เตือนคมช.อย่า ประมาททักษิณ

ไทยรัฐ

หลังจากที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธให้สัมภาษณ์อัด คมช.เป็นโรคหลงลืมประชาชน ในขณะที่นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย แจงเหตุสนับสนุนขั้วอำนาจใหม่ อ้าง คมช.และรัฐบาลช่วยคลี่คลายวิกฤติบ้านเมือง จวกยับพวกเล่นการเมืองน้ำเน่า ขุดเรื่องส่วนตัวมาโจมตีรัฐบาลและ คมช. ในขณะที่พรรคไทยรักไทยแขวะ คมช.สร้างศัตรูรอบด้าน เตือนระวังเดินซ้ำรอยเท้า รสช.นั้น

ชวน ชี้การเมืองปี 50 อยู่ที่ รธน.

เมื่อวันที่ 1 ม.ค. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2550 ว่า ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเห็นความพยายามที่จะอุดช่องโหว่ในประเด็นที่เป็นปัญหา คือร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีโจทย์ป้องกันตัว บุคคลเป็นหลัก เพราะถ้ามีคนคิดอยากมีอำนาจโดยเด็ดขาดทุกด้าน อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะมีวิธีการอย่างไรที่ตรวจสอบหรือคานกันได้ในระบบ นอกจากนี้ ควรมีบทลงโทษตามกฎหมายอย่างจริงจังกับฝ่ายปฏิบัติ นักการเมืองและเจ้าหน้าที่ที่ทำความผิดทางการเมือง เช่น ทุจริตเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความกลัวและระมัดระวังมากขึ้น

จี้รัฐบาล-คมช.แจงเหตุยึดอำนาจ

นายชวนกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจเก่า โดยผ่านบุคคลอื่นในลักษณะสงครามตัวแทน เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่เคยมีอำนาจ ต้องไม่ลืมว่า พ.ต.ท. ทักษิณมีอำนาจอยู่ 5 ปี ได้สร้างอาณาจักรและสร้างคนขึ้นมา โดยใช้ทั้งเงินและอำนาจเป็นเครื่องมือต่อรอง ฉะนั้นคนที่จงรักภักดีและผูกพันกับ พ.ต.ท.ทักษิณยังมีอยู่มาก ทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำ และคนเหล่านี้ยังอยู่ในอำนาจ ซึ่งรัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงอะไร โดยเปลี่ยนเฉพาะไม่กี่คน ดังนั้นสิ่งที่สะสมมา 5 ปี จะล้มด้วยประกาศคณะปฏิรูปในคืนวันที่ 19 ก.ย.ครั้งเดียวนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงบอกให้รัฐบาล และ คมช. ต้องอธิบายความจริง ให้ประชาชนเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดบ้านเมืองวิกฤติขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนรู้ความจริง เพื่อที่ใครจะไปยุยงส่งเสริมหรือคลื่นใต้น้ำไปหลอกลวงได้ยาก หากไม่ทำความเข้าใจจะกระทบต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่สำคัญกระทบต่อความมั่นคงและสถาบัน

อย่าประเมิน ทักษิณ ต่ำเกินไป

นายชวนกล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐบาลชุดนี้มีคนของกลุ่มอำนาจเก่าอยู่หลายคน ที่ไม่ได้ทุกข์ร้อนกับระบอบทักษิณ ถึง พ.ต.ท.ทักษิณมีอำนาจอยู่ คนเหล่านี้ก็มีตำแหน่งฐานะ แต่เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นไป คนเหล่านี้ก็ไม่ทุกข์ร้อนที่จะแก้ไข เปลี่ยนแปลงอะไร กลุ่มอำนาจเก่าจึงมีฐานที่เข้มแข็ง สามารถเผาโรงเรียนได้เรื่อยๆ เจ้าหน้าที่บางคนคือคนของอำนาจเก่า ไม่พยายามทำให้เรื่องจริงปรากฏ โดยปกป้องและผูกพันอยู่กับอำนาจเก่า ดังนั้นคำตอบก็คือไฟฟ้าลัดวงจร เพิ่งมายอมรับว่ามีการวางเพลิง อันนี้คือคลื่นใต้น้ำที่มาจากฐานการเมือง เงินไม่เข้าใคร ออกใคร แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงแต่ก็ยังมีอำนาจอยู่ ดังนั้น คิดว่าน้ำเลี้ยงในเรื่องเงินยังคงมีอยู่ในปัจจุบันและเงินของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นบานงอกออกไปทุกวันๆ ขออย่าไปประเมินคนมีเงินต่ำ เพราะคนที่มีเงินมากที่สุดในประเทศก็ไม่ธรรมดา และ พ.ต.ท.ทักษิณได้ประกาศมาตลอดว่าตายเสียดีกว่าแพ้

