สิงคโปร์ ชิงเบอร์1 เอเชีย ตอน สุวรรณภูมิเดี้ยง

สิงคโปร์สบช่องสุวรรณภูมิเดี้ยง ชิงเบอร์1เอเชีย-จี้รัฐเร่งผ่าทางตัน


วิกฤต "สุวรรณภูมิ" ไทยพลาดท่าชิงความเป็น "ฮับการบิน" ภูมิภาคเอเชีย "สิงคโปร์" วางกลยุทธ์ลึกล้ำ ดันสนามบินชางยี-คอมเพล็กซ์กาสิโนดูดเงินจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก

จับตา "เวียดนาม" ชูนโยบายสร้างสนามบินใหม่เทียบฟอร์มเมืองลอดช่อง "คมนาคม" ผ่าทางตันแก้ปัญหาซ้ำซาก ประกาศย้ายเที่ยวบินในประเทศ 30% กลับดอนเมือง

ล้มข้อเสนอเอกชนขอรันเวย์เพิ่ม "หมอเสริฐ" ชี้ปมพื้นผิวลานบินร้าวไม่หยุดเพราะใช้ทรายและปูนหมดอายุ การบินไทยพร้อมย้ายในหนึ่งเดือน ผู้ประกอบธุรกิจดอนเมืองตีปีก TAGS ฉวยจังหวะขอสัมปทานคลังสินค้าดอนเมือง 4 หมื่น ตร.ม.คืน

ท่ามกลางมรสุมที่ถาโถมเมกะโปรเจ็กต์สนามบิน "สุวรรณภูมิ" กำลังมีแนวโน้มว่าประเทศไทยอาจต้องสูญเสียโอกาสทางธุรกิจไปอย่างน่าเสียดายในปีนี้ โดยเฉพาะความเป็นศูนย์กลางเอเชียด้านการบินและการท่องเที่ยว (ฮับ)

จากจำนวนผู้โดยสารที่ตั้งเป้าจะได้ 45 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยกว่า 8.4 แสนล้านบาท

การส่งออก-นำเข้า สินค้าทางอากาศระหว่างประเทศกว่า 1.5 แสนล้านบาท การช็อปปิ้งจากร้านปลอดอากรและร้านค้าพาณิชย์สนามบิน 2 หมื่นล้านบาท รวมถึงการบินไทยซึ่งหวังจะทำยอดขายจากผู้โดยสาร รวม 2 แสนล้านบาท

"สิงคโปร์" มีแต่ได้กับได้


ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินวิเคราะห์ว่า ภาพรวมที่กล่าวมา โอกาสที่จะนำรายได้เข้าประเทศดูเหลือน้อยเต็มที เท่ากับว่า "อนาคตของชาติอาจต้องแขวนไว้กับสุวรรณภูมิ"

เพราะระหว่างที่สุวรรณภูมิกำลังเพลี่ยงพล้ำจากปัญหาต่างๆ กลายเป็นว่า ชอตแรก "สิงคโปร์" สามารถใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนเหล่านี้ขับเคลื่อนสนามบินชางยีเป็นโลว์คอสต์ฮับได้ง่ายขึ้น

ด้วยกลยุทธ์การผลักดันจากสมาชิกการบินเอเชียที่ปลดล็อกสิทธิการบิน โดยเปิดทางให้โลว์คอสต์แอร์ไลน์บินได้เสรี อีกทั้งก่อนหน้านี้กลางปี 2549 สิงคโปร์เปิดบริการอาคารผู้โดยสารต้นทุนต่ำ (low cost terminal) และปลายปีก็ประกาศร่วมทุนโดยถือหุ้นใหญ่เปิดโลว์คอสต์แอร์ไลน์

แกนหลักมีไทเกอร์ แอร์เวย์ส, เจ็ตสตาร์ แอร์เวย์ส และซิลแอร์ ซึ่งวางโครงข่ายจุดบิน โดยใช้สนามบินภูมิภาคไทยถึง 5 แห่งคือ เชียงใหม่ กระบี่ ภูเก็ต หาดใหญ่ อุดรธานี เป็นฐานโลว์คอสต์เชื่อมโครงข่ายสนามบินชางยี-ไทย-เอเชีย

ชอตสอง ดึงให้สัมปทานกลุ่มทุนสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 30 ปี มูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท เพื่อขยายกิจการระดับโลกเปิด "แซนด์ ลาสเวกัส คอมเพล็กซ์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์" บริเวณอ่าวที่ไม่ห่างจากสนามบินชางยีเท่าใดนัก และเปิดเกาะเซนโทซาให้นักลงทุนสร้าง ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ"

