แดงลุยถอดศาลรธน.-ถล่มทั่วปท.

แดงลุยถอดศาลรธน.-ถล่มทั่วปท.

'เสื้อแดง' เดินหน้าถอดถอน ตุลาการศาล รธน. เปรียบเป็นแค่ 'ศาลพระภูมิ' ชี้สัญญาณปรองดองเริ่มไม่ดี พท. ไม่สนยุบพรรค เล็งเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ ถล่มทั่วปท. ด้าน ศาล รธน. แจง พิทักษ์สิทธิปชช. ป้องกัน "พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน" ขณะที่ พธม. ยุส่ง ศาลรธน. ยุบ พท.


นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ชะลอการโหวตร่างรัฐธรรมนูญมาตรา291 วาระ 3 ออกไปก่อนว่า ในส่วนของคนเสื้อแดง จะดำเนินการล่ารายชื่อให้ได้ 2-5 หมื่นคน เพื่อไปยื่นขอให้ถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก

ทั้งนี้ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาให้ความเห็นนั้น ฟังไม่ขึ้น ซึ่ง นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช. ก็จะรวบรวมรายชื่อส.ส.และส.ว.เพื่อขอให้ถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องดังกล่าว อาจจะนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยได้ นายสุภรณ์กล่าวว่า ถ้าคิดว่า มีอำนาจในมือแล้วจะยุบ ก็ทำไปถ้าไม่กลัวกระแสสังคม คิดว่า บ้านนี้เมืองนี้เป็นของพวกคุณก็ทำไป ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้วไม่ใช่ อาจจะได้รับการตอบโต้จากประชาชนมากมายมหาศาลก็ได้

"วันนี้ เราอย่าไปเดินตามเกมพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ปิดประชุมสภาฯ ถ้าเราเห็นว่า ทำถูกต้องชอบธรรมแล้ว ก็ขอให้เดินหน้าต่อไป อย่าไปแคร์ศาลพระภูมิ เป็นศาลยุติธงอยู่แล้ว ไม่ใช่ศาลยุติธรรม"

เมื่อถามว่า แสดงว่า สัญญาณปรองดองขณะนี้ เริ่มสะดุดแล้วใช่หรือไม่ นายสุภรณ์กล่าวว่า สัญญาณไม่ดี อยากให้ปรองดอง มันก็ต้องให้ความร่วมมือกันทุกฝ่าย ถ้าเราส่งไปแล้วฝ่ายตรงข้ามส่งกลับมา พวกที่ยังโยงใยกันอยู่บอกให้เดินอย่างนี้ สุดท้ายสัญญาณมันก็ไม่คืบหน้า ถ้าคุยกันรู้เรื่องสัญญาณมันต้องไปทิศทางเดียวกัน แต่ดูแล้วขณะนี้เหมือนสัญญาณเก่า ๆ เริ่มมาหลอกหลอนเราอีกแล้ว

ต่อข้อถามที่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ถือว่า ถูกหลอกหรือไม่ นายสุภรณ์ กล่าวว่า คงไม่มีใครหลอกใคร ทุกอย่างเดินหน้า การเจรจาพูดคุยเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้ามีอยู่ตลอดเวลา จะปรองดองกันได้ก็คงต้องคุยกัน แต่อยู่ที่ความจริงใจด้วย ถ้าอยากให้บ้านเมืองสงบจริง ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหรืออำมาตย์ต้องพร้อม วันนี้พร้อมหรือยัง ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์จริงใจขนาดนี้ แต่เขาไม่จริงใจ ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว คิดว่าอำนาจเป็นของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ไม่เชื่อว่าจะกระทบต่อการเดินทางกลับประเทศไทยของพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณบอกก่อนหน้านี้แล้วว่า จะกลับเมื่อไหร่ก็ได้ รอให้อายุ 85 ปีแล้วค่อยกลับก็ยังได้ ขอเพียงกลับมาแล้วให้มันสงบสุขเท่านั้น


พท. เล็งเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ ถล่ม ศาลรธน. ทั่วปท.

