพิจารณาไปประมาณเดือนเศษก็ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะคณะตุลาการก็คาดการณ์แล้วว่า 1 สัปดาห์หลังการไต่สวนจะมีคำวินิจฉัยได้"นายวสันต์กล่าว

                 
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายมองว่าศาลรัฐธรรมนูญตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง นายวสันต์ กล่าวว่า “เข็มขัดสั้นไปหรือเปล่า”  พร้อมกับย้อนถามว่า จะเป็นเครื่องมือของใคร ฝ่ายไหน

                 
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า การับคำร้องถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของอำมาตย์หรือคนชนชั้นสูง
 
นายวสันต์ย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า ใครเป็นอำมาตย์ และใครเป็นหัวหน้าอำมาตย์ คนที่เป็นหัวหน้าอำมาตย์ตัวจริงคือนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศไทย ความจริงถ้าผู้ร้องยื่นร้องมาก่อนหน้านี้ เราก็จะมีเวลาในเรื่องของเวลาทำงาน แต่เขาก็มายื่นในสถานการณ์ขณะนี้ มันก็ทำให้ค่อนข้างวุ่นวาย ทุกประเด็นที่มีการกล่าวหาศาล คณะตุลาการฯได้คุยไว้ก่อนหน้านี้ไว้หมดแล้ว ว่าจะมีการโต้แย้งอะไรบ้าง

                 
"ตามที่เขากล่าวหา ศาลก็เห็นว่ามันก็อาจเป็นไปได้ที่จะเป็นการล้มล้างการปกครองฯไปสู่ระบอบอื่น ซึ่งเราก็ต้องฟังผู้ถูกกล่าวหาก่อน สื่อฯเชื่อหรือไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะสารภาพว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจริง แต่คิดว่าเขาคงไม่รับก็ให้ปฏิเสธมา แต่ถ้าผู้ถูกร้องแอนตี้ ไม่มีการต่อสู้คดี จะให้ศาลฯรับฟังว่าอย่างไร สมมติว่า เขาฟ้องว่าคุณเป็นหนี้แล้วคุณก็เฉยๆ จะให้ศาลฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ตุลาการทุกคนเป็นห่วงบ้านเมือง ไม่มีใครอยากให้สถานการณ์ที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น เกิดขึ้น แต่ทุกคนต้องช่วยกันมาเข้าสู่กติกากันดีกว่ามาชี้แจงตามที่ศาลเปิดช่องทางให้อย่าคิดว่าตุลาการมีอคติ คนเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ เขาถูกสอนมาแต่ดึกดำบรรพ์ ว่าอย่าพิจารณาโดยอคติ ซึ่งเราไม่เคยทำอย่างนั้น แต่เราก็มักจะถูกมองในด้านที่มีอคติ”

                 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ารัฐสภา เดินหน้าประชุมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ศาลฯจะยังคงไต่สวนในวันที่ 5 - 6 ก.ค. หรือไม่
 
และคำวินิจฉัยของศาลฯมีสภาบังคับย้อนหลังได้หรือไม่ รวมถึงบทลงโทษกับผู้ที่กระทำการล้มล้างเป็นอย่างไร นายวสันต์ กล่าวว่า สิ่งที่ถามเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องอนาคตยังไม่เกิดขึ้น ถ้ามีการประชุมสภาพิจารณาวาระ 3 คณะตุลาการฯก็ต้องคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไรกันต่อไป และถ้าเดินหน้าไต่สวนแล้วมีคำวินิจฉัยจะมีผลย้อนหลังได้หรือไม่ ส่วนโทษหากพบว่ามีการกระทำล้มล้างฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 กำหนดว่า ให้ศาลสามารถสั่งให้หยุดการกระทำนั้นและอาจมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ ซึ่งก็เป็นดุลยพินิจ ส่วนจะยุบพรรคการเมืองที่เป็นผู้เสนอร่างแก้ไข หรือ พรรคการเมืองที่ส.ส.ยกมือโหวต ก็ต้องพิจารณากันอีกที ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของตุลาการด้วย

                 
นายวสันต์ ยังได้กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 40 ที่มีการตั้งสสร. ขึ้นมาดำเนินการ เหมือนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในฉบับนี้แต่กลับไม่มีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

 
ให้วินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ว่า เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในขณะนั้น ใช้รัฐธรรมนูญ ปี 34 มาเป็นฐานในการแก้ไข ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 34 ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ มีแต่ตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญ 34 บัญญัติให้มีหน้าที่เฉพาะวินิจฉัยบทบัญญัติของกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และไม่มีบทบัญญัติในเรื่องของสิทธิประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องดังกล่าวมามีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี 40 รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 50 ก็ได้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาบัญญัติไว้ด้วย

                 
เมื่อถามว่า คิดหรือไม่ว่าสถานการณ์อาจจะมีความรุนแรง จนอาจจะไม่ได้อยู่ไต่สวนในวันที่ 5-6 ก.ค. นี้

นายวสันต์ กล่าวว่า ไม่น่ามีอะไรเกิดขึ้น คงไม่มีอะไรมาทำแบบนั้น และถ้าทำอย่างนั้นถือว่าเป็นการใช้อำนาจนอกระบบหรือไม่ ก็ไหนว่าไม่อยากให้มีอำนาจนอกระบบเข้ามาทำอะไร แล้วทำไมไม่เข้าสู่กติกา มาชี้แจง ตุลาการไม่ต้องไปทำอะไร แต่ละคนก็อายุมาก วันหนึ่งก็ตายแล้ว นายวสันต์กล่าวและว่า ต่อไปจะไม่พูด ไม่ให้สัมภาษณ์อีก เพราะไม่ใช่เด็กน้อยที่จะมาทะเลาะด้วยเป็นรายวัน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์