มองเกม ′ทักษิณ′ ทะลุถึง ′บรรหาร′ เหตุผลไม่แตะ ก.เกษตรฯ

มองเกม ′ทักษิณ′ ทะลุถึง ′บรรหาร′ เหตุผลไม่แตะ ก.เกษตรฯ

น่าสนใจที่หลายคนในพรรคเพื่อไทยวิเคราะห์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนจัด ครม. "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ไม่กล้าหัก "บรรหาร ศิลปอาชา" ริบเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ คืน

หนึ่ง อาจเป็นเพราะเพิ่งร่วมงานกันได้เพียงแค่ 3-4 เดือน

หนึ่ง อาจต้องการพิสูจน์ว่า ใครเป็นมิตรแท้ หรือมิตรเทียม


ความจริงต้องยอมรับว่า มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 "ต้นตอ" สำคัญมาจากการบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลว ของกลุ่มบุคคลใน "ระดับจัดการ" สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ไม่ใช่ "ระดับนโยบาย" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จริงอยู่การบริหารจัดการน้ำครั้งนั้น อาจจะมี "การเมือง" เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผลพวงที่เกิดขึ้น ก็ยังไม่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ถึงขนาดกล้าหัก "บรรหาร" ด้วยการขอริบหรือแลกกระทรวงเกษตรฯกับกระทรวงอื่นๆ ที่ "บรรหาร" ไม่ปรารถนา

เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณอาจดีดลูกคิดแล้วว่า ต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวาน

เพราะต้องไม่ลืมว่า เวลานี้การเมืองมี 2 ขั้ว


พ.ต.ท.ทักษิณอ่านเกมเช่นนั้น

ไม่ใช่ฝ่ายค้านกับรัฐบาล

หากแต่เป็นพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์

ที่สำคัญพรรคชาติไทยพัฒนาของ "บรรหาร" ยังคงเป็น "ตัวแปรที่สำคัญ" ในทางการเมืองไทย

การผูกมิตรเพื่อสร้างความเป็น "เพื่อนแท้" จึงเป็นสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณเลือกเดิน

แม้ว่าในสัจธรรมทางการเมือง จริงๆ แล้ว "ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร"

ซึ่ง "บรรหาร" ถูกมองว่าเป็นนักการเมืองพันธุ์พิเศษ ซึ่งหลายคนไม่ค่อยเชื่อมั่นหรือเชื่อใจมากนัก

เพราะหากจำได้ เมื่อครั้งพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยนายกฯสมัคร สุนทรเวช มีการปล่อยข่าว "ผู้ใหญ่" เรียก "บรรหาร" ไปพบ

ก่อนจะโผล่ออกมาประกาศจับขั้วกับพรรคเพื่อแผ่นดิน ทำนองว่าไปไหนไปกัน

ที่สุดก็เข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชน

ครั้งนั้น "บรรหาร" ถูกมองว่า "ทำตัวสร้างราคา"


เมื่อการเมืองเปลี่ยนหน้า พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเถลิงอำนาจ พรรคชาติไทยพัฒนา ก็ดูมีทีท่า "แทงกั๊ก" เหมือนเดิม

ทางหนึ่งก็มองว่า "แทงกั๊ก" เพื่อต่อรอง

ทางหนึ่งก็มองว่า "แทงกั๊ก" เพราะไม่พอใจการขึ้นมาของพรรคประชาธิปัตย์

แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่า "แทงกั๊ก" เพื่อต่อรอง

เพราะหากจำกันได้ครั้งนั้น "บรรหาร" และแกนนำพรรคร่วมคนอื่นๆ ลงสัตยาบันร่วมกันว่า พรรคประชาธิปัตย์จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป พรรคประชาธิปัตย์ ออกอาการ "ดึงเช็ง"

ทำให้ "บรรหาร" ลมออกหู ถึงกับพูดว่า "ผมเป็นคนมีสัจจะ"

เสียงประกาศจาก คนโตตัวเล็กจากเมืองสุพรรณฯ ถูกมองว่าเป็นการกระทบกระแทกแดกดันนายกฯ "อภิสิทธิ์"

แต่ไม่วายยังหยอดคำหวานพร้อมยืนยันว่า ไม่มีการย้ายขั้วรัฐบาลแน่นอน แม้ประชาธิปัตย์จะไม่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมก็ตาม

ฟังแล้วดูดี แต่นัยก็เป็นการ "ทวงบุญคุณ" ที่เคยรับปากกันเอาไว้ตอนพลิกขั้วหนุนประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล

มาถึงเลือกตั้งปี 2554 ที่ดูแนวโน้มพรรคเพื่อไทยชนะใส "บรรหาร" ก็ประกาศจับมือพรรคภูมิใจไทยของ "เนวิน ชิดชอบ" แกนนำพรรคภูมิใจไทย ชนิดไปไหนไปด้วย

ครั้งนั้นมีการอ่านเกม "บรรหาร" ว่าจับมือภูมิใจไทยที่เป็นพันธมิตรกับประชาธิปัตย์ แต่อีกทางก็แตะพรรคเพื่อไทยไว้หลวมๆ

หากจำได้พรรคชาติไทยพัฒนานี่แหละ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณต่อสายโทรศัพท์เพื่อเชิญเข้าร่วมรัฐบาลพรรคแรก

เรียกว่า "หวยออกทางไหน" ก็ไหลไปได้ทางนั้น

ที่สุดก็เข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยไร้เงาพรรคภูมิใจไทย


ในทางการเมือง พ.ต.ท.ทักษิณเชื่อว่า ประสบการณ์ 4-5 ปีที่ผ่านมา ทุกอย่างที่เป็นองค์ประกอบทางการเมืองเปลี่ยนไปมาก

จะมีก็แต่ "ตัวนักการเมือง" เท่านั้น ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

เพราะยังคงยึดถือสโลแกน "เป็นฝ่ายค้านมันอดอยากปากแห้ง"


แต่ พ.ต.ท.ทักษิณอาจมองไกลกว่านั้น

มอง "บรรหาร" มองพรรคชาติไทยพัฒนา บนผลประโยชน์ของบ้านเมือง ที่มิใช่แค่ผลประโยชน์ทางการเมือง

แน่นอน เสียงของพรรคชาติไทยพัฒนา แม้จะเล็กน้อย แต่ก็ถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

และแน่นอน การบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลวจนเกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะพรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่รับผิดชอบ พรรคชาติไทยพัฒนาต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

การปล่อยให้พรรคชาติไทยพัฒนา บริหารกระทรวงเกษตรฯต่อไป จะเป็นพลังในการทำงานโดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในปีต่อๆ ไปให้เข้มข้นขึ้น

เพราะมี "ชนักติดหลัง" และมี "ความทรงจำอันเลวร้าย" จากมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น

พลังทางการเมืองที่ "บรรหาร" มี อาจจะถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นพลังเพื่อบ้านเมืองในที่สุด

สำคัญยิ่งกว่านั้น พ.ต.ท.ทักษิณอาจมองถึง "มิตรทางการเมือง" ที่ปัจจุบันแทบจะหาไม่ได้ เพื่อเป็น "บันได" ในการสร้างความปรองดอง และกู้ภาพลักษณ์ตัวเองกลับคืนมา แม้จะใช้เวลานาน อาจจะไม่ใช่รุ่น "บรรหาร"

แต่นั่นก็เป็น "ความหวัง"

จึงไม่น่าแปลกใจที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังต้องการให้พรรคชาติไทยพัฒนา บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์