สินค้าแพงโจทย์ใหญ่ รัฐต้องตีให้แตก-แก้ให้ทัน

สินค้าแพงโจทย์ใหญ่ รัฐต้องตีให้แตก-แก้ให้ทัน


"ประชาชนคิดกันไปเอง" เป็นผู้ร้ายตัวจริงที่ทำให้สินค้าแพงจริงหรือไม่ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบ 

แต่ของแพงหรือไม่ดัชนีที่ชี้วัดได้ตัวหนึ่งคือ "เงินเฟ้อ" หากเงินเฟ้อยิ่งสูง นั่นหมายถึงราคาสินค้ายิ่งแพงขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้าเงินเฟ้อต่ำ ก็สะท้อนว่าสินค้าราคาถูกลง เพราะเราจ่ายเงินน้อยลงเมื่อซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน

หากย้อนไปดูข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ ที่ นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุเมื่อช่วงเช้าวันที่ 1 พ.ค. ว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 2.47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับปีก่อนและเพิ่มขึ้น 0.42% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 3.16% จากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว

โดยดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 4.51% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีที่แล้วและเพิ่มขึ้น 0.65% จากเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 1.18% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและเพิ่มขึ้น 0.26% จากเดือนก่อนหน้า

ปัจจัยที่มีผลต่อเงินเฟ้อคือราคาน้ำมันในตลาดโลก ภัยธรรมชาติ เช่นภัยแล้งที่มีผลต่อการเกษตร ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยยังคงยืนยันเป้าหมายเงินเฟ้อในปีนี้ที่ 3.3-3.8% ภายใต้สมมติฐานน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

แต่นายยรรยง ยืนยันว่า แม้เงินเฟ้อในเดือนเม.ย.จะสูง แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงและต่ำที่สุดในรอบ 29 เดือน

ตกบ่ายวันเดียวกันหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมด่วนทีมเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาสินค้าแพง นายยรรยงก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า 

"ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องสินค้าแพง น่าจะเกิดจากการคิดไปเองว่าสินค้าแพง เป็นเรื่องของจิตวิทยามากกว่า"

ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอกย้ำว่า ปัญหาสินค้าราคาแพงมีสาเหตุมาจาก 2 ส่วน คือ ข้อมูลที่เราเก็บจากข้อเท็จจริง และส่วนหนึ่งเกิดจากความรู้สึกของประชาชน 

ความรู้สึกของประชาชนที่ว่าของแพงนั้น อาจมาจากผลพวงอุทกภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา ทำให้เกิดความรู้สึกว่าราคาสินค้ายังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ความจริงเริ่มมีการปรับตัวลดลง แต่อาจยังไม่ได้ปรับตัวลดลงในจุดที่ประชาชนพอใจ ประกอบกับช่วงเดือนเม.ย. มีอากาศร้อน และเป็นเดือนที่มีค่าใช้จ่ายมาก เช่น ลูกต้องเรียนหนังสือ 

"เมื่อ 2 มุมนี้มาประกอบกันจึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าสินค้าราคาแพง แต่ยืนยันว่าจากที่เราเก็บข้อมูลมา ราคาสินค้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่อาจไม่ตรงกับใจของประชาชน" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ความเห็นดังกล่าวสวนทางกับ นายวิชัย อัศรัสกร กรรมการรองเลขาธิการหอการ ค้าไทย ที่มองว่า ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นขณะนี้ ไม่น่าจะมาจากความรู้สึกของประชาชน เพราะในมุมของนักธุรกิจพบว่าต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งจากราคาวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาสินค้าขึ้นไปตามต้นทุนที่แท้จริง จะทำให้ธุรกิจอยู่ไม่ได้

เพียงแต่รัฐบาลจะต้องลงไปดูแลให้การปรับราคาสินค้า เป็นแบบสมเหตุสมผล ไม่ใช่ค้ากำไรเกินควร 

ส่วนนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตั้งข้อสังเกตว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย.ที่ต่ำที่สุดในรอบ 29 เดือน ที่ระดับ 2.47% ซึ่งเป็นการลดลงเร็ว ขอให้กระทรวงพาณิชย์ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยว่าเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่

"หากมาจากราคาสินค้าที่ลดลง นโยบายลดค่าครองชีพของรัฐบาลที่ได้ผล และสถาน การณ์การผลิตดีขึ้นจากภาวะน้ำท่วม จะเป็นเรื่องดี แต่หากเกิดจากผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อจนทำให้ผู้ประกอบการต้องลดราคาสินค้า หรือ ผู้ส่งออกส่งออกสินค้าไม่ได้จึงมาขายในประเทศที่ราคาถูกลง จะเป็นเรื่องน่ากลัว ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะซึมตัว" นายธนวรรธน์ กล่าว 

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุอัตราเงินเฟ้อในภาพรวมของเดือนเม.ย. อยู่ที่ 2.47% แต่อัตราเงินเฟ้อในชีวิตประจำวันอยู่ที่ 5.52% แตกต่างกันถึงเท่าตัว 

และเมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 3.16% จากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว อัตราเงินเฟ้อในชีวิตประจำวันสูงถึง 7.33% มากกว่ากันถึงเท่าตัวเช่นกัน 

ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย.ที่ 2.47% จึงไม่ได้สะท้อนเรื่องค่าครองชีพของประชาชนที่สูงลิบลิ่วแต่ประการใด

จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า มีการบิดเบือนตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย.

