กิตติศักดิ์ชี้ม.112อยู่ที่ผู้ใช้ไม่ใช่กม.

กิตติศักดิ์ชี้ม.112อยู่ที่ผู้ใช้ไม่ใช่กม.


สัมภาษณ์พิเศษ 'กิตติศักดิ์ ปรกติ' : 'มันไม่ได้อยู่ที่กฎหมายแต่มันอยู่ที่ผู้ใช้มากกว่า' โดย 'อรรถภูมิ อองกุลนะ' สำนักข่าวเนชั่น @poom_nna

         
"อ.สุลักษณ์ ก็ถูกกล่าวหาตั้งหลายคดี แต่ไม่มีการฟ้องร้อง เพราะอัยการสั่งไม่ฟ้องและที่อัยการสั่งไม่ฟ้องก็เพราะเห็นว่ามันไม่เป็นสาระประโยชน์ และเห็นว่าการกระทำมันไม่เข้าข่าย คือมันก็ต้องมีผู้ใช้กฎหมายที่กล้าใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา"


“ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของบทบันทึกขนาดสั้น "นิติราษฎร์คิดต่าง-ฟังเขาเถิด!" เปิดมุมมองต่อข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างไร โดยเฉพาะมุมมองต่อกฎหมายที่ว่าด้วยสถาบันฯ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความจงรักภักดีที่แตกต่างออกไปของสังคมไทย

#บทบันทึกของอาจารย์ "นิติราษฎร์คิดต่าง-ฟังเขาเถิด!" เหมือนกับจะบอกให้สังคมลองมองสิ่งที่ "นิติราษฎร์" เสนอดูบ้าง

          มันเป็นเสรีภาพอยู่แล้ว เราเป็นสมาชิกของประชาคมการเมือง เหมือนกับเจ้าของบ้านที่อยากจะปรับปรุงตกแต่ง ก็เป็นสิทธิเสรีภาพ เพียงแต่การใช้สิทธิเสรีภาพก็ควรจะอยู่ในขอบเขต ในแง่นี้นิติราษฎร์อาจจะแสดงอะไรที่ทำให้คนไม่พอใจ บางคนก็อาจจะหาว่าพวกเขามีท่าทีโอหัง ท้าทาย แต่เมื่อใดที่เขายังอยู่ในขอบเขต ไม่มีการข่มขู่ ไม่ประทุษร้าย แต่ใช้เพียงวิธีจูงใจให้ฟังในการแสดงความคิดเห็น มันก็สามารถที่จะทำได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเห็นด้วย

#แต่สังคมไทยพอได้ยินว่าจะพูดเรื่องมาตรา 112 กลับไม่ค่อยมีใครอยากจะพูด เหมือนโดน "เซ็นเซอร์" โดยปริยาย

          มันทำไม่ได้หรอก หนังสือพิมพ์อย่างเนชั่น มติชน ประชาไท ก็ลงอยู่ มันไม่ได้ถูกเซ็นเซอร์ เพียงแต่ยังมีคนที่ไม่พร้อมจะโต้แย้งกับเขาด้วยเหตุผลมากกว่า

         
นิติราษฎร์เขาก็ไม่ได้บอกให้เลิก แต่บอกเพียงว่าให้บัญญัติกันใหม่ คือ 1.เมื่อโทษมันแรงไปคือจำคุก 3-15 ปี ก็ขอให้ลด 2.เมื่อความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาถูกเป็นเครื่องมือทำลายทางการเมืองมันก็ควรจะให้โอกาสโต้แย้ง หรือพิสูจน์ว่า สิ่งที่พูดเป็นความจริง เช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่ฟังได้ หากแต่ปัญหากลับอยู่ที่วิธีการที่นิติราษฎร์เสนอมันอาจจะทำให้เราไม่พอใจบ้าง ซึ่งมันก็ต้องอดกลั้น และอดทนที่จะฟังเขาบ้างเท่านั้นเอง