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุมคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ และการประชุมพรรคเพื่อไทย ส่วนใหญ่หารือถึงคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ โดยคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ได้หารือกันจบก่อนที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จะประชุมทีมกฎหมายของรัฐสภาเสร็จ โดยมีข้อเสนอจะให้สมาชิกอภิปรายถึงคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนลงมติไม่เห็นด้วยและชิงโหวตวาระที่ 3 เลย และเตรียมให้ส.ส.ทั่วประเทศ จัดเวทีปราศรัยให้ความรู้ประชาชนเรื่องข้อเท็จจริงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ และร่างพรบ.ปรองดอง

ทั้งนี้ จะเริ่มจากกทม. ที่จะต้องปราศรัยใหญ่ 3 จุด ปริมณฑลจังหวัดละ 3 จุด จากนั้น ให้แต่ละพื้นที่ไปจัดเวทีปราศรัยใหญ่จังหวัดละ 1 จุดและปราศรัยย่อย 3 จุด พร้อมเชิญนักวิชาการที่เป็นกลางออกรายการโทรทัศน์ จัดเวทีสัมมนาในรูปแบบให้ความรู้ประชาชน

ส่วนการประชุมพรรคเพื่อไทย ส.ส.ต่างอภิปรายออกไปในทิศทางเดียวกัน ถึงคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ โดยตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการปฏิวัติเงียบโดยศาล

ทั้งนี้ มีส.ส.คนหนึ่ง ถึงกลับระบุว่า ไม่ต้องไปกลัวมัน เมื่อกล้าใช้อำนาจที่ไม่มี ต่อไปก็ต้องกล้ายุบพรรคเพื่อไทย ดังนั้น พวกเราต้องสู้ ซึ่งที่ประชุมได้เตรียมส.ส.ประมาณ 20 คนไว้เตรียมอภิปรายชำแหละศาลรัฐธรรมนูญ ตามกรอบที่ทีมกฎหมายของพรรคแจกคู่มือให้ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ และใช้อำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร

ศาล รธน. แจง พิทักษ์สิทธิปชช. ป้องกัน 'พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน'

แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ให้สำนักงานฯทำการศึกษา 5 คำร้องที่มีการร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปัตย์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และให้มีการสรุปประเด็นเนื้อหาตามคำร้อง ก่อนที่จะให้ทีมโฆษกเป็นผู้ชี้แจงต่อสาธารณะ

ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมได้ทราบและเข้าใจว่า เหตุผลที่ศาลต้องรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา เพราะเป็นการร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ให้อำนาจศาลในการรับคำร้องไว้พิจารณาไว้พิจารณา

แหล่งข่าว กล่าวว่า แรงกดดันที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของคณะตุลาการฯ เพราะในการประชุมในวันที่1 มิ.ย.55 ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณารับคำร้องดังกล่าว ของคณะตุลาการ ฯ ได้ใช้เวลาในการถกเถียงมากกว่า 2 ชั่วโมง ถึงประเด็นที่จะเกิดขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้อง ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่า ศาลไม่มีอำนาจรับคำร้อง เมื่อรับคำร้องแล้วสามารถมีหนังสือให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่เกิดขึ้นศาลรัฐธรรมนูญจะไปรู้ได้อย่างไรว่า มีการกระทำที่ล้มล้างการปกครอง

แหล่งข่าว ระบุว่า อยากให้รอดูคำชี้แจง ที่ทีมโฆษกจะมีการชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นตามคำร้องทั้ง 5 คำร้อง ก็จะทราบว่า ผู้ร้องร้องว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาแน่ชัดแล้ว และกำลังจะพิจารณาวาระ 3 ซึ่งจะไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรอีก เพียงแค่ยกมือว่า จะรับหรือไม่รับเท่านั้น มีเจตนาที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองเป็นอย่างอื่น แล้วก็จะทราบว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับคำร้องไว้ เป็นเพราะว่า คำร้องเข้าตามองค์ประกอบของมาตรา 68 แล้ว

"ถ้าปล่อยให้ผ่านไป ก็เท่ากับว่า เปิดทางให้ทำอย่างนั้นขึ้นมา แล้วใครจะรับรองได้ว่าจะไม่มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ไปในทางที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน"

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อมีการกล่าวหาในลักษณะนี้ การวินิจฉัยก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน เปรียบเหมือนโจทก์ ฟ้องว่า จำเลยฆ่าคน โจทก์ก็ต้องหาพยานหลักฐานมาแสดงให้ศาลเห็นว่าจำเลยฆ่าคนจริง ขณะที่จำเลยต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่า ตนเองไม่ได้ฆ่าคนตามที่จำเลยกล่าวหา กรณีนี้จึงขึ้นอยู่กับการไต่สวน หากผู้ถูกร้องมีความสุจริต ก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไร ต้องหาพยานหลักฐานมาแสดงให้ได้ว่า ไม่มีเจตนาที่จะทำอย่างนั้น รวมถึงให้ความมั่นใจได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันจะไม่เป็นการพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน เรื่องก็จบ