คตส.ต้องยึดหลักนิติรัฐสอบทุจริต

นายชวนกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ คตส.เร่งตรวจสอบโครงการต่างๆ เพื่อดำเนินคดีอาญากับ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว จะทำให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวอ่อนแรงลงหรือไม่นั้น สิ่งนี้ไม่น่าห่วงเท่าประเด็นที่ คตส.สามารถตรวจสอบอะไรได้แค่ไหน เพราะการกระทำความผิดในเชิงนโยบายบางเรื่องอาจจะไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้นองค์กรที่ตรวจสอบต้องรักษาหลักความถูกต้องของบ้านเมืองไว้ โดยใช้มาตรฐานเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติ และต้องเร่งทำ แต่ต้องรอบคอบ เพราะการดำเนินการของคนเหล่านี้ก็มีนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญเก่งๆคอยให้คำปรึกษาร่วมมือกับเขาด้วยวิธีการหาผลประโยชน์ โดยใช้ความชอบธรรม แต่ได้ประโยชน์จากความที่ขัดแย้งระหว่างตัวเองกับรัฐ

ไม่หวั่นประชาธิปัตย์จะถูกยุบพรรค

นายชวนกล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ถ้ายุบพรรคหนึ่ง จะต้องยุบอีกพรรคหนึ่งด้วยนั้น ตุลาการรัฐธรรมนูญคงไม่เอากระแสมาเป็นหลัก เพราะตุลาการรัฐธรรมนูญมาจากผู้พิพากษาศาลสูง เป็นตุลาการอาชีพจริงๆ ไม่อยู่ในอาณัติการเมือง ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้พูดกันชัดเจนว่า ศาลจะเห็นอย่างไรก็เคารพ เชื่อในความบริสุทธิ์ใจและตรงไปตรงมาของศาล ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบก็มีผลต่ออนาคตของพรรคบ้าง แต่ไม่มาก และสามารถตั้งพรรคใหม่พร้อมใช้ชื่อเดิมได้ อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งไปสันนิษฐานอะไร เพราะเวลาทำคดีเราก็หวังว่าจะชนะ เมื่อถามว่า ถ้าถูกยุบพรรคจริงนายชวนอาจจะต้องกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีก นายชวนตอบว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เหมะสมเป็นที่สุด เพราะเป็นคนเก่ง ซื่อสัตย์ และรักบ้านเมือง พร้อมที่จะเหนื่อย พร้อมเป็นฝ่ายค้าน ไม่คิดอยากเป็นรัฐมนตรีอย่างเดียวนั้นหายาก เคยเป็นหัวหน้าพรรคมา 12 ปี ถ้าจะกลับให้มาเป็นใหม่ก็น่าตกใจ เพราะคนที่เคยทำงานเป็นหัวหน้าพรรคมา เวลาที่พ้นมาแล้วจะรู้ว่าเหนื่อย ดังนั้น ไม่คิดอยากจะกลับไปเป็นหัวหน้าพรรคอีก เนื่องจากมองเห็นความน่ากลัวคือความเหนื่อยใจ เหนื่อยสมอง

จาตุรนต์ เดินหน้าปรับปรุง ทรท.

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ในปี 2550 จะพยายามติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชาชน เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน ติดตามการทำงานขององค์กรของรัฐ ตั้งแต่รัฐบาล สภานิติบัญญัติ และองค์กรอื่นๆ โดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อผลักดันให้บ้านเมืองกลับมาเป็นประชาธิปไตย ในปีหน้าเราจะปรับปรุงพรรค ไม่ว่าใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรค สิ่งที่จะทำแน่ๆคือปรับนโยบายของพรรค ยืนยันส่วนที่ดีที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ต่อประชาชน ขณะเดียวกัน ก็จะแก้ไขจุดอ่อน ข้อบกพร่อง พร้อมที่จะรับแนวความคิดใหม่ๆมาทำเป็นนโยบายใหม่ ยืนยันว่า เราจะทำหน้าที่ต่อไปอย่างจริงจัง แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์ ที่อาจจะทำอะไรได้ไม่เต็มที่นัก ทั้งนี้ ถ้าพรรคไม่ถูกยุบ ก็จะจัดขบวนได้เร็ว แต่ถ้าถูกยุบคงพูดอะไรวันนี้ยังไม่ได้ เพราะแกนนำพรรคทั้งหลายที่เป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะเป็นกรรมการบริหารพรรคไหนได้อีก คงต้องหาทางออกทางการเมืองกันต่อไป อย่างไรก็ตามเรื่องตัดสิทธิการเลือกตั้งนั้น เราเชื่อว่าคงไม่มีผลบังคับใช้

