ธาริตแจงยิบไม่ฟ้องตู่ ยันพิจารณาทั้งบริบทคำปราศรัยไม่ส่อเจตนาหมิ่นเบื้องสูง

ธาริตแจงยิบไม่ฟ้องตู่ ยันพิจารณาทั้งบริบทคำปราศรัยไม่ส่อเจตนาหมิ่นเบื้องสูง

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข
 
แถลงถึงกรณีดีเอสไอมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ในคดีหมิ่นเบื้องสูง ว่า ในฐานะที่ตนเป็นอธิบดีเอสไอซึ่งทำความเห็นเป็นคนสุดท้าย และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ต้องการนำเสนอเรื่องดังกล่าว 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรกการที่ดีเอสไอมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ได้กระทำภายหลังจากร่วมสอบสวนกับพนักงานอัยการ จนทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่าการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ประเด็นที่ 2 คือ การสั่งคดีครั้งนี้ตนยืนยันว่าเป็นไปตามพยานหลักฐาน และโดยเฉพาะพยานในคดีนี้มีถึง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก พยานที่เป็นนักภาษาศาสตร์ ซึ่งกลุ่มนี้ต้องให้ความเห็นในเรื่องถ้อยคำ ที่ผู้ต้องหา พูดปราศรัยว่ามีความหมายเช่นใด


นายธาริตกล่าวอีกว่า สำหรับพยานกลุ่มที่ 2 คือ นักสื่อสารมวลชน จะให้ความเห็นเกี่ยวกับการรับรู้และการเข้าใจของผู้ฟังการปราศรัย
 
ในบริบทของผู้ปราศรัยว่ามีความเข้าใจอย่างไร และกลุ่มที่ 3 คือ พยานกลาง เป็นบุคคลที่เข้าร่วมรับฟังการปราศรัยว่าจะเข้าใจถ้อยคำทั้งปวงเช่นใด ซึ่งพยานกลุ่มดังกล่าว จะประกอบด้วย ประชาชน เจ้าหน้าที่ที่ไปร่วมฟังการปราศรัย โดยเฉพาะคดีนี้ดีเอสไอได้พยานลึกลงไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เป็นอดีตอธิบดี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา อธิการบดีที่ร่วมฟังการปราศรัย และเหตุผลสำคัญที่ดีเอสไอเลือกบุคคลนี้เป็นพยาน เพราะบุคคลดังกล่าวเข้าร่วมรับฟังการปราศรัยของทั้งสองกลุ่ม คือ ทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งถือว่าเป็นพยานกลาง และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย


นายธาริตกล่าวต่อว่า คณะพนักงานสอบสวนพิจารณาจากพยานบุคคล แล้วแยกประเด็นการวินิจฉัย ไว้ 3 ประเด็น คือ

ความหมายของคำพูด คณะพนักงานสอบสวนเห็นว่าการรับฟังในเรื่องนี้หากวิเคราะห์จากคำพูดจากพยานทั้ง 3 กลุ่ม ผู้ฟังจะต้องฟังการปราศรัยตั้งแต่ต้นจนจบมิใช่ตัดเฉพาะถ้อยคำ ซึ่งจะสามารถรับรู้และแปลความหมายได้ว่า ผู้พูดพยายามอธิบายความ โดยเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจว่าการที่มีการสั่งให้หน่วยทหารออกมาปฏิบัติการนั้นมีความมุ่งหมายให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลัง ซึ่งความจริงแล้วเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะสถาบันไม่ได้เกี่ยวข้อง นี้คือความหมายของผู้พูดที่ดูทั้งบริบทไม่ใช่ตัดตอนบางส่วนบางคำ


นายธาริตกล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 ในการวินิจฉัย คือเป้าหมายของตัวบุคคลที่ผู้ต้องหาต้องการกล่าวโจมตี

เมื่อดูทั้งบริบทแล้ว จะพบว่าผู้พูดกล่าวโจมตีมพาดพิงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ ศอฉ. ในขณะนั้น
และนายสุเทพ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรอง ผอ.ศอฉ. ไม่มีส่วนใดที่ปรากฏว่าเป้าหมายของนายจตุพรต้องการกล่าวพาดพิงอันเป็นการมุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชินีและรัชทายาทแต่อย่างใด


นายธารติกล่าวอีกว่า ประการสุดท้ายในการวินิจฉัยคือ เจตนาในการกระทำผิดของผู้พูด หรือเจตนาใส่ความ ดูหมิ่นหรือเหยียดหยาม
 
หากพิจารณาโดยตลอดการปราศรัย โดยไม่มีการรวบรัด ตัดตอน ตลอดจนคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ของการชุมนุมการเรียกร้อง การต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้นแล้วจะเห็นว่าผู้พูดมีเจตนามุ่งหมายต่อนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพโดยเฉพาะ หาใช่มีเจตนาใส่ความต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาทแต่ประการใด ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และตนในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์