หรือสร้างสถานการณ์ให้อัตราเงิน เฟ้อต่ำหรือเปล่า

คําถามนี้ได้รับการปฏิเสธจากนายยรรยง อย่างทันควันว่า ไม่มีการปั้นตัวเลขเงินเฟ้อ 

แต่จากการลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้าที่ตลาดสดเตาปูน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. นายยรรยง ถึงกับผงะที่พบด้วยตัวเองว่า ราคาสินค้าส่วนใหญ่มีราคาสูงกว่าราคาแนะนำที่ทางกรมการค้าภายในระบุไว้หลายรายการ 

เช่น เนื้อสุกร เนื้อแดง (สันนอก-สันใน) มีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 140 บาท ขณะที่ราคาแนะนำเดือนเม.ย.อยู่ที่กิโลกรัมละ 123.50 บาท ไก่สด-ทั้งตัวมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท ขณะที่ราคาแนะนำอยู่ที่กิโลกรัมละ 68.99 บาท 

มะนาวมีราคาอยู่ที่ลูกละ 7 บาท ขณะที่ราคาแนะนำอยู่ที่ลูกละ 6.86 บาท ผักกาดขาวราคากิโลกรัมละ 40 บาท ขณะที่ราคาในเอกสารชี้แจงเงินเฟ้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 31.78 บาท แตงกวาราคากิโลกรัมละ 40 บาท สูงกว่าราคาที่กระทรวงพาณิชย์สำรวจ อยู่ที่กิโลกรัมละ 22.64 บาท 

คะน้า ราคากิโลกรัมละ 55 บาท สูงกว่าราคาแนะนำอยู่ที่กิโลกรัมละ 31.96 บาท ถั่วฝักยาว ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 60 บาท สูงกว่าของกระทรวงพาณิชย์ที่กิโลกรัมละ 30 บาท 

และจากการตรวจสอบราคาสินค้าที่ตลาด ยิ่งเจริญ สะพานใหม่ ในวันเดียวกัน พบว่า ราคาสินค้าที่ซื้อขายมีหลายรายการที่สูงกว่าราคาแนะนำของกระทรวงพาณิชย์เช่นกัน

ประเด็นนี้ยังไม่มีคำตอบจากกระทรวงพาณิชย์ 

ด้าน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ยืนยันว่า ราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับขึ้นราคา แต่ยอมรับว่าพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดมีการปรับขึ้นราคากลุ่มอาหารจริง ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าราคาสินค้าปรับขึ้น 

ส่วนราคาสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากอัตราค่าจ้างแรงงาน หรือราคาพลังงาน กระทรวงพาณิชย์จะลงไปดูโครงสร้างต้นทุนจริงๆ ว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าอย่างไร และจะประกาศราคาต้นทุนสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตทุกสัปดาห์ ซึ่งจะเริ่มในช่วงกลางเดือนพ.ค.นี้

นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์)กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้ากระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติระบบการทำงานของวอร์รูมติดตามราคาสินค้า โดยจะจัดทำรายการสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันของประชาชนจำนวน 50 รายการ เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช เนื้อหมู ไข่ไก่ สบู่ ผงซักฟอก อาหารสำเร็จรูป ซึ่งจะมีระบบติดตามการขึ้นลงของราคาสินค้าทั้งหมดตลอดเวลา 

พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบดูแลเป็นรายสินค้า ประมาณ 10 คน คนละ 5 รายการ เพื่อรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ และสามารถให้ข้อมูลได้ทันทีเมื่อประชาชนสอบถามมา 

ขณะเดียวกันจะมีมาตรการในการดูแลสินค้าไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสปรับราคาขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้มีรายได้น้อย 

แต่หากสินค้ารายการใดมีความจำเป็นที่จะต้องปรับราคาขึ้น ภาครัฐก็จะมีมาตรการมา รองรับ

ขณะที่นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีสินค้าบางรายการได้ปรับราคาเพิ่มขึ้นมาแล้ว เช่น ซอสปรุงรส ปลากระป๋องบางยี่ห้อ และคาดว่าเดือนมิ.ย. จะมีสินค้าอีกหลายรายการปรับราคาเพิ่มขึ้น เฉลี่ยประมาณ 10% 

สินค้าแพงจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รอรัฐบาลตีให้แตก แก้ให้ทันและถูกจุด

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์