′เฉลิม อยู่บำรุง′ รับมือ′ระเบิดป่วนการเมือง′

คอลัมน์ โครงร่างตำนานคน  โดย การ์ตอง  มติชน 18 ธันวาคม 2554


 
เหตุที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตัดสินใจ "ยุบสภา" ก็ด้วยเชื่อว่า หลังเลือกตั้งจะคลี่คลายความวุ่นวายทางการเมืองที่มีสภาพเหมือนงูกินหาง

เป็น "วงจรอุบาทว์" ไม่รู้จักจบสิ้นอันเกิดจากประชาชนฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับพรรคในเครือข่ายของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ให้เข้ามาบริหารประเทศ จุดชนวนประท้วงและความสร้างปั่นป่วนขึ้นในบ้านเมืองเพื่อขับไล่

แต่เมื่อเปลี่ยนให้ "พรรคประชาธิปัตย์" เข้ามาบริหารประเทศ ประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งก็แสดงการไม่ยอมรับออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นรัฐบาลในเงื้อมเงาของอำนาจนอกระบบ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

เมื่อมีความพร้อมระดับที่เชื่อมั่นว่าจะชนะเลือกตั้งได้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" จึงประกาศ "ยุบสภา"

ซึ่งหากย้อนไปดูเหตุการณ์ในช่วงนั้นจะพบว่า "สุเทพ เทือกสุบรรณ" มีความมั่นใจอย่างสูงยิ่งว่า พรรคประชาธิปัตย์จะชนะเลือกตั้งได้กลับมาเป็นรัฐบาล

ซึ่งหากเป็นไปตามความเชื่อมั่นนั้น การเมืองก็น่าจะราบรื่น ประชาชนฝ่ายที่ใช้จุดยืนประชาธิปไตยเป็นข้ออ้าง เรียกหารัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกเข้ามา จะไม่มีข้ออ้างในการโจมตีเรื่องความชอบธรรมของพรรคประชาธิปัตย์

แต่เรื่องราวไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ผลการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะถล่มทลาย

พรรคประชาธิปัตย์ต่างหากที่พ่ายแพ้อย่างยับเยิน


′เฉลิม อยู่บำรุง′ รับมือ′ระเบิดป่วนการเมือง′

ในเหตุผลของประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยมีความชอบธรรมเต็มร้อยในการจัดตั้งรัฐบาล

แต่ในความแตกแยกของคนในชาติ คนกลุ่มหนึ่งทำใจไม่ได้ที่จะปล่อยให้เป็นอย่างนั้น

ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์แทบจะสร้างความคลุ้มคลั่งในคนบางเหล่าบางพวก

ไม่มีเหตุผลอะไรทั้งสิ้นที่จะทำให้คนกลุ่มนี้ทำใจให้ได้กับการกลับมามีอำนาจของกลุ่ม "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"

ความวิตกว่าการเมืองจะกลับมาวุ่นวาย เพราะความเคลื่อนไหวอันเกิดจากการควบคุมสภาพจิตยอมรับไม่ได้ของคนกลุ่มนี้เป็นที่รับรู้ในหมู่คนที่ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด

เพียงแต่เป็นความหวั่นวิตกที่เบาจางลงเรื่อยๆ เพราะเห็นความอ่อนล้าของกลุ่มที่ใช้ม็อบเป็นเครื่องมือ

ในการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาก่อความวุ่นวายให้ประเทศชาติและสังคมมากเกิน จนคนส่วนใหญ่จะรับไหว

การใช้การชุมนุมเป็นอาวุธเพื่อทำลายล้างทางการเมือง มีความเป็นไปได้น้อยลงเรื่อยๆ

ขณะที่หากหวังว่ากลไกรัฐสภาจะทำให้รัฐบาลสิ้นสภาพยิ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์สร้างความกังขาในจุดยืนประชาธิปไตยต่อความรู้สึกของสังคมทั่วไปมากขึ้น เมื่อถูกคู่ต่อสู้ขยายภาพ "มุ่งทำลายมากกว่าสร้างสรรค์"

ทางเลือกแทบไม่มีหนทางอื่นนอกจากให้ "พรรคเพื่อไทย" มีอำนาจบริหารประเทศต่อไป

ขณะเดียวกัน นับวันยิ่งชัดเจนรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" มีภารกิจเป้าหมายอยู่ที่การล้มล้างความผิดให้พี่ชาย คือ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"

อาการ "ยอมปล่อยไว้ไม่ได้" ของฝ่ายชิงชังเข้ากระดูกดำ จึงแสดงออกอย่างร้อนรนยิ่งขึ้น เพียงแต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจ

ดังนั้น การวางระเบิดที่หน้ากองสลากเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา

ทางฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรี "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" ออกมาชี้ชัดว่าเป็นการดิ้นรนเพื่อป่วนเมืองของฝ่ายนี้ คนส่วนใหญ่ฟังแล้วไม่ค่อยเชื่อ เพราะคิดว่าในวิกฤตที่รุมร้อมบ้านเมืองรอบด้าน ไม่น่าจะมีใครที่คิดสร้างความวุ่นวานขึ้นมาอีก

แต่แล้วเมื่อทางตำรวจจับคนร้ายได้ ให้การขยายผลไปถึงการวางระเบิดกรุงเทพฯอีกอย่างน้อย 3 จุด และเมื่อไปขยายผลพบว่าเป็นจริงตามคำให้การ

เรื่องราวของระเบิดป่วนเมืองในช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงกลายเป็นความตื่นตระหนกขึ้นมาอีกครั้ง

ตื่นตระหนกจากเหตุการณ์ที่ยืนยันว่า ฝ่ายทำลายล้างไม่เลิกราที่จะซ้ำเติมประเทศ


หวาดวิตกกับ "วงจรอุบาทว์ทางการเมือง" ที่พร้อมจะปฏิบัติการ

น่าห่วงตรงที่ ลำพัง "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" กับ "กองบัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ที่ยังแบ่งแยกเป็นหลากพวก หลายเหล่า จะรับมือไว้ไหวหรือไม่

หน่วยงานความมั่นคงอื่น พร้อมจะช่วยเหลือ หรือนิ่งมองแบบจ้องหาโอกาส


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์