3อุปสรรคสำคัญทักษิณกลับไทย


3อุปสรรคสำคัญสำหรับการกลับประเทศไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ : กระดานความคิด โดย พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์

          
การเดินทางกลับประเทศไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นมีอุปสรรคใหญ่ๆ อยู่สามปัญหา ปัญหาแรก เป็นเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังเข้าประเทศไทยไม่ได้ เนื่องจากติดคดีที่ศาลฎีกาฯ สั่งจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 2 ปี ถ้าพ้นปัญหาแรกไปก็จะพบ ปัญหาที่สอง ที่ถูกจำกัดสิทธิ์ไม่ให้เล่นการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 และยังมี ปัญหาที่สาม จากกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังติดคดีอยู่อีกหลายเรื่อง ซึ่งล้วนแต่เป็นคดีที่ คตส.ดำเนินการฟ้องร้องเอาไว้ทั้งสิ้น


 สามปัญหาดังกล่าว จึงเกิดโจทย์ขึ้นมาว่าจะทำอย่างไรให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับเข้ามาและเล่นการเมืองต่อไปได้ ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาของ พ.ต.ท.ทักษิณเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ซึ่งสรุปได้ว่า
    
 1.เมื่อการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะตัว พ.ต.ท.ทักษิณคนเดียวทำได้ลำบาก จึงเกิดข่าวลือเรื่องที่รัฐบาลเตรียมออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีผู้สงสัยว่าอาจมีนัยซ่อนเร้นในการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณรวมเข้าไปด้วย เพราะแค่ พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามอบตัว และถูกควบคุมตัวอยู่ที่หน่วยงานของรัฐสัก 2-3 วัน ก็จะครบเงื่อนไขการเป็นนักโทษที่อยู่ในกฎเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษจากกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมได้แล้ว (ทั้งสองหน่วยงานได้มีคนของพรรคเพื่อไทยไปควบคุมเรียบร้อยแล้ว)
    
2.ถ้าการออกพระราชกฤษฎีกาทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณมีอิสรภาพเป็นผลสำเร็จก็ยังติดขัดข้อกฎหมายที่ห้ามเล่นการเมืองอีก 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 (7) จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลบมาตรานี้ทิ้งไป ซึ่งปัจจุบันมีการเตรียมอยู่ 2 รูปแบบ คือ แนวทางแรก เป็นการขอแก้ไขในมาตรา 291 เพื่อเปิดช่องให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และแนวทางที่สอง ซึ่งจะร่นเวลามากขึ้น คือการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเก็บเฉพาะหมวด 1 และ 2 ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไว้ แล้วยกรัฐธรรมนูญปี 2540 เข้ามาสวมแทนทั้งฉบับ เมื่อดูการเร่งรัดทำงานของรัฐบาล ทั้งการติดสินบนคนชั้นกลาง (ผ่านนโยบายรถคันแรก, บ้านหลังแรก, การลดหย่อนภาษี ฯลฯ) และการโยกย้ายข้าราชการแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะเลือกแนวทางที่ 2 เพื่อความรวดเร็วมากกว่า
    
3.การขอยุติคดีต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ในศาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ขึ้นมา โดยระบุว่า คอ.นธ.มีจุดประสงค์หลักมุ่งไปที่การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมของไทย ทั้งในรูประบบศาลยุติธรรมและตัวบทกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เพราะคณะทำงานชุดนี้รัฐบาลตั้งขึ้นจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ศักดิ์ทางกฎหมายถือว่าต่ำกว่าพระราชบัญญัติและรัฐธรรมนูญมาก แต่ คอ.นธ.กลับมารับทำหน้าที่สำคัญชี้ผิดชี้ถูกต่อระบบศาลยุติธรรมและเรื่องรัฐธรรมนูญ จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แม้ คอ.นธ.จะมีหน้าที่แค่เสนอแนะไปยังรัฐบาลก็ตาม จึงพอเห็นได้ว่าคณะกรรมการชุดนี้น่าจะเสนอเรื่องออกมาเกี่ยวกับเรื่องการใช้กฎหมายสองมาตรฐานเป็นประเด็นหลัก เพื่อให้รัฐบาลนำมาเป็นข้ออ้างอิงไปสนับสนุนเกี่ยวกับคดีที่ยังค้างอยู่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ
    
นอกจากนั้นการที่กลุ่มนักวิชาการสายสีแดงได้ออกแถลงการณ์ในวาระครบรอบ 5 ปี การรัฐประหาร โดยเสนอให้ลบผลจากการรัฐประหารทุกอย่าง ซึ่งรวมไปถึงคดีที่ คตส.ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ยังค้างคาอยู่ที่ศาล รวมไปถึงคดีที่พิพากษาแล้วก็ให้ถือว่าเป็นโมฆะ ซึ่งมีลักษณะเป็นการเคลื่อนไหวหนุนเสริม พ.ต.ท.ทักษิณโดยตรงอีกประเด็นหนึ่ง ถ้าการเคลื่อนไหวทั้งหมดเป็นผลสำเร็จก็จะทำให้เส้นทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณในอนาคตสะดวกและราบรื่น
    
  อย่างไรก็ตามการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าวนั้น ใช่จะสะดวกสบายตามที่คิดไว้ เพราะมีประชาชนมากมายเริ่มสงสัยบ้างแล้ว ดังนั้นการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ถ้าอยู่ในลักษณะที่ค่อยทำค่อยไป ติดขัดตรงไหนก็ใช้ “การทำประชามติ” มาเป็นเครื่องมือ จึงน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมมากกว่า เพราะถ้ามั่นใจในเสียงสนับสนุน 15 ล้านเสียงจริงๆ ถ้ารัฐบาลทำประชามติชนะก็จะไม่มีใครออกมาโต้เถียง แต่ถ้าลุแก่อำนาจทำกันไปเรื่อยๆ ก็คงรู้อยู่แล้วว่าเหตุการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร อย่าลืมว่า “คนไทยเปลี่ยนใจได้ง่ายๆ เหมือนกันครับ”




เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์