ยัน ศาลรธน.มีอำนาจ ลั่น เดินหน้าวินิจฉัย แม้สภาไม่หยุด

แหล่งข่าวยังระบุถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเน้นย้ำว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 68 นั้น เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดเพียงฝ่ายเดียวว่า ในการพิจารณาของคณะตุลาการฯ เห็นว่า หากรัฐธรรมนูญมีเจตนาให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องจากอัยการเพียงฝ่ายเดียว จะต้องมีการเขียนบทบัญญัติไว้ ดังเช่นรัฐธรรมนูญมาตรา 262 ที่บัญญัติว่า กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) พบว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ใดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้ส่งเอกสารพร้อมรายงานผลการตรวจสอบไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หรือรัฐธรรมนูญมาตรา272 วรรคสอง ที่บัญญัติ ว่า หากปปช.มีมติว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดหรือ ตุลาการ ผู้พิพากษา มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติให้มีการส่งเอกสารและรายงานพร้อมความเห็น ไปยังประธานวุฒิเพื่อดำเนินการถอดถอน และอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แต่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 บัญญัติ ให้ผู้ทราบการกระทำ ที่เป็นการล้มล้างฯ ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งในเรื่องของสิทธิ หากเกี่ยวข้องกับการพิทักษ์รักษาสิทธิของประชาชน ต้องตีความอย่างกว้าง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่มีผลต่อการจำกัดสิทธิที่เป็นผลร้ายต่อประชาชน จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด ดังนั้น ถามว่า แล้วเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของการพลิกฟฟ้าพลิกแผ่นดิน จะให้จำกัดสิทธิเฉพาะผู้ยื่นว่า เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดแต่เพียงฝ่ายเดียวได้หรือ

"คำสั่งที่ให้ชะลอการพิจารณา แก้ไขรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการพิจารณาแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 291 (5) กำหนดว่า เมื่อพิจารณาวาระ 2 เสร็จสิ้นให้รอไว้ 15 วัน เมื่อพ้นกำหนดนี้ให้พิจารณาวาระ 3 ต่อไปซึ่งเมื่อไหร่ก็ได้ และหากทิ้งเวลาไว้ 1 เดือน ไว้เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และมีคำวินิจฉัย ก็ไม่เห็นส่งผลเสียหายอะไร แต่คณะตุลาการฯ ก็วิเคราะห์ แล้วว่า สภาจะไม่ยอมหยุดและเดินหน้าต่อ ซึ่งศาลเองก็จะยังคงไต่สวนต่อไป แม้จะมีการรับหลักการวาระ 3 ไปแล้ว เพราะเชื่อว่า ถ้าศาลมีคำวินิจฉัยแล้วถึงสภาจะไม่ฟังแต่เชื่อว่ามีบางหน่วยงานจะฟังศาล”

แหล่งข่าว ระบุว่า ศาลเปิดโอกาสให้ชี้แจงหากไม่ชี้แจง ถ้าเทียบกับคดีแพ่งไม่ปฏิเสธก็แปลว่า ยอมรับ แล้วถ้าไต่สวนแล้วไม่มา ก็เท่ากับว่า เป็นการไต่สวนข้างเดียวแล้ววินิจฉัย ถ้าสุจริตก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไร แต่ที่งอแงในเวลานี้ เป็นการแสดงว่า ไม่สุจริตในตัวหรือเปล่า

แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรมนูญ ยังมองว่า พวกเขาเร่งรีบในการที่จะเดินหน้า ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อต้องการที่จะปลดล็อกรัฐธรรมนูญมาตรา 309 และ 237 เพื่อให้การทำงานของคตส.นั้น ไม่มีผล ใช้ไม่ได้ และนำไปสู่การยกเลิกคำพิพากษาในคดีที่คตส.เป็นผู้ดำเนินการไว้ และเพื่อส่งการยกเลิกการยุบพรรค