"สิงคโปร์ตั้งเป้าว่า เมื่อ 2 ธุรกิจเปิดให้บริการในปี 2551 จะดึงกำลังซื้อจากทั่วโลกเข้าประเทศได้ ไม่ต่ำกว่าปีละ 20 ล้านคน ถือเป็นยุทธศาสตร์ระดับประเทศที่ต้องการเติบโตแบบก้าวกระโดด"

จับตา "เวียดนาม" ก๊อบปี้โมเดลเดียวกัน


คู่แข่งอีกประเทศคือ "เวียดนาม" ที่วางโครงสร้างคล้ายสิงคโปร์ โดยจะเปิดสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ปลายปี 2550 เพื่อรองรับผู้โดยสารได้เกินกว่า 40 ล้านคน ระหว่างปี 2550-2553 ให้สัมปทานการทำโซนนิ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษและนิคมฯท่องเที่ยว

นอกจาก "โฮจิมินห์และฮานอย" รัฐบาลเวียดนามยังสร้างทำเลใหม่ โดยให้สัมปทานกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของโลก 5 ชาติ มีสิงคโปร์ ญี่ปุ่น รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และบรูไน หอบเงินกว่า 2 แสนล้านเข้าไปปักธงตามเมืองท่องเที่ยว

เช่น ดานัง เกาะฟูกว้วกไอส์แลนด์ และอีกหลายเมือง เนรมิตเมืองใหม่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวครบวงจร ทั้งเมืองตากอากาศ เมืองรีสอร์ต เมืองมารีน่า เมืองสวนสนุกและเมืองท่องเที่ยวครบวงจร

สรุปว่า ทั้งสิงคโปร์และเวียดนามต่างเร่งการลงทุนเพื่อชิงความเป็น "ศูนย์กลาง" จากไทยได้ทุกเวลา โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของโลกที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ

คมนาคมยอมรับ 4 ปัญหาหลัก


ผลจากการสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิมีปัญหาต่อเนื่องมา 4 เดือน ตั้งแต่เปิดใช้เมื่อ 28 กันยายน 2549 ลุกลามจนความจริงปรากฏจุดบกพร่อง 2 บริเวณใหญ่ซึ่งเป็นหัวใจของการบริหารและให้บริการสนามบิน คือ

* 1) การวางผังพื้นที่ใช้งานอาคารผู้โดยสารหลัก (main terminal) เทคโนโลยีสารสนเทศการบริหารสนามบิน (Airport Information Management Systems : AIMS) และสิ่งอำนวยความสะดวกเกือบทั้งหมด

* 2) การก่อสร้างในลานบินทั้งทางขับเครื่องบิน (taxi way) กับทางวิ่งเครื่องบิน (runway) พื้นผิวร่อนร้าวมากถึง 25 จุด ต้องปิดซ่อมสร้างกะทันหันมาตลอดเดือนมกราคม 2550

พลเรือเอกธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า

ยอมรับสุวรรณภูมิมีปัญหาครบวงจร 4 ส่วน ได้แก่

* 1) ปัญหาทางเทคนิคการก่อสร้างในลานบินแท็กซี่เวย์และรันเวย์ร่อนร้าว พื้นผิวที่เกิดจากแรงดันน้ำและดินใต้สนามบินทรุดขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ

* 2) ปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกอาคารผู้โดยสาร

* 3) ข้อจำกัดการให้บริการเที่ยวบินขึ้นและลงขณะปิดซ่อมบางส่วนปรับปรุงทุกวัน

* 4) การพิจารณาจะย้ายเที่ยวบินในประเทศบางส่วนจากสุวรรณภูมิกลับดอนเมือง 30%

เอกชนชำแหละแผนซ่อม-สร้าง


นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด เจ้าของบางกอกแอร์เวย์ส และเจ้าของสนามบินอินเตอร์ 3 แห่ง เกาะสมุย เกาะช้าง สุโขทัย และนักวิเคราะห์การบินทั้งไทยและนานาชาติ

กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ในลักษณะเดียวกันคือรัฐบาลไทยและกระทรวงคมนาคมต้องเร่งตัดสินใจผ่าทางตันปัญหาสุวรรณภูมิ

มีทางเลือกที่ทำได้ทันทีวันนี้พรุ่งนี้ที่ทำพร้อมกันได้ 3 วิธี

* วิธีที่ 1 ย้ายเที่ยวบินภายในประเทศที่ไม่ต้องต่อเที่ยวบินไปยังจังหวัดอื่นหรือต่างประเทศจากสุวรรณภูมิกลับดอนเมืองทันที 30-35% ของเที่ยวบินที่มีอยู่ทั้งหมดขณะนี้ประมาณ 470 เที่ยว/วัน

เพื่อบรรเทาความบอบช้ำของพื้นผิวรันเวย์สุวรรณภูมิ รันเวย์ 1 และ 2 สามารถปิดซ่อมได้ เมื่อเที่ยวบินลดลง 30% การจัดจราจรบนน่านฟ้าและการเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในลานบินกับการซ่อมบำรุงก็จะทำให้เสร็จเร็วขึ้น

จากปัจจุบันยังไม่รู้ว่า พื้นผิวแท็กซี่เวย์กับรันเวย์ที่ร่อนร้าวไปจนถึงตัวอาคารจะทำให้เสร็จภายในเวลากี่เดือน เมื่อแบ่งการจราจรชั่วคราวกลับไปดอนเมือง ก็จะสามารถควบคุมกรอบเวลาการซ่อมที่ชัดเจนให้ไม่เกินได้ไม่เกิน 6-8 เดือน


* วิธีที่ 2 รัฐบาลต้องมีนโยบายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท." ลงทุนสร้างรันเวย์เฟส 2 ทันที เพิ่มรันเวย์ 3 และ 4 ให้แล้วเสร็จภายในไม่เกิน 18 เดือน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีกรันเวย์ละประมาณ 12,000 ล้านบาท แต่เชื่อได้ว่ามีแหล่งเงินพร้อมสนับสนุนเต็มที่

แต่ต้องเปลี่ยนวิธีการก่อสร้างรันเวย์ใหม่ทั้งหมด เพราะของเดิมที่ใช้ระบบ PVD เนื่องจากสุวรรณภูมิเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่มาก่อน

แต่รัฐบาลที่ผ่านมา ดันมีนโยบายประหยัดงบฯก่อสร้างจาก 1.5 แสนล้านบาท เหลือประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ประกาศเป็นผลงานว่าช่วยชาติประหยัดต้นทุนได้ถึง 3.6 หมื่นล้านบาท

การประหยัดโดยไม่จำเป็นได้ก่อให้เกิดความเสียหายมาถึงวันนี้และอนาคต เรื่องใหญ่คือการลงทุนด้านเทคนิคถมพื้นที่สนามบินด้วยการใช้ท่อพลาสติกสวมลงไปนำทรายที่ไม่ได้สเป็กหรือหมดอายุการใช้งานมาอุดไว้

มาถึงวันนี้ก็เห็นแล้วว่า การลดสเป็กและวัสดุก่อสร้างใต้ดินขาดคุณภาพกันน้ำซึมใต้พื้นผิวดินไม่ได้จึงมาผิวรันเวย์ร่อนร้าวเสียหายมหาศาล

วิธีที่ 3 ต้องปิดซ่อมรันเวย์ 1 และ 2


ซึ่งขณะนี้ใช้งานรองรับเครื่องบินขึ้น-ลงได้เพียง 70% เท่านั้น เพราะนอกจากปัญหาเทคนิคพื้นผิวรันเวย์ต้องซ่อมแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องมลพิษเสียงไปกระทบชุมชน ถึงขั้นต้องหลีกเลี่ยงการใช้งานรันเวย์เป็นขึ้นทางเดียว ลงทางเดียว ถูกข้อจำกัดบีบจนเหลือทาง ออกน้อยมาก

ผู้เชี่ยวชาญการบินจากทุกกลุ่มยืนยันว่า ถ้ารัฐบาลรีบตัดสินใจด้วยการใช้ทั้ง 3 วิธีไปพร้อมกัน การคลี่คลายสถานการณ์การใช้สุวรรณภูมิและดอนเมืองจะผ่าทางตันได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้ารัฐบาลยังยืดเยื้อไม่ตัดสินใจผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจจะยิ่งบานปลาย

ทั้งผลด้านการบินโดยตรงที่ ทอท.ควรจะมีรายได้ปีละ 12,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปีนี้ควรจะได้อย่างต่ำ 8.4 แสนล้านบาท บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ควรจะได้ 2 แสนล้านบาท

การขนส่งสินค้าทางอากาศ ควรจะทำเงินเข้าประเทศปีละ 1 แสนล้านบาท และธุรกิจร้านค้าเชิงพาณิชย์ควรจะดึงกำลังซื้อหมุนเวียนให้เป็นไปตามเป้า 2 หมื่นล้านบาท

เงื่อนไขทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่การตัดสินใจของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมในวันนี้พรุ่งนี้ ไม่สามารถซื้อเวลาได้ต่อไป

"ธีระ" สรุปผ่าทางตัน 2 แนวทาง


พลเรือเอกธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการให้นโยบายด้านการบิน

เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมาว่า ขณะนี้สุวรรณภูมิมีปัญหารอบด้าน ในเบื้องต้นขอย้ำจุดยืนว่ารัฐบาลจะใช้สนามบินนานาชาติทั้ง 2 แห่งควบคู่กันไป

โดยให้ย้ายเที่ยวบินในประเทศบางส่วนกลับสนามบินดอนเมือง ส่วนสุวรรณภูมิให้ปิดพื้นที่เร่งซ่อมแซมเพื่อให้กลับมาใช้งานได้ตามมาตรฐานการบินอย่างเร็วที่สุด

"ขอให้ทุกฝ่ายยึดหลักปฏิบัติเดียวกันภายใน 1 เดือนนี้ เพื่อให้งานสัมฤทธิ์ผลตาม 2 แนวทาง

แนวทางแรก ต้องย้ายเที่ยวบินในประเทศบางส่วนกลับไปดอนเมืองรัฐบาลจะทำแน่นอน เพราะตนเองก็รู้มาก่อนตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีแล้วว่าต้องเกิดเหตุการณ์เช่นนี้

ส่วนจะย้ายไปดอนเมืองถาวรหรือไม่ หรือจะย้ายกลับสุวรรณภูมิอีกครั้ง จะรอดูองค์ประกอบที่เป็นเงื่อนไขตามจริง เช่น แผนขยายการลงทุนมีจำกัดเรื่องงบประมาณใหม่ การซ่อมแซมแท็กซี่เวย์และรันเวย์ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

แนวทางสอง การปิดพื้นที่บางส่วนในลานบินที่ชำรุดซ่อมแซมให้ใช้งานได้ตามปกติ พื้นแท็กซี่เวย์ที่ร้อนจนร้าวได้รับรายงานจากฝ่ายบริหาร ทอท.แล้วว่าฝ่ายเทคนิคสามารถซ่อมให้เสร็จได้ทุกแผลภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์

การบินไทยพร้อมย้ายภายใน 1 เดือน


กัปตันอภินันทน์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อคมนาคมมีนโนบายให้ย้ายเที่ยวบินในประเทศบางส่วนกลับดอนเมืองก็สั่งการฝ่ายปฏิบัติงานเตรียมพร้อมทันที

โดยขอเวลาให้รัฐบาลบอกล่วงหน้า 1 เดือน เพราะต้องทำเรื่องใหญ่ฮาร์ดแวร์ไอทีสนามบินที่จะให้บริการในดอนเมือง เช่น เคาเตอร์เช็คอิน รวมถึงการแบ่งฝูงบินไปใช้งาน 2 สนามบิน ทุกหน่วยพร้อมทำงานทันที

สำหรับเที่ยวบินในประเทศจุดต่อจุดที่การบินไทย จะย้ายกลับอาจมีถึง 80 % เพราะแต่ละวันมีมากกว่า 100 เที่ยวใน 13 เส้นทาง มีบางเที่ยวช่วงเวลาบินกลางวันจากสนามบินเชียงใหม่แทบจะไม่มีผู้โดยสารต่อเครื่องควรย้ายไปบินดอนเมือง

แต่ส่วนเที่ยวบินในประเทศ จากสนามบิน 3 จังหวัดที่มีผู้โดยสารต่างประเทศคับคั่ง ภูเก็ต เชียงใหม่ (บางส่วน) กระบี่ จะใช้สุวรรรภูมิเป็นหลัก

นายอนุพงษ์ โรจน์นครินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย แอร์พอร์ตส กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด (TAGS)

กล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นบริษัทลูกของ ทอท.ทำธุรกิจในดอนเมืองมายาวนานทั้งการให้บริการภาคพื้นดินแก่สายการบิน บริการคลังสินค้าระหว่างประเทศ (cargo/friegther) ล้างเครื่องบิน บริการระบบไฟฟ้าเครื่องบิน 400 เฮิร์ตและระบบปรับอากาศ PC-AIR

ทันทีที่รัฐบาลมีนโยบายจะย้ายเที่ยวบินกลับดอนเมือง TAGS ได้ทำหนังสือส่งถึงพลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร ประธานและบอร์ด ทอท.เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว

ขอให้พิจารณา TAGS ใช้ใบอนุญาตทำคลังสินค้าดอนเมืองขนาด 40,000 ตร.ม.ได้สิทธิ์นี้ต่อไปโดยไม่ต้องประมูลแข่งกับใคร

ขอขอบคุณ : ข้อมูลที่มีคุณภาพ

หนังสือพิมพ์ประชาชาติ

จาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์