อภิวันท์ ชำแหละรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเผด็จการซ่อนรูป

อภิวันท์ ชำแหละรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเผด็จการซ่อนรูป

เมื่อเวลา17.00น.วันที่ 23กุมภาพันธ์ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

ลุกขึ้นอภิปรายในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมว่า ปัญหาตลอด6ปีที่ผ่านมา กลุ่มอำนาจ 2 กลุ่ม ต่อสู้กัน แทนที่จะต่อสู้ในระบบ กลับเกิดการรัฐประหารขึ้น มีนักปราชญ์เคยระบุไม่มีการรัฐประหารใดที่ไม่คิดที่จะสืบทอดอำนาจ ซึ่งเป็นความจริง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนี้ มีเนื้อหาการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน อีกทั้งยังร่างกฎมายโดยมีอคติอยู่บนพื้นฐานการไม่ไว้วางใจอดีตนายกฯรายหนึ่ง และพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง การมีอคติดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อกฎหมายหลักของประเทศ เกิดผลกระทบกับประชาชน เกิดผลกระทบกับพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือก

พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า องค์กรและกลไกที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างน้อย 3องค์กร คือ
 
1.วุฒิสภา 2.ศาลรัฐธรรมนูญ 3.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อพิจารณาดูในเนื้อหากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์กรนั้นๆ พบมีความพยายามสืบทอดอำนาจถึง9ปี   เปรียบได้กับเตรียมไว้สำหรับการเลือกตั้งถึงประมาณ3สมัย ทั้งที่องค์กรมีอำนาจขนาดนั้นไม่ควรจะดำรงวาระถึง9ปีด้วยซ้ำ 
 
พ.อ.อภิวันท์กล่าวว่า กรณีการได้มาซึ่งส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง และการสรรหาอีกครึ่งหนึ่ง

การสรรหาดังกล่าวนั้นเกิดจากการคัดเลือกจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ ส.ว.เหล่านั้นกลับมีอำนาจถอดถอนองค์กรตามรัฐธรรมนูญเสียเอง การบัญญัติเช่นนี้เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะคงไม่มีใครจะคิดถอดถอนองค์กรที่เลือกตัวเองเข้ามาดำรงตำแหน่ง  ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งยังมีอำนาจยื่นถอดถอน ส.ส.ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาอีก

"เปรียบได้กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กลับตรรกะอย่างที่ควรเป็น คือให้ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งมีอำนาจพิจารณาถอดถอนผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง แต่ทุกอย่างกลับกัน กลายเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งมีอำนาจถอดถอนผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาจากประชาชน เช่นนี้ผมไม่เห็นด้วย จึงอยากขอเสนอว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง ไม่ควรจะมีอำนาจถอดถอนได้ เพียงแค่มีหน้าที่รับรองกฎหมายก็พอ” พ.อ.อภิวันท์กล่าว

พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า ส่วนการเลือก ส.ว.ที่มาจากตัวแทนสาขาอาชีพนั้นยังรับได้ แต่ควรแบ่งสัดส่วนระหว่าง ส.ว.เลือกตั้งกับ ส.ว.แต่งตั้งให้ชัดเจน
 
โดยควรระบุให้ส.ว.แต่งตั้งมีจำนวนน้อยกว่าประเภทเลือกตั้ง กล่าวคือ ส.ว.เลือกตั้งควรมีจำนวน2เท่า ของ ส.ว.แต่งตั้ง อาทิ หากมี ส.ว.ทั้งหมดจำนวน 270คน ส.ว.เลือกตั้งควรมีอย่างน้อย 180คน ขณะที่
ส.ว.แต่งตั้งควรมีเพียง 80คนเท่านั้น ขณะที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญอย่างศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช.ควรจะคัดเลือกที่ยึดโยงกับประชาชนมากกว่านี้ และไม่ควรคัดเลือกตุลาการเป็นหลัก แต่ควรมาจากทุกสาขาอาชีพ


“ที่สำคัญ วาระ 9 ปี นานขนาดนี้ไม่ควรจะมีระยะเวลาดำรงตำแหน่งนานเพราะยิ่งนานยิ่งมีอิทธิพลเสียเอง อายุยิ่งมากอิทธิพลยิ่งมากตามธรรมชาติ นอกจากนี้ผมเห็นว่ากระบวนการพิจารณาการได้มาซึ่ง ส.ว.ยังไร้ประสิทธิภาพ เห็นได้จากการคัดเลือก ส.ว.รอบ2 กลับได้ผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกในครั้งแรก เช่นนี้จะอธิบายได้อย่างไร และคณะสรรหาทั้ง7คน มีประสิทธิภาพดีกว่าประชาชนจำนวน63ล้านคนดีขนาดไหน”พ.อ.อภิวันท์กล่าว

พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า ยังมีประเด็นอื่นๆในรัฐธรรมนูญที่ควรปรับปรุง ประกอบไปด้วย มาตรา237 ที่ขัดหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน

เพราะการทำผิดจากสมาชิกเพียงคนเดียวกลับตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรคและส่งผลต่อการยุบพรรค มาตรา266 ที่ห้ามผู้แทนจากประชาชนสะท้อนปัญหาและความต้องการจากประชาชน การร่างกฎหมายเช่นนี้เสมือนการมองว่านักการเมืองทุกคนใช่ไม่ได้หมด เลวหมด โดยเฉพาะมาตรา302 วรรค8 ที่ระบุถึงให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญสามารถเสนอกฎหมายลูกได้เอง และเป็นเรื่องยากที่ ส.ส.จะมีโอกาสคัดค้าน ทั้งนี้แสดงให้เห็นถึงเผด็จการซ่อนรูปที่แฝงมากับรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์