#การมองถึงสถาบันกษัตริย์ควรจะมองมิติใดบ้าง

          อย่างแรกคือ "มิติวัฒนธรรม" ด้วย ในฐานะการเมืองอาจมีไม่มากในปัจจุบัน แต่ใน "มิติวัฒนธรรม" ท่านมีมาก สถาบันกษัตริย์ไม่ได้มีแค่ในรัชกาลนี้ หรือแค่รัชกาลก่อน แต่เป็นการสั่งสมทางวัฒนธรรมของชาติไทย ก็เหมือนสถาบันศาสนาของไทยที่เป็นวัฒนธรรมที่พัฒนามา และแน่นอนว่าพระทำสิ่งใดไม่ดีเราก็วิจารณ์ได้ เป็นการเห็นคุณค่าของคนในอดีตที่เสกสรร ปรุงแต่งจนเป็นถึงทุกวันนี้ และในแง่การเมืองเนื่องจากพระมหากษัตริย์ต้องดำรงอยู่ในธรรมะตามทศพิธราชธรรม เมื่อใดที่ออกนอกทศพิธราชธรรมหรือพระบรมวงศานุวงศ์กระทำการที่ออกนอกกรอบก็มีการวิจารณ์ แต่การวิจารณ์ในฐานะที่เป็นสถาบันการเมืองที่ควบคู่กับธรรมะ เป็นสถาบันที่ถ่วงดุลการเมืองที่อาจอยู่นอกกรอบธรรมะได้ แน่นอนถ้ามองในแง่ที่ว่ากษัตริย์ก็เป็นปุถุชน อาจจะมีข้อผิดพลาดได้ แต่ก็เป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นยากมาก เพราะอยู่ในสายตาสาธารณชนตลอดเวลา แต่เพราะประชาชนเข้าใจว่าอะไรคือกรอบธรรมะที่ท่านปฏิบัติ ท่านก็ยากที่จะปฏิบัตินอกกรอบ

        
  การที่ท่านปฏิบัติตามกรอบนี้มันก็มีผลดี เพราะจะเป็นเครื่องมือถ่วงดุลทางการเมือง เป็นเครื่องเปรียบเทียบ ผมยกตัวอย่างว่าในขณะที่ทุกคนเห่อสุนัขฝรั่ง ราคาแพง แต่ก่อนท่านไม่เคยนำคุณทองแดงออกสู่ที่สาธารณะเลย แต่วันที่ทรงโปรดนำทองแดงออกสู่สาธารณะท่านก็ตรัสว่า นี่เป็นหมาข้างถนน หมาไทย คือท่านไม่เคยวิจารณ์ แต่บอกเพียงว่าอันนี้คือหมาข้างถนนเก็บมาเลี้ยง นี่คือการถ่วงดุลในทางวัฒนธรรมและทางความฟุ้งเฟ้อต่างๆ คือในสถานะสถาบันอันเป็นอำนาจถ่วงดุลที่อาศัยวัตรปฏิบัติ ที่บรมกษัตริย์ทั้งหลายต้องปฏิบัติ นั่นคือการถ่วงดุลได้จากการเป็นตัวอย่างที่ดี

#เฉพาะในแง่ของกฎหมาย เห็นอย่างไรกับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์

          ผมไม่ได้เห็นด้วยกับเนื้อหาของเขา เพราะ 1.การที่เขาบอกให้แก้ไข โดยให้ยกเลิกความผิดตามมาตรา 112 ในหมวดความมั่นคง ผมมองว่าไม่สมควร และผมก็ไม่เข้าใจว่าจะแยกทำไมในเมื่อสถาบันโดยฐานะความเป็นจริง ก็คือเป็นสถาบันที่เป็นเอกลักษณ์ที่คนไทยรู้สึกว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสถาบันนี้ และถ้ามีคนจำนวนมากมองว่าหากใครจะแตะต้อง เขาก็ถือว่าเขายอมตายให้สถาบันนี้ได้ มันจึงต้องถือว่าในเมื่อสถาบันเป็นสิ่งซึ่งคนให้ความสำคัญก็ต้องคุ้มครองไว้ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ

        
  แต่ถ้ายังอยู่ในหมวดความมั่นคงต่อไป ก็หนีไม่พ้นความผิดสถานหนักและไม่พ้นการเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเชื่อมโยงว่ามีพฤติกรรมขัดต่อความมั่นคง