การเมืองปีหมูอยู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

นายจาตุรนต์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ทาง การเมืองในปี 2550 นั้น เชื่อว่าจะเข้มข้นและอยู่บน 2 เส้นทางที่ไม่แน่ว่าจะไปทางไหน ระหว่างการคลี่คลายไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยอย่างราบรื่น กับการที่จะเกิดความคิดเห็นไม่ตรงกัน เกิดปัญหาอุปสรรคต่างๆอย่างมาก เรื่องสำคัญที่เป็นประเด็นทางการเมืองจะอยู่ใน 2 เรื่องใหญ่ คือ ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และเรื่องประชาธิปไตย เรื่องปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เราเห็นปัญหาอยู่แล้วในขณะนี้ และยังมีเค้าของการที่จะมีปัญหามากขึ้น จะกลายเป็นการเมืองภาคประชาชนได้พอสมควร แต่เรื่องนี้คงไม่เข้มข้นมากนัก ที่จะเข้มข้นกว่านั้นคือเรื่องประชาธิปไตย ที่เรากำลังจะมีการร่างรัฐธรรมนูญ และกำหนดเวลาไว้ว่า จะต้องร่างให้เสร็จภายใน 180 วัน หลังจากนั้นจะมีการลงประชามติ ถ้าประชามติไม่ผ่าน ก็ต้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หยิบฉบับใดฉบับหนึ่งในอดีตมาปัดฝุ่นแก้ไข กระบวนการนี้จะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะให้ความสนใจมากขึ้น เพราะเป็นความเป็นความตายของบ้านเมือง

หวั่น รธน.ใหม่เป็นอำมาตยาธิปไตย

นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า ในส่วนของรัฐธรรมนูญบางคนอาจบอกว่าตนมองโลกแง่ร้าย แต่ก็ได้มองผ่านจากประสบการณ์ในอดีต และการศึกษาประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยเมืองไทย ที่พบว่าหลังการยึดอำนาจรัฐประหารแล้ว มักมีภาวะที่ทำให้รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ประเด็นที่มักจะเกิดขึ้นคือ การฟื้นอำนาจของอำมาตยาธิปไตย หรือข้าราชการประจำที่มีผู้นำกองทัพเป็นหัวเรือใหญ่ รัฐธรรมนูญแบบนี้มักจะแสดงออกโดยที่นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือไม่ ต้องมาจาก ส.ส. ขณะเดียวกัน ส.ว.จะมาจากการแต่งตั้งโดยผู้ยึดอำนาจ และมักจะให้ ส.ว.มีอำนาจในการประชุมเรื่องสำคัญๆ เช่น เรื่องงบประมาณ เรื่องไม่ไว้วางใจรัฐบาล ถือเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ในส่วนนี้น่าเป็นห่วง

ผู้มีอำนาจอคติระบอบประชาธิปไตย

นายจาตุรนต์กล่าวว่า บางทีการสืบทอดอำนาจไม่ได้แสดงออกด้วยการมีอำนาจต่อไปของผู้ยึดอำนาจเอง แต่เป็นการวางระบบไว้ให้ผู้ที่ไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตย ยังคงมีอำนาจต่อไป ประกอบกับบรรยากาศขณะนี้ที่พบว่า มีอคติต่อระบอบประชาธิปไตย มีอคติต่อระบบพรรคการเมืองอย่างเห็นได้ชัด และผู้ที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญโดยพื้นฐานแล้วก็มาจาก คมช. มีคนที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยอยู่บ้างแต่ไม่มาก โอกาสที่รัฐธรรมนูญจะไม่เป็นประชาธิปไตยจึงสูงมาก เหล่านี้เป็นเหตุผลที่พรรคไทยรักไทยเสนอให้เอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นหลักแล้วแก้ไขปรับปรุงในบางส่วนที่เป็นปัญหา โดยกุญแจสำคัญอย่างหนึ่ง คือการไม่เข้าไปแทรกแซงของผู้มีอำนาจ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังก็จะช่วยได้พอสมควร

จะเกิดวิกฤติการเมืองถ้าคนไม่รับ รธน.

