นายกฯ สั่งบูรณาการระบบเตือนภัยให้เสร็จใน 3 เดือน

นายกฯ สั่งบูรณาการระบบเตือนภัยให้เสร็จใน 3 เดือน

นายกรัฐมนตรี สั่งเร่งปลูกป่าเพิ่มเติมในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม

ปลูกหญ้าแฝกพื้นที่ป่าลาดชัน ให้ทหารดูแลพื้นที่ป่าชายแดน แนะ การระบายน้ำให้บริหารจัดการน้ำให้ดี ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่อาจมีบางพื้นที่ประสบภัยแล้ง พร้อมบูรณาการระบบเตือนภัยให้เสร็จภายใน 3 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งของการฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำระหว่างการลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาอุทกภัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวรายงานว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รวบรวมข้อมูลคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำในปีนี้จะมีไต้ฝุ่น 27 ลูก พายุโซนร้อน 3-4 ลูก ระดับน้ำทะเลจะสูงกว่าปีที่แล้ว 15 ซม. ทำให้การระบายน้ำทำได้ค่อนข้างยาก

“ส่วนปริมาณน้ำคาดว่าจะมี 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะต้องให้เขื่อนกักเก็บน้ำให้ได้ 5 พันล้าน ลบ.ม. และเก็บในแก้มลิงอีก 5 พันล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีก 1 หมื่นล้าน ลบ.ม. ให้ปล่อยผ่านเข้าสู่พื้นที่ กทม. ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาระบายน้ำ 45 วัน แต่ยืนยันว่าน้ำจะไม่ท่วม กทม.แน่นอน เราเอาอยู่ ส่วนระบบเตือนภัยได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รับผิดชอบ  แต่เรื่องการสั่งอพยพให้เป็นการตัดสินใจของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติหน่วยงานเดียว เพื่อป้องกันความสับสน โดยการแจ้งเตือนจะต้องเชื่อมโยงข้อมูลลงลึกถึงระดับชุมชน หมู่บ้าน ไม่ใช่เฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น ทุกระดับต้องเข้าถึงข้อมูลแหล่งเดียวกัน และให้ติดตั้งซีซีทีวีที่ประตูระบายน้ำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยการบูรณาการทั้งหมดนี้จะสามารถทำได้เสร็จภายใน 3 เดือนอย่างแน่นอน” นายปลอดประสพ กล่าว

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวรายงานว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 78 ของความจุเขื่อน โดยในเดือน พ.ค.นี้ จะพร่องน้ำให้เหลือร้อยละ 45 ให้ได้ แต่ขอเตือนว่าโอกาสที่จะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมีสูงหากปริมาณน้ำฝนไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

จากนั้น นายกรัฐมนตรี เดินทางมาที่สันเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อตรวจสภาพน้ำ ปริมาณน้ำและการระบายน้ำ พร้อมให้สัมภาษณ์ ว่า 

สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในพื้นที่ต้นน้ำคือการปลูกป่าเพิ่มเติมในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม จัดทำฝายแก้มลิง โดยให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบในพื้นที่ป่าลาดชันโดยปลูกหญ้าแฝก  ส่วนพื้นที่ชายแดนให้เป็นหน้าที่กองทัพรับผิดชอบ  สำหรับการระบายน้ำจากเขื่อน ต้องบริหารจัดการให้ดีให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด  แต่ยอมรับว่าอาจมีประชาชนบางส่วนที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำแล้งบ้าง  แต่จะชดเชยเยียวยาอย่างเต็มที่  ทั้งนี้ จะปรับปรุงระบบพยากรณ์และการแจ้งเตือนให้มีประสิทธิภาพและมีความชัดเจนมากขึ้น โดยบูรณาการข้อมูลจากทุกหน่วยงาน โดยจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน.- สำนักข่าวไทย

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์