ทั้งนี้ การที่เขาผลักดันร่างพรบ.ปรองดองเข้ามา ก็เพื่อที่จะวัดกระแส เมื่อเห็นว่า มีการต่อต้านมา ก็จะพักไว้มาเดินหน้าในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน โดยจะรื้อรัฐธรรมนูญ เพื่อรองรับการกลับมาของนายใหญ่ แล้วก็มีการเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่การยุบ แต่จะเป็นการเปลี่ยนระบบการสรรหาตัวบุคคลเข้ามาผู้พิพากษา ตุลาการใหม่ ดังนั้น จึงจะดันเรื่องพรบ.ปรองดองต่อไป

เลขาฯกฤษฎีกา โดน ครม.รุมซัก เหตุศาลรธน.เบรก สภาฯ

มีรายงานว่า ในที่่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องตอบคำถามมากมายต่อ ครม. กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้รัฐสภาระงับการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน โดยนายอัชพร ระบุว่า ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนไปแล้วว่า ในโลกนี้ไม่มีใครทำกันแบบนี้ ซึ่งนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกฯ ได้ระบุว่า ไม่ได้สนใจว่าโลกนี้จะมีใครทำแบบนี้หรือไม่ แต่สนใจเพียงว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำแบบได้หรือไม่เท่านั้น ซึ่งทำให้นายอัชพร ย้อนถามนายชุมพลว่า เรื่องนี้ นายชุมพลจะสอนนักศึกษาหรืออย่างไร ทำให้นายชุมพลหัวเราะ และกล่าวว่า กฤษฎีกาควรตอบให้ชัดว่า ข้อเท็จจริงนี้รายละเอียดเป็นเช่นใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ครม.แบ่งกลุ่มหารือเรื่องนี้หลายคณะ แต่คณะใหญ่ที่หารืออย่างเข้มข้นประกอบด้วย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รมต.สำนักนายกฯ , นายวิทยา บูรณศิริ รมว.สาธารณสุข และนพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข โดยสามคนนี้ทำงานเป็นวิปรัฐบาลที่หารือนอกรอบ กับ นายอัชพร

“รัฐมนตรีคนหนึ่งในคณะนี้ ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำแบบนี้ถือว่า สารภาพกับสังคมว่า พลาด เพราะเป็นการเปิดประตูนำความรุนแรงกลับสู่บ้านเมืองอีกครั้ง เพราะเมื่อรัฐบาลชุดนี้เข้ามาทำงาน บ้านเมืองกลับสู่ความสงบอีกครั้ง แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการแบบนี้ ทำให้คนที่หมดหวังและฝ่อ เริ่มกลับมามีความหวัง การเมืองจากนี้ไปส่อเค้าความรุนแรงขึ้นจากน้ำมือผู้ที่ชี้วัดความถูกต้อง"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวรวัจน์ ได้กล่าวกับครม.ที่หารือกันในเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ ถึงวาระการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนฯ ตามที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอขึ้นมาเพื่อยุติความขัดแย้ง โดยนายวรวัจน์ ระบุว่า เขาหารือกับวิปรัฐบาลแล้ว คงจะไม่ปิดสมัยประชุมง่าย ๆ หากจะชนกับสมัยสามัญ ก็ต้องชน และจะชี้แจงกับสังคมในเรื่องนี้ว่า เหตุที่เปิดประชุมต่อ เพราะมีความจำเป็นในการพิจารณากฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา190

ทั้งนี้ ครม.คณะนี้ เห็นด้วยกับนายวรวัจน์ เพราะหากรัฐบาลปิดสมัยประชุม ตามที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้อง ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล คงม้วนเสื่อกลับบ้าน หากรัฐบาลมีอำนาจทางกฎหมายที่ดำเนินการใด ๆ ได้ควรดำเนินการต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ได้กล่าวกับที่ประชุมครม.ว่า วาระการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนฯ มอบให้นายวรวัจน์ เป็นผู้รับผิดชอบ

เผย 'สมศักดิ์' ยอมเลื่อน ถอย 1 ก้าวหวังปรองดอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการประสานงาน และเสนอความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา ที่มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นั่งหัวโต๊ะประชุม ได้ใช้เวลาหารือนานกว่า 3 ชั่วโมง โดยเริ่มแรกทีมกฎหมายของรัฐสภา ให้ความเห็นว่า ควรเดินหน้าพิจารณาร่างแก่ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระสามต่อไป เพราะเห็นว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลผูกพันต่อองค์กรใด และยังไม่ใช่คำวินิจฉัยที่เป็นเด็ดขาด

