ต่อสัญญาบีทีเอสฉาว เพื่อไทยยื่นปปช.ฟันผู้ว่าฯกทม.

ต่อสัญญาบีทีเอสฉาว เพื่อไทยยื่นปปช.ฟันผู้ว่าฯกทม.

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.)

และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พท. เดินทางมายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เอาผิดกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. นายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม (เคที) จำกัด ซึ่ง กทม.ถือหุ้นเกินร้อยละ 50 กับพวก และ 4.นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัทเคที กับพวก กรณีต่ออายุสัญญาการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ระหว่างบริษัทเคทีกับบริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี อีก 13 ปี รวมมูลค่าสัญญา 2 แสนล้านบาท

ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 และจงใจไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว) และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเอกสารสรุปเนื้อหาคำร้องที่ พท.ยื่นต่อ ป.ป.ช.ระบุการต่ออายุสัญญาการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส
 
น่าจะเป็นความพยายามหลีกเลี่ยงด้วยการแบ่งงานกันทำ โดยกระทำตามลำดับขั้นตอน เช่น 1.เริ่มต้นทำสัญญาเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยายช่วงสีลม 2.2 กิโลเมตร ระหว่าง กทม.กับบริษัทเคที มีระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 8 พ.ค.2552 ถึง 7 พ.ค.2555 ในวงเงิน 850 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทเคทีทำสัญญาว่าจ้าง “การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง” กับบริษัทบีทีเอสซี ลงวันที่ 12 พ.ค.2552 ด้วยค่าจ้าง 450 ล้านบาท โดยสัญญาฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้จนกว่าสัญญาฉบับนี้หรือสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง หรือมีการยกเลิก ทำให้สัญญาฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาสัมปทานทันที จึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน

2.ก่อนที่ กทม.จะทำสัญญากับบริษัทเคที ได้แก้ไขข้อบัญญัติ กทม.เกี่ยวกับการให้อำนาจผู้ว่าฯกทม.จ้างบริษัทของ กทม.ได้โดยกรณีพิเศษ ทำให้ กทม.ทำสัญญากับบริษัทเคทีได้ โดยไม่ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างตามข้อบัญญัติของ กทม.และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ

3.หลังจากนั้นก็มีการแก้ไขข้อบัญญัติ กทม.เพื่อให้กทม.และบริษัทเคที วิสาหกิจของ กทม.และหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้อีกหลายฉบับ

4.ขณะเดียวกัน บริษัทเคทีก็แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบว่าด้วยการพัสดุของบริษัทเอง เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2553 ให้ “บริษัทใช้อำนาจตรงในการทำสัญญาด้วยวิธีพิเศษโดยไม่จำกัดวงเงินและเป็นอำนาจของกรรมการผู้อำนวยการเป็นผู้กำหนดการจัดการพัสดุว่าจ้างอย่างเต็มที่ว่าจะดำเนินการโดยวิธีการใด”

5.หลังจากนั้น กทม.ได้อนุมัติ/เห็นชอบให้บริษัทเคทีทำการนำสัญญาต่างๆ ของการให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสในเส้นทางหมอชิต-อ่อนนุชและสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน เส้นทางสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และเส้นทางอ่อนนุช-แบริ่ง โดยให้มีระยะเวลานานถึง 30 ปี โดยสัญญาจะสิ้นสุดลงพร้อมกันในปี 2585 โดยไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบีทีเอสซี


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์