คลี่ปมร้อนอภัยโทษจ่อฟันผิดอาญาปู

คลี่ปมร้อนอภัยโทษจ่อฟันผิดอาญาปู

คลี่ปมร้อน ร่างพรฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ ลุกลามจ่อฟ้องฟันผิดอาญา ‘ยิ่งลักษณ์’ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดย 'เหมือนแพร ศรีสุวรรณ' ศูนย์ข่าว TCIJ

เป็นที่น่าจับตาเมื่อคณะรัฐมนตรีประชุมในการพิจารณาและลงมติผ่านร่างพระราชกฤษฎีกา(พรฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.... ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักโทษที่จะเข้าข่ายในการเข้ารับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 โดยเป็นการประชุมลับ ทำให้เกิดการวิพากษ์ทางสังคมจนกลายเป็นประเด็นฮอตส่อฟ้อง นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผิดกฎหมายอาญาฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ทางศูนย์ข่าว TCIJ  ได้ตรวจสอบพบว่า รายละเอียดประเด็นดังกล่าว เริ่มต้นมาจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานการประชุมแทนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ไม่สามารถเข้าประชุมได้เนื่องจากติดภารกิจเดินทางไปราชการจังหวัดสิงห์บุรี 


 ขณะที่ร.ต.อ.เฉลิม เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการออกกฎหมายอภัยโทษและเป็นผู้เสนอเข้าที่ประชุมครม.ในวาระจร โดยเป็นการประชุมลับ เชิญเจ้าหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องประชุมทั้งหมด เหลือเพียงคณะรัฐมนตรีเท่านั้น หลังพิจารณาวาระดังกล่าวแล้วเสร็จมีการเก็บรายละเอียดเอกสารทั้งหมดกลับเพื่อป้องกันการเผยแพร่ แต่กลับมีการให้ข่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมครม.โดยรัฐมนตรีบางคน จึงกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมอย่างหนัก


 อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้เข้าร่วมการประชุมครม. จนอาจจะนำไปสู่ประเด็นการพิจารณาร่างพรฏ.ขอพระราชทานอภัยโทษ มิชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ และขัดกับพระราชบัญญัติอภัยโทษ หรือเข้าข่ายความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมครม. หรือประเด็นดังกล่าว สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนพรฎ.ดังกล่าวเป็นโมฆะ ไม่มีผลในทางกฎหมาย


รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี  อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงแง่มุมรัฐศาสตร์ ด้านการปกครองว่า จะไปฟ้องนายกฯว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากไม่เข้าร่วมประชุมครม. มองว่าเป็นเรื่องความสง่างามมากกว่าจะมองในประเด็นด้านรัฐศาสตร์ แต่เป็นเรื่องมารยาทและความเหมาะสม แต่ถ้าจะมีคนฟ้องต่อศาลปกครองอาจจะทำได้ แต่การออกพรฎ.อภัยโทษ เป็นเรื่องปกติทำกันทุกปีอยู่แล้ว ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะพี่ชายน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งต้องคำพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีที่ดินรัชดา แต่อยู่ระหว่างการหลบหนีในต่างประเทศ ก็ไม่มีใครสนใจอยู่แล้ว ปัญหาหรือความร้ายแรงจะไม่มีอยู่แล้ว


 รศ.สิริพรรณ กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่เคยกลับเข้ารับผิดทางอาญาจึงไม่น่าจะเข้าข่ายพรฎ.อภัยโทษ เว้นเสียแต่ ร.ต.อ.เฉลิมได้เตรียมการไว้แล้ว  แต่ประเด็นนายกฯ เข้าหรือไม่เข้าร่วมประชุมครม.ก็ไม่อยากให้ทำเป็นเรื่องใหญ่ก่อให้เกิดความแตกแยกทางสังคม แต่ถ้าประเด็นการออก พรฏ.อภัยโทษทั่วไป นายกฯอาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ร่วมประชุมทุกครั้งก็ได้


“แต่สิ่งที่อยากเห็นคือการพิสูจน์ความผิดในกระบวนการยุติธรรมของคุณทักษิณ มากกว่าวิธีการสอดไส้แบบนี้เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งต่อไปมากขึ้น” รศ.สิริพรรณ กล่าว


ทั้งนี้ รศ.สิริพรรณ ยังอธิบายถึงหลักการเพิกถอนพรฏ.ที่ฝ่ายบริหารออกนั้น สมัยก่อนมีการเพิกถอนพรฏ.แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นโมฆะ ที่น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.สรรหาเป็นผู้ฟ้องต่อศาลปกครองในขณะนั้น  แต่ประเด็นไม่เหมือนกัน ดังนั้นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพรฎ.อภัยโทษ ที่รัฐบาลเสนอนั้นสอดคล้องกับกฎหมายแม่หรือไม่ ส่วนประเด็นที่จะเอาผิดกับนายกฯ เรื่องไม่เข้าประชุมครม. คิดว่าไม่ได้ แต่เชื่อว่าจะมีคนฟ้องร้องประเด็นดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน


 “ไม่อยากจะให้คนพยายามคิดว่าพอมีปัญหาหนึ่งก็พยายามใช้ช่องทางจ้องล้มรัฐบาลด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง ตอนนี้มีคนออกมาวิเคราะห์แล้วใช้ช่องโค่นล้มรัฐบาล ในกรณีนี้อาจเป็นแค่เรื่องการออกพรฎ.อภัยโทษ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่ไม่ได้มีความผิดอาจจะแจ้งให้เป็นโมฆะไป อาจจะถูกประชาชนพิพากษาว่าไม่สง่างาม อันนั้นก็เป็นการตัดสินใจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไป”  รศ.สิริพรรณ กล่าว