         
ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่กฎหมายแต่มันอยู่ที่ผู้ใช้มากกว่า อ.สุลักษณ์ ก็ถูกกล่าวหาตั้งหลายคดี แต่ไม่มีการฟ้องร้อง เพราะอัยการสั่งไม่ฟ้องและที่อัยการสั่งไม่ฟ้องก็เพราะเห็นว่ามันไม่เป็นสาระประโยชน์ และเห็นว่าการกระทำมันไม่เข้าข่าย คือมันก็ต้องมีผู้ใช้กฎหมายที่กล้าใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา แต่ปัญหาคือแม้มันจะถูกแก้แล้วก็ตาม แต่ถ้าคนใช้ปฏิบัติ ไปเล่นงานทางการเมืองเหมือนเดิม เราก็ไม่สามารถยุติการใส่ร้ายทางการเมืองได้ด้วยกฎหมาย แต่โอเค...เรื่องโทษเนี่ย โดยเนื้อหาของมัน มันก็แรงไปจริงก็ปรับกันได้

#การลดทอนโทษลง น่าจะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการหมิ่นมากขึ้นไม่ใช่หรือ

          สถาบันอยู่ได้ด้วยคน คนรัก ไม่ใช่เพราะความกลัว เอาเถอะ…ในข้อเท็จจริง ถามว่ามีคนกล่าวถึงสถาบันอยู่ใช่ไหม คำตอบคือมี เพียงแต่มันจะรู้ไปถึงคนที่จะกล่าวโทษหรือไม่ก็เท่านั้น แต่ที่สถาบันอยู่ได้ถึงวันนี้เพราะน้ำหนักความรัก ความจงรักภักดีมากกว่าความชัง หากจะใช้วิธีอยู่ได้เพราะหวาดกลัวต่อการลงโทษคงไม่ได้ ตัวกฎหมายไม่ได้ผิดในตัวมัน แต่หากจะไปทำให้ความกลัวมากขึ้น

          เดิมรัฐธรรมนูญก่อนปี 34 ก่อนปฏิวัติ รสช.การแต่งตั้งกษัตริย์รัฐสภาต้องให้ "ความเห็นชอบ" ด้วย แต่รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาตั้งแต่ปี 34 การแต่งตั้งกษัตริย์ในบางกรณีแค่คณะรัฐมนตรีแจ้งให้รัฐสภา "เพื่อทราบ" ก็ได้แล้ว

          อันนี้ควรแก้ ทำไมนิติราษฎร์ไม่เสนอ ตรงนี้ควรแก้เป็นอย่างยิ่งกว่าการให้กษัตริย์สาบานตนเสียอีก แล้วอธิบายก็ง่าย คือ การเสริมพระเกียรติ เป็นการเฉลิมพระเกียรติด้วย "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" รัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลและตามกฎการสืบราชสันติวงศ์จะได้ครองราชย์แน่นอน แต่ว่าควรจะต้องให้รัฐสภาแสดงความเห็นชอบด้วย เพราะตามธรรมเนียมของเรามาถือหลัก "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" เพราะในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ก็เขียนไว้ แต่ปัจจุบันแจ้งให้รัฐสภาเพื่อทราบอย่างเดียว ต่อไปใครเขากล่าวอ้างได้ว่ากษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน มันก็อ้างได้ไง แต่รัชกาลที่ 9 นี้อ้างไม่ได้ เพราะมาจากรัฐสภายกมือ เนื่องจากพระองค์ท่านขึ้นครองราชย์ตามรัฐธรรมนูญก่อนปี 2534 ดังนั้นถ้าไม่แก้ตรงนี้ การจะทำให้การเชื่อมโยงระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนนั้นอ่อนลง ซึ่งอันนี้สำคัญยิ่งกว่าสาบานตัวอีก 

#การผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย

          ก็แน่นอน อย่าลืมในรัฐธรรมนูญเขียนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านคณะรัฐมนตรี รัฐสภาและศาล ถามว่าทำไมพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้ เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้แทนปวงชน และถามต่อว่าเป็นผู้แทนปวงชนได้อย่างไร คำตอบคือเป็นไปตามจารีตประเพณี คือเป็นไปตาม "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" คือเป็นไปตามหน่อเนื้อพุทธางกูร หมายความว่ามีเชื้อสายกษัตริย์ เป็นการรักษาประเพณีแล้วใครจะเถียงได้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์