เปิดจุดยืนกมธ. บิ๊กบัง ก่อนปชป.ชิ่ง ขบวนปรองดอง

ทุกคนใน "47 ผู้ทรงคุณวุฒิ" ที่ถูกคณะวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า นำโดย "วุฒิสาร ตันไชย" รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า สัมภาษณ์เรื่อง "การสร้างความปรองดองแห่งชาติ" บอกว่า ต้องการเห็นความปรองดองในบ้านเมือง

ทุกคนใน "38 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร" ที่มี "พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน" ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ (มภ.) เป็นประธาน บอกว่าต้องการทำให้เกิดการปรองดองขึ้นในสังคม

ทว่า "พฤติกรรม" ที่บางคน-บางพรรค-บางพวกแสดงออก กลับสวนทางกับ "คำพูด" อย่างหนัก เมื่อต่างฝ่ายต่างสอด-ส่องเพียง "บางเนื้อหา" เพื่อฉวยเอาประโยชน์ใส่ตน ไม่ก็ชี้ชวนให้ชิงชังวาระซ่อนเร้นของ "ขั้วตรงข้าม"

ทำให้ "ผลวิจัยปรองดอง" กลายเป็น "อาวุธทางการเมือง" ที่ตอกลิ่มความขัดแย้งในสังคม

ก่อนประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 4-5 เมษายน เพื่อรับทราบรายงานของ กมธ.ปรองดองจำนวน 54 แผ่น จะเริ่มต้น

"มติชน" ได้สกัดสาระสำคัญของ "รายงานร้อน" ซึ่งอ้างอิงผลศึกษาวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า และเป็นบทสรุปร่วมกันของ กมธ.ปรองดอง ก่อน กมธ.ซีกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะประกาศถอนตัว

ก่อนข้อเสนอต่างๆ จะถูกสนองด้วยการใช้เสียงข้างมากลากไป

เปิดจุดยืนกมธ. บิ๊กบัง ก่อนปชป.ชิ่ง ขบวนปรองดอง

ผลการศึกษาของกมธ.

1.กมธ.เห็นว่าเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมือง และเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เกิดจากการเมืองการปกครอง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม กฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งทุกด้านอ่อนแอ ขาดประสิทธิภาพ และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม จนนำไปสู่การยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549

2.กมธ.เห็นว่าความขัดแย้ง จนนำไปสู่ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 มิได้เกิดจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นผลของการกระทำในหลายเหตุการณ์ ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เพื่อขับไล่ "รัฐบาลทักษิณ" ปี 2548 การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) การชุมนุมของ พธม. เพื่อขับไล่ "รัฐบาลสมัคร" และ "รัฐบาลสมชาย" การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อเดือนเมษายน 2552 จนเกิดเหตุเมษายน-พฤษภาคม 2553

3.กมธ.เห็นว่าเหตุความขัดแย้งครั้งนี้แตกต่างจากอดีต เนื่องจากเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับประชาชน ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มเป็นสี จึงต้องแก้ปัญหาที่รากเหง้า ควบคู่กับกระบวนการสร้างความปรองดอง แต่กรณีประเทศไทยต่างจากต่างประเทศ เพราะเป็นการสร้างความปรองดองในขณะที่คู่กรณี และสาเหตุแห่งความขัดแย้งยังดำรงอยู่ ซึ่งอาจเกิดการเผชิญหน้าและนำไปสู่เหตุรุนแรงได้ตลอดเวลา

4.กมธ.พบว่าประเด็นอ่อนไหวที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าของสังคม ประกอบด้วย 1.การแก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3.การปรองดอง โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการไต่สวนหาสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างประชาชนกับกองทัพ ประเด็นการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ตามมติ ครม.วันที่ 10 มกราคม 2555

5.ผลของความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย ได้สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคงในระดับอันตรายสูงสุด ทำให้ประเทศขาดความมั่นคงและสูญเสียอำนาจการแข่งขัน จึงจำเป็นต้องสร้างความปรองดองอย่างเร่งด่วน

6.ทุกภาคส่วนของสังคมทั้งรัฐบาลชุดนี้และชุดก่อน ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ต้องการให้ประเทศไทยยุติความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยเร็วที่สุด

ข้อสังเกตของ กมธ.ต่อรายงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า

1.กมธ.เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง โดยไม่รวมกรณีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบัน ซึ่งควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ

2.กมธ.สนับสนุนส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในการตรวจสอบค้นหาความจริงของเหตุรุนแรงทางการเมืองให้แล้วเสร็จใน 6 เดือน

3.กรณีการลบล้างผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กมธ.จำนวนหนึ่งเห็นว่าในอดีตเคยมีการลบล้างการดำเนินการโดยองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะปฏิวัติ เช่นเดียวกับ คตส.มาแล้ว ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 913/2536 ซึ่งวินิจฉัยว่า "ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ฉบับที่ 26 ข้อ 2 และข้อ 6 มีผลเป็นการตั้งคณะบุคคลที่มิใช่ศาล มีอำนาจทำการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเช่นเดียวกับศาล ทั้งออกและใช้กฎหมายที่มีโทษอาญา ย้อนหลังไปลงโทษอาญาแก่บุคคลย้อนหลัง เป็นการขัดต่อประเพณีการปกครองในระบอบประชาธปิไตย จึงใช้บังคับมิได้"

4.ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างความปรองดองแห่งชาติ ต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดองด้วยการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีโอกาสถกเถียง แบ่งเป็น 2 ระดับคือ ระดับตัวแทนการเมือง/ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง กับระดับประชาชนทุกพื้นที่

เหล่านี้คือจุดยืนที่ กมธ.ปรองดองร่วมกันกำหนด ก่อน กมธ.ซีก ปชป.จะกระโดดลงจาก "ขบวนปรองดอง" ที่เชื่อกันว่า "หัวจักร" ไม่ใช่ชายชื่อ "พล.อ.สนธิ"!!!

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์