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยหรือมีปัญหามาก วิกฤติที่จะตามมาคือการลงประชามติ การลงประชามติเป็นเรื่องแปลกที่มีการลงทั้งฉบับ ไม่ได้ลงเป็นรายประเด็น ถ้าประชาชนไม่ยอมรับต้องไปหยิบฉบับใดฉบับหนึ่งแล้วให้ คมช.เป็นคนแก้ไข ตรงนั้นไม่มีใครทราบว่าจะนำไปสู่รัฐธรรมนูญที่ยิ่งแย่กว่าฉบับที่ร่างขึ้นมาหรือไม่ มันจะเกิดภาวะที่อึดอัดไปหมด ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าประชาชนไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับที่สภาร่างรัฐธรรมนูญเสนอแล้วต่อไปไม่รับร่างที่ คมช.หยิบขึ้นมาแก้อีก ก็จะเกิดเป็นวิกฤติการเมืองทันที ฉะนั้นหลายฝ่ายต้องช่วยกันแสดงความเห็น ผมก็ฝากไว้ได้แต่เพียงว่าผู้มีอำนาจไม่ควรครอบงำ แทรกแซงองค์กรที่มีหน้าที่โดยตรง ต้องใช้หลักวิชาการ คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศมากๆและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ขณะเดียวกัน ประชาชนเองเมื่อได้รับโอกาสให้มีสิทธิแล้วก็ควรจะมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ไม่ใช่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แล้วก็บอกว่าแล้วแต่ ใครจะทำก็ทำไป เพราะสุดท้ายแล้วเราก็จะได้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นายจาตุรนต์กล่าว

เชื่อนายกฯ-คมช.ไม่คิดสืบอำนาจ

นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า พรรคไทยรักไทยอยากเห็นการแก้ปัญหาเป็นไปโดยสันติวิธี เราจะพยายามช่วยประคับประคองสถานการณ์ให้ทุกอย่างเป็นไปโดยสันติวิธี ไม่พัฒนาไปในทางที่รุนแรง เรามีส่วนผูกโยงกับรัฐบาลที่แล้ว แต่ไม่ต้องการให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยถูกมองว่าเป็นเรื่องของการจะฟื้นอำนาจเก่า เพราะจะทำให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอ่อนแอลง ผู้สื่อข่าวถามว่ามองว่าจะเกิดเป็นพฤษภาทมิฬ 2 หรือไม่ นายจาตุรนต์ตอบว่า เวลานี้ยังไกลเกินไป ดูจากการแสดงออกของประธาน คมช. และนายกฯแล้ว เชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่แสวงหาอำนาจเพื่อส่วนตัว และไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ ถ้าหากท่านทั้ง 2 ยังเป็นกำลังสำคัญในการช่วยกันดูแล ไม่ไปส่งเสริมการสืบทอดอำนาจเผด็จการ เราคงหลีกเลี่ยงเหตุการณ์แบบพฤษภาทมิฬได้ การจะสืบทอดอำนาจหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง ฉะนั้นทั้ง 2 คนก็ต้องช่วยทำความเข้าใจกับคนอื่นๆให้ดี

ฟันธง ทักษิณ เลิกยุ่งเกี่ยวการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลับมาในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ นายจาตุรนต์ตอบว่า เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะท่านไม่ต้องการอย่างนั้นแล้ว ได้รับการสื่อสารจากหลายทาง ทั้งจากคนที่ได้ไปเยี่ยมบ้าง จากนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณบ้าง ก็สอดคล้องกัน เพียงแต่ท่านยังไม่ได้พูดเป็นทางการ ส่วนจะกลับมาเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ ก็บอกได้เลยว่าไม่เป็นแน่ แม้กระทั่งจะลงสมัครรับเลือกตั้งในคราวหน้า ก็คงไม่ลงแน่ แต่ในอนาคตข้างหน้าอีกหลายๆปีพูดไม่ได้ และเราก็ไม่ควรไปจำกัดสิทธิของท่าน แต่เฉพาะหน้าตอนที่จะมีการเลือกกรรมการบริหารพรรค และการเลือกตั้งทั่วไปในคราวหน้าที่กำลังจะมีขึ้น เชื่อว่าท่านไม่มาลงสมัครและไม่มาเกี่ยวข้องแน่

