วุฒิฯเห็นชอบขั้นตอนถอดถอน ป.ป.ช.เตรียมขอที่ประชุมร่วมรัฐสภาดำเนินการต่อ

พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภาพล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา


เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 14 สมัยสามัญทั่วไป ที่มี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม

ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วนต่อเนื่องจากวันที่ 21 พ.ย. กรณี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร และคณะได้ยื่นคำร้องให้วุฒิสภามีมติให้นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 248 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) ไปพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม โดยวิปวุฒิได้เสนอร่างบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบขั้นตอนการปฏิบัติในการนำข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2551 หมวด 6 ว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ มาเทียบเคียงเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการของวุฒิสภา เพื่อให้กรรมการ ป.ป.ช.พ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 248

โดยร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ ให้ประธานวุฒิสภาส่งสำเนาคำร้องและสรุปสำเนารายงานของคณะกรรมาธิการสามัญสอบข้อเท็จจริงให้สมาชิกผู้ร้องและผู้ถูกร้อง เพื่อศึกษาล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน จากนั้นให้ประธานนัดประชุมภายใน 20 วัน เพื่อกำหนดวันแถลงของผู้ร้องและผู้ถูกร้อง และเพื่อพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานนอกเหนือจากที่ให้ไว้แล้วในชั้นกรรมาธิการสามัญ ผู้ร้องและผู้ถูกร้องอาจยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 5 วันในการพิจารณานัดแรก การพิจารณาให้พิจารณาโดยเปิดเผย
 
ในกรณีที่พิจารณาลับให้มีเฉพาะสมาชิก คู่กรณีเท่านั้นที่อยู่ในที่พิจารณา การพิจารณาให้ใช้รายงานของกรรมาธิการสามัญเป็นแนวทางประกอบการพิจารณา โดยให้พิจารณาหลักฐานและเหตุผลตามที่ระบุข้อกล่าวหาเป็นข้อๆ โดยผู้ร้องและผู้ถูกร้องขอเพิ่มเติมพยานหลักฐาน ให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอญัตติเกี่ยวกับประเด็นซักถามที่จะดำเนินการซักถามโดยคณะกรรมาธิการซักถามล่วงหน้าจำนวน 7 คน

สำหรับการเริ่มพิจารณาให้ผู้ร้องหรือผู้ได้รับมอบหมายมีสิทธิแถลงเปิดคำร้อง จากนั้นให้ผู้ถูกร้องหรือผู้แทนมีสิทธิแถลงปิดคำร้อง เมื่อแถลงเสร็จให้ที่ประชุมพิจารณาว่าควรมีประเด็นซักถามประเด็นใดเพิ่มเติม โดยให้พิจารณาจากญัตติที่สมาชิกเสนอล่วงหน้า การซักถามให้อยู่ในกรอบและประเด็นคำถามที่วุฒิสภากำหนด โดยในการซักถามให้ถามโดยกรรมาธิการซักถามเท่านั้น ทั้งนี้ กรรมาธิการซักถามสามารถถามต่อเนื่องได้แต่ต้องอยู่ในกรอบประเด็นคำถามที่กำหนดไว้แล้ว ผู้ร้องและผู้ถูกร้องมีสิทธิแถลงปิดคำร้องและแถลงคำโต้แย้งคำร้อง โดยสามารถยื่นคำแถลงปิดคำร้องหรือคำโต้แย้งคำร้องเป็นหนังสือได้ ทั้งนี้ให้มีการนัดหมายให้วุฒิสภาลงมติหลังจากวันแถลงปิดคำร้อง 5 วัน โดยการลงมติให้ทำโดยวิธีลับ ซึ่งการลงมติถอดถอนต้องมีคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง 74 ต่อ 1 เสียง ซึ่งการพิจารณาได้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภา เพื่อพิจารณาพร้อมกันทั้ง 3 วาระ โดยหลังการลงมติประธานได้แจกเอกสารให้สมาชิกประกอบด้วย รายงานของกรรมาธิการสอบข้อเท็จจริง 52 แผ่น สำเนาคำร้องของ น.อ.อนุดิษฐ์และคณะ 210 แผ่น สำเนาหนังสือชื่อแจงของนายภักดี 254 แผ่น ทั้งนี้ขั้นตอนต่อไปวุฒิสภาจะต้องขออนุญาตต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 28 พ.ย. เพื่อให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการถอดถอน ป.ป.ช.ในสมัยสามัญนิติบัญญัติ ได้


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์