 ขณะที่นายจรัล ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวกับศูนย์ข่าว TCIJ ว่า  ความขัดแย้งระหว่างข้อมูลจากที่เป็นข่าวกับข้อเท็จจริงมันดูเหมือนว่าจะยังไม่ตรงกัน ขอเช็คข้อมูลก่อน ถ้าพูดไปร้อยแปดประการก็ไม่ดี  เวลาพูดไปแล้วฐานข้อมูลเราต้องได้แน่นอนก่อน เพราะข้อมูลฝ่ายหนึ่งในรัฐบาลก็ออกมาระบุว่าไม่เห็นมีการออกพ.ร.ฎ.อภัยโทษให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ  อีกฝ่ายก็บอกว่า มีการออกพรฎ.อภัยโทษ  เพราะฉะนั้นมันจึงเร็วเกินไปที่จะให้แสดงความคิดเห็น


 เมื่อถามว่า การออกพรฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจรัล กล่าวว่า หลักกฎหมายเขียนอย่างไร กฎหมายก็เป็นอย่างนั้น  แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า ตนเองไม่สามารถพูดอย่างนั้นได้ด้วยหน้าที่มันก็ไม่ถูกต้องอีกเหมือนกัน


ส่วนกรณีที่การออกพรฎ.อภัยโทษดังกล่าว จะขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี  นายจรัล กล่าวว่า ไม่มีประเด็นใดที่ขัดกับประมวลกฎหมายดังกล่าวเลย


ด้านร.ต.อ.เฉลิม  ให้สัมภาษณ์นักข่าวเพียงว่า พรฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นเรื่องของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะทำได้โดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไม่ต่ำ 20 คน ไปศึกษาข้อกฎหมาย หลักเกณฑ์ของคนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากนั้นจะเสนอ รมว.ยุติธรรมก่อนเสนอ ครม. เมื่อเห็นชอบก็จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา หากเห็นด้วยก็จะส่งกลับมาที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูล ซึ่งเป็นเรื่องของพระราชอำนาจโดยแท้และยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ทำผิดกฎหมายโดยเด็ดขาดและรัฐบาลก็จะไม่ยอมให้ใครทำผิดกฎหมายเช่นกัน และเมื่อยังไม่มีบทสรุปก็ยังไม่สามารถพูดได้ เพราะหากพูดไปก่อนแล้วภายภาคหน้าไม่เป็นไปตามนั้นก็เสียคน


รายละเอียดเกี่ยวกับ ร่าง พรฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ ที่ผ่านการลงมติของครม.มีรายละเอียดดังนี้ ประการแรก การกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักโทษที่เข้าข่ายในการเข้ารับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธ.ค. 2554  จำนวน 26,000 คน โดยกำหนดคุณสมบัติหลักเกณฑ์ของนักโทษที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี  ทั้งนี้ไม่มีการระบุถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการต้องโทษ ซึ่งแตกต่างจากพรฎ.อภัยโทษ พ.ศ. 2553 ที่ระบุหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการต้องโทษไว้ว่า “ผู้คนที่เข้าข่ายได้รับอภัยโทษจะต้องเป็นโทษที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติดและไม่เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น”


ขณะเดียวกันการเตรียมการในการขอพระราชทานอภัยโทษดังกล่าวมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการโยกย้ายอธิบดีกรมราชทัณฑ์ โดยรัฐบาลแต่งตั้ง พ.ต.ท.สุชาติ วงศ์อนันตชัย ขึ้นดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทนนายนัทธี จิตสว่าง  พร้อมกันนี้มีรายงานข่าวทางหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่ามีการเตรียมโรงเรียนพลตำรวจบางเขนให้เป็นสถานที่จำคุกพ.ต.ท.ทักษิณ


ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษมีดังนี้

          1.ตรวจสอบเรื่องราวโดยละเอียด
เกี่ยวกับฎีกา คำพิพากษา หมายจำคุก หมายลดโทษ เอกสารประกอบ เรื่องราวว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ หากไม่ถูกต้องจะจัดส่งกลับไปเรือนจำและทัณฑสถานเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง

          2.ในกรณีมีปัญหาที่จะต้องขอทราบข้อเท็จจริง
 ประวัติการกระทำผิดหรือรายละเอียดบางประการเกี่ยวกับ นักโทษ จะต้องประสานงานไปยังเรือนจำ หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถานีตำรวจภูธร ท้องที่ หรือศาล เป็นต้น

          3.ในรายที่เป็นนักโทษความผิดคดียาเสพติดให้โทษ
ต้องขอทราบข้อมูลประวัติการกระทำผิดไปยัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาทุกราย

          4.สรุปย่อฎีกาทูลเกล้าฯ
 และคำพิพากษาในคดีของนักโทษเด็ดขาดรายนั้น ๆ

          5.ประมวลเรื่องราว
ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเหตุผลที่จะถวายความเห็นขึ้นไปตามลำดับชั้น จนถึง กระทรวงยุติธรรม เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณาให้ความเห็นแล้ว จะเสนอเรื่องเพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำความ ขึ้นกราบบังคมทูลฯ ต่อไป

          6.เมื่อมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา
นั้นเป็นประการใด กรมราชทัณฑ์จะแจ้งให้เรือนจำหรือทัณฑสถานทราบเพื่อแจ้งผู้ถวายฎีกา และบันทึกรับทราบไว้เป็นหลักฐานต่อไป

          7.กรณีนักโทษซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิต
ก็จะต้องดำเนินการโดยนัยเดียวกันกับการขอ พระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลดังกล่าวมาแล้ว หากมีพระราชกระแสให้ยกฎีกา คือไม่พระราชทานอภัยโทษให้ กรมราชทัณฑ์จะแจ้งเรือนจำให้บังคับโทษประหารชีวิตกับนักโทษรายนั้นโดยไม่ชักช้า


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์