รับสภาพพรรคฝ่ายค้านขนาดเล็ก

เมื่อถามว่า ประเมินคู่แข่งในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไร นายจาตุรนต์ตอบว่า สำหรับพรรคไทยรักไทยเรามองการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยความเจียมตัว เราถูกมรสุมใหญ่มา และยังไม่แน่ว่าจะมีมรสุมมาอีกกี่ลูก ถึงแม้จะไม่ถูกยุบพรรค การดำเนินงานทางการเมืองของพรรคไทยรักไทยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังมีปัญหาอุปสรรคอีกมาก เราต้องพยายามเอาจุดแข็งทั้งหลายของเราออกมาพัฒนาต่อไป ทั้งเรื่องนโยบายพรรค การมีผู้สนับสนุนอยู่มาก มีอดีต ส.ส.อยู่มาก ต้องพยายามประคองไว้ ถึงแม้ว่าบางส่วนคงจะไปอีก ก็เป็นเรื่องธรรมดา เข้าใจได้ เราต้องมาสรุปบทเรียนในอดีตส่วนที่มีปัญหา และพร้อมที่จะเดินหน้าไปด้วยสภาพพรรคที่เล็กลงมากกว่าเดิม จะเป็นอะไรก็ต้องพร้อมทั้งนั้น จะต้องไปเป็นฝ่ายค้านก็ต้องพร้อม วันนี้คงต้องคิดถึงการเป็นฝ่ายค้านมากกว่าอย่างอื่นก่อน ไม่ใช่เอาแต่เพ้อฝันว่าจะไปจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว เวลาอยู่ในวิกฤติเราต้องมองปัญหาในทางร้ายก่อน มองให้สุดๆไปก่อนว่าร้ายที่สุดมันอยู่ตรงไหน แล้วถึงพยายามทำให้มันดีกว่านั้น ตนพยายามทำความเข้าใจกับชาวพรรคไทยรักไทยในลักษณะนี้มาระยะหนึ่งแล้ว

เตือน คตส.เอนเอียงกระแสจะตีกลับ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระบวนการตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลชุดที่แล้วในปี 2550 นายจาตุรนต์ตอบว่า ปัญหาที่น่าเป็นห่วง คือการทำงานที่ไม่เป็นไปตามหลักกระบวนการยุติธรรมอย่างเคร่งครัด ถูกแทรกแซงและกดดันทางการเมือง เช่น การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยมุ่งเอาผิดบุคคล คณะบุคคลด้วยความจงใจ และคัดเลือกบุคคลบางคนที่แสดงออกอย่างชัดเจนก่อนหน้านี้ว่าต้องการเอาผิดบุคคลในรัฐบาลที่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการเร่งเรื่อง พร้อมทั้งตั้งตรรกะหรือหลักเหตุผลว่า ถ้าตรวจแล้วไม่พบคนผิด แสดงว่าคณะที่ยึดอำนาจผิด ซึ่งถ้าตั้งประเด็นกันแบบนี้โดยผู้มีอำนาจ คือคมช. คตส. ป.ป.ช. จะเป็นปัญหาทันที เพราะถ้าตรวจแล้วไม่พบใครผิด คมช.ก็ลำบาก ฉะนั้น พอ คมช.จะลำบากคมช.ก็ต้องพยายามทำให้ไม่ลำบาก สุดท้ายคนที่ คมช.ตั้งขึ้นมาก็ต้องพยายามทำให้ คมช.ไม่ลำบาก จึงต้องทำให้ผิดให้ได้ ถ้าหลักคิดเป็นแบบนี้ก็เท่ากับว่าทั้งหมดไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม วันนี้ถ้าจะตรวจสอบต้องตั้งธงกันใหม่ว่า ว่ากันตามเนื้อผ้า ผิดมากลงโทษมาก ผิดน้อยลงโทษน้อย ถ้าไม่ผิดก็ต้องไม่ลงโทษ เพราะถ้าเพี้ยนไปจากนี้มากจะเป็นปัญหาทางการเมือง โดยเฉพาะ การไม่ยอมรับของประชาชนทั้งในประเทศและชาวต่างประเทศ

สุรนันทน์ จี้ คมช.ปลดล็อกการเมือง

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า อยากให้ คมช.และรัฐบาลปลดล็อก ประกาศ คปค. ฉบับที่ 15 และ 27 และอีกหลายๆประกาศก่อนที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กระบวนการทางการเมืองเกิดขึ้นได้ เปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ สำหