เบื้องหลัง อภัยโทษ เข้า ครม.

ตกเป็นข่าวใหญ่ไม่แพ้น้ำท่วม แต่คนละความหมาย คนละอารมณ์ คนละความรู้สึก เรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)

เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2554 ซุ่มพิจารณา "วาระจรลับ" เกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ....  

เขาว่ากันว่า เป็นการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักโทษที่จะเข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554

ซ้ำร้ายเนื้อหาของ พ.ร.ฎ. ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี แถมมีการตัดคำแนบท้ายของ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พ.ศ. 2553 ที่มีเนื้อหาระบุว่า ผู้ที่เข้าข่ายได้รับอภัยโทษ ต้องเป็นโทษที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติด และไม่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันออก นี่เป็นเนื้อหาสาระที่สื่อนำมาเผยแพร่กันสนั่นเมือง

หากเรื่องที่ว่าทั้งหมดเป็นจริง จะไปเอื้อให้ คุณทักษิณ ชินวัตร อยู่ในเกณฑ์ที่ว่าด้วยหรือไม่? สังคมไทยพิจารณากันเอาเอง ที่สำคัญต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า เรื่องนี้สำคัญมากน้อยแค่ไหน หากเทียบกับวิกฤติน้ำท่วมที่พี่น้องประชาชนกำลังได้รับความเดือดร้อนอยู่ในเวลานี้...

สิ่งที่น่าคิด การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2554 มัน "กลับตาลปัตร" คนที่ควรจะอยู่ในที่ประชุม แต่กลับไม่อยู่ อย่าง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รองนายกฯ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ  ซึ่งจะไม่อยู่ด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่ นายกฯ เท่านั้น ที่ควรจะมีคำตอบ

สิ่งที่เกิดขึ้น ถามว่า นายกฯ จะปฏิเสธความรับผิดชอบ ไม่รู้ไม่เห็นได้หรือไม่? ในฐานะผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในคณะรัฐมนตรี  ยิ่งเป็นวาระจรด้วยซ้ำ นายกฯ จะไม่รับรู้เลยหรือ

ปกติการเสนอวาระจรเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายกฯ ก็ไม่ได้ให้เสนอเข้าได้ง่ายๆ ไม่ใช่หรือ? ทุกเรื่องที่เข้าคณะรัฐมนตรี นายกฯ ต้องเซ็นรับทราบก่อนหรือไม่?

ตามกฎระเบียบราชการเวลาจะเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี กระทรวงต้นสังกัดต้องทำเรื่องเสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาข้อกฎหมายและความถูกต้อง เมื่อพิจารณาเสร็จต้องส่งกลับไปให้รองนายกฯ ที่รับผิดชอบในสายงานของตัวเองลงนาม สุดท้ายเอกสารก็ต้องกลับมาที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อบรรจุเป็นวาระเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี


เบื้องหลัง อภัยโทษ เข้า ครม.

เป็นปกติที่ทุกเรื่องก่อนจะบรรจุเป็นวาระเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต้องเสนอเรื่องให้นายกฯ พิจารณา หรือรับทราบ เรียกว่า "นายกฯ ก็ต้องรับรู้ทุกเรื่อง"

เช่นเดียวกับเรื่องพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ....ที่เจ้าของเรื่องอย่าง กระทรวงยุติธรรม แม้จะเป็นวาระจรลับ เรื่องนี้ก็ต้องแจ้งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อทำบันทึกว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เห็นสมควรเสนอเป็นวาระจร นายกฯ เองก็ต้องเห็นชอบ ฉะนั้นเรื่องนี้ทั้งนายกฯ และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะไม่รู้เลยหรือ

ฉะนั้น แม้ว่า นายกฯ จะไม่อยู่ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี แต่เป็นเรื่องสำคัญ ยังไงเสีย นายกฯ ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบ ไม่รับ..ไม่รู้..ไม่ได้

แต่ถ้าเป็นเรื่องที่นายกฯ ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อนจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องของการบกพร่องการบริหารราชการแผ่นดินที่รองนายกฯ ปฏิบัติการเอง จะเป็นการ "สอดไส้" วาระหรือไม่ เรื่องนี้นายกฯ ต้องออกมาชี้แจงสังคมให้ได้

นายกฯ ลืมเรื่องนี้หรือยัง...เมื่อ  25 สิงหาคม 2554 อำพน กิตติอำพน บอกชัดเจนว่า นายกฯ ได้เสนอกฎระเบียบการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ควรเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า วาระจร ต้องน้อยที่สุด เรื่องต่างๆ ที่เสนอต้องรอบคอบ เชื่อมโยงกับส่วนราชการต่างๆ หากเรื่องที่ไม่มีความเร่งด่วน
"นายกฯ จะไม่ให้เสนอเป็นวาระจร เพื่อให้ ครม.นำไปพิจารณาก่อน" 

ดังนั้น แม้การ พ.ร.ฎ. จะเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีก็ตาม สำคัญยิ่ง ต้องเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ถูกกาลเทศะ ต้องเปิดเผย "ไม่ใช่งุบงิบทำกัน" อย่างที่เป็นอยู่ ถ้าจะงุบงิบ หรือไม่ต้องการให้สังคมรับรู้ มันน่าจะเป็นเรื่องของความมั่นคงประเทศ หรือวางแผนจะไปสู้รบกับประเทศใดก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำไม่น่าจะใช่

สำหรับการอภัยโทษ ปกติก็มีการกระทำกันอย่างเปิดเผยอยู่แล้ว เป็นประเพณีปฏิบัติ เป็นการกระทำเพื่อสาธารณะ แต่ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง นายกฯ ต้องออกมาชี้แจง อย่าปล่อยให้สังคมสับสนจนกลายเป็นวิกฤติรอบใหม่สำหรับประเทศไทยอีกเลย

เบื้องหลัง อภัยโทษ เข้า ครม.


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์