เปิดร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ

เปิดร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ


เนื้อหาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ได้รับการเผยแพร่ เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา

และมีกระแสข่าวว่า จะบรรจุเข้าที่ประชุมสภาในสัปดาห์หน้า ซึ่งเนื้อหา 8 มาตราของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เสนอให้มีการนิรโทษกรรมทุกกลุ่มสี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2548 ถึง พฤษภาคม 2554 

ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยแก้ไขความขัดแย้งในสังคม ด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดทุกฝ่ายมาแล้วก็อย่างน้อย 2 ฉบับ นั่นคือการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดในการชุมนุมระหว่างวันที่ 4 ถึง 6 ตุลาคม 2519 และการตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมระหว่างวันที่ 17 ถึง 21 พฤษภาคม 2535
ในที่สุดร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่มีกำหนดว่าจะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้าก็ได้รับการเปิดเผยล่วงหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลา หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่ง นำโดยพลเอกสนธิ บุญรัตนกลิน ยื่นจดหมายลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้บรรจุร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เข้าสู่ที่ประชุมเป็นเรื่องด่วน เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีทั้งหมด 8 มาตรา มาตรา 1 และมาตรา 2 เป็นเรื่องเกี่ยวกับชื่อเรียกและวันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้
ส่วนมาตรา 3 ระบุว่า ให้การกระทำที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือการแสดงออกทางการเมือง  ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2548 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ที่เป็นความผิด ให้ถือว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้กระทำการ   พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง 

เปิดร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ

ซึ่งการกระทำเหล่านี้ ได้แก่
(1) การกระทำทั้งหลายของบุคคลที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายห้ามการชุมนุม การกล่าววาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการประท้วงด้วยวิธีใดๆ อันเป็นการกระทบต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง
(2) การกระทำทั้งหลายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใดๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการป้องกัน ระงับ หรือปราบปราม ในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว
มาตรา 4 ระบุว่า เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้แล้ว ถ้าผู้ที่กระทำการตามมาตรา 3 อยู่ในระหว่างการสอบสวนให้ระงับการสอบสวน ถ้าอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องให้ระงับการฟ้องร้องหรือถอนฟ้อง ถ้าอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีให้จำหน่ายคดี ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้ารับโทษอยู่ ให้การลงโทษสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น
มาตรา 5 ระบุว่า บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติขององค์กรหรือคณะบุคคล ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. เพื่อให้เป็นไปตามประกาศหรือคำสั่งของ คปค. ซึ่งได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หรือการดำเนินการหรือการปฏิบัติขององค์กรหรือหน่วยงานอื่นใด อันเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติขององค์กรหรือของคณะบุคคลดังกล่าว มิได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือเป็นผู้กระทำความผิด โดยให้นำความในมาตรา 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อบุคคลที่ได้รับผลกระทบนั้นตามหลักนิติธรรมต่อไป

มาตรา 6 ระบุว่า ให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง เพราะเหตุมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองเป็นอันสิ้นสุด และให้ถือว่าบุคคลผู้นั้นไม่เป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา 7 การดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งมิใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากการกระทำของบุคคลใด ซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย และมาตรา 8 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

เปิดร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ

เนื้อหาในพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาตินี้ ตรงกันข้ามกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งเน้นย้ำว่า การประกาศความเสียเปล่าของคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เป็นผลต่อเนื่องจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยเฉพาะคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลทางกฎหมาย 
รวมถึงการประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาเป็นอันยุติลงนั้น ไม่ใช่การนิรโทษกรรม หรืออภัยโทษ หรือล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด แต่จะสามารถดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ตามกระบวนการทางกฎหมายปกติ
ขณะที่จุดยืนของคณะนิติราษฎร์ในเรื่องการปรองดอง ระบุไว้ในประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 34 ว่า ไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงต่อแนวทางการปรองดองหรือสมานฉันท์โดยวิธีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลทุกฝ่าย แต่คควรจะต้องพิจารณาแยกแยะลักษณะการกระทำของบรรดาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความแย้งที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร และจัดวางโครงสร้างของกฎหมาย และที่สำคัญคือต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงตลอดจนการสลายการชุมนุมทุกเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา 
ด้านนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า หากพรรคเพื่อไทยและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จะผ่านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติดังกล่าว ก็ควรจะต้องแปรญัตติ 2 ประการที่สำคัญ นั่นคือ ตัดข้อความในมาตรา 3(2) ที่เกียวกับนิรโทษกรรมรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่จัดการเรื่องการชุมนุมออก 
และเพิ่มข้อความในมาตรา 3 จากเดิมที่เขียนว่า "การชุมนุมทางการเมือง หรือ การแสดงออกทางการเมือง" เป็น "การชุมนุมทางการเมือง หรือ การแสดงออกทางการเมือง รวมทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา และ พรบ.คอมพิวเตอร์"
ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยแก้ไขความขัดแย้งในสังคม ด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดทุกฝ่ายมาแล้วก็อย่างน้อย 2 ฉบับ นั่นคือการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดในการชุมนุมระหว่างวันที่ 4 ถึง 6 ตุลาคม 2519 และการตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมระหว่างวันที่ 17 ถึง 21 พฤษภาคม 2535

ขอบคุณข่าวจาก news.voicetv.co.th

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์