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า หากรัฐสภา ชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมในวาระสาม อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 (5) ที่ขีดกรอบให้รัฐสภา ลงมติวาระสาม ภายใน 15 วัน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้เสนอความเห็นแย้งกับฝ่ายกฎหมายด้วยว่า หากให้เดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 อาจเป็นเหตุให้พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นยุบพรรคเพื่อไทยได้

มีรายงานว่า นายสมศักดิ์ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า “แล้วจะทำให้ผมทำอย่างไร เพราะขณะนี้ มีความเห็นอย่างหลากหลาย เอาอย่างนี้แล้วกัน ผมจะขอถอย 1 ก้าวเพื่อความปรองดอง ความจริงผมไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาล แต่เพื่อความปรองดองผมขอถอย 1 ก้าว และไม่อยากให้มีใครนำประเด็นไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยุบพรรคเพื่อไทยอีก"


พธม. ยุส่ง ศาลรธน. ยุบ พท.

นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกมาระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจระงับการพิจารณาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ว่า จากนี้ แกนนำพันธมิตรฯ จะเตรียมประชุม เพื่อกำหนดท่าทีเคลื่อนไหวอีกครั้ง แต่ยังไม่กำหนดวันว่า จะเป็นเมื่อใด เพราะแกนนำพันธมิตรประชุมอยู่บ่อยครั้งอยู่แล้ว

ส่วนการประชุมจะหารือประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ หรือการคัดค้านการพิจารณาร่างพรบ.ปรองดองหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถบอกได้ ซึ่งการให้ความเห็นกรณีนี้ ควรจะถามนักวิชาการด้านกฎหมายจะดีกว่า เนื่องจากมีความรู้ด้านนี้โดยตรง เขาไม่ใช่นักกฎหมาย จึงไม่สามารถให้ความเห็นได้

ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า การเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล มีข้อสงสัยว่า เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งกรณีนี้เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติในการรับคำร้อง ให้ระงับการพิจารณาลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ในระหว่างที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาล ซึ่งข้อยุติทั้งหมดจะอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ นักการเมืองจะทำได้แค่มีความมีความเห็นเท่านั้น ไม่สามารถล่าชื่อเพื่อถอดถอนตุลาการได้ เพราะผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรค 2 ที่ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรอื่นของรัฐ หากมีการลงมติจะมีความผิดทันที ดังนั้น การล่าชื่ออาจทำได้ แต่ ปปช. ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 อยู่ดี

"ฝ่ายนิติบัญญัติกำลังคุกคามอำนาจตุลาการ องค์กรศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่สำคัญอยู่แล้ว ที่จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียด ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติจะมาล้มล้างรัฐธรรมนูญไม่ได้ ส่วนนักการเมืองก็จะมาล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เช่นกัน เพราะจะเป็นการขัดแย้งกับที่มาของส.ส.จากรัฐธรรมนูญเอง ขณะเดียวกัน เรื่องนี้รัฐบาลต้องรอคำวินิจฉัยก่อน หากฝ่าฝืนก็จะเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน"

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 3 ระบุว่า ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใด เลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ ซึ่งครั้งนี้ก็มีคำวินิจฉัยแล้ว ดังนั้น หากที่สุดแล้ว รัฐบาลจะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ก็เป็นเรื่องไม่บังควร และทำไม่ได้แน่นอน

"ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกคำสั่งมา ไม่ใช่คำสั่งปกติ แต่เป็นการลงมติด้วย ทุกคนจึงต้องเคารพคำวินิจฉัยของศาล ถ้าจะแสดงความเห็นก็ทำได้ แต่ถ้าสภาจะเดินหน้าลงมติก็ไปเสี่ยงเอาในเรื่องคดี เพราะกลุ่มพันธมิตรยื่นคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ โดยใช้กฎหมายเป็นตัวนำ ก็ต้องพิจารณากันไป"

ส่วนท่าทีการเคลื่อนไหวคัดค้านการพิจารณาร่างพรบ.แห่งชาติของสภา ทางแกนนำพันธมิตรฯ จะมีการประชุมในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ และมีการแถลงข่าวต่อไป


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์