“ธาริต” ยอมรับปรับพนักงานสอบสวนคดีแกนนำเสื้อแดงล่วงละเมิดสถาบันฯ

“ธาริต” ยอมรับปรับพนักงานสอบสวนคดีแกนนำเสื้อแดงล่วงละเมิดสถาบันฯ

“ธาริต” ยอมรับมีการปรับชุดพนักงานสอบสวนตามคำสั่ง รมว.ยธ.ในคดีความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ว่าด้วยการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ที่แกนนำเสื้อแดง 19 คนเป็นผู้ถูกกล่าวหา ปัดส่งเทปคำปราศรัยที่หมิ่นเหม่ให้ราชบัณฑิตยฯ ตีความ

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ

ว่าด้วยการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ กล่าวชี้แจงภายหลังมีการระบุว่าดีเอสไอได้เปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าว ที่มีแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 19 คน ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา สืบเนื่องจากการปราศรัยบนเวทีชุมนุมใหญ่ของ นปช.เมื่อวันที่ 10 เม.ย. พ.ศ.2554 โดยยอมรับว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่เป็นการปรับปรุงชุดพนักงานสอบสวนบางคนตามคำสั่งของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากกลุ่มคนเสื้อแดงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.ต.อ.ประชา เพื่อขอความเป็นธรรม

นายธาริต ยอมรับว่านโยบายในการดำเนินคดีกับกลุ่มคนเสื้อแดงโดยรัฐบาลปัจจุบันมีความแตกต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้ว
 
ตนจึงได้หารือกับ พล.ต.อ.ประชา เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลบางคนไม่ได้เปลี่ยนทั้งหมด ซึ่งผู้ร้องมีสิทธิที่จะขอให้เปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกับการสอบสวนของตำรวจหรืออัยการ นอกจากนี้ พล.ต.อ.ประชา เห็นว่าคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคนเสื้อแดงมีการแยกทำหลายชุด ซึ่งอาจทำให้การทำงานไม่เป็นเอกภาพจึงจำเป็นต้องยุบชุดที่ทำคดีย่อยมารวมเป็นชุดใหญ่ อย่างไรก็ตาม คดีนี้ดีเอสไอได้มีคำสั่งแต่งตั้ง พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ร่วมเป็นชุดพนักงานสอบสวนด้วย ส่วนที่มีข่าวว่าดีเอสไอได้ส่งเอกสารถอดคำปราศรัยที่หมิ่นเหม่ให้ราชบัณฑิตยสถานตีความแล้วไม่พบว่าเป็นข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง และดีเอสไอก็ไม่เคยส่งเรื่องดังกล่าวไปให้หน่วยงานใดรวมทั้งราชบัณฑิตยสถานตีความทั้งสิ้น

นายธาริต กล่าวอีกว่า คดีกระทำความผิดของคนเสื้อแดงอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไออยู่แล้ว ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้

เช่น คดีผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ และได้ส่งสำนวน 13 ศพที่อาจเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐไปให้ตำรวจท้องที่ชันสูตรพลิกศพ โดยเฉพาะคดีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น และนายฟาบิโอ โปเลนกี้ ช่างภาพอิตาลี ซึ่งดีเอสไอเคยขอให้ส่งศาลเป็นผู้ไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิต เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย เพราะศาลถือเป็นองค์กรสูงสุดที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่.-สำนักข่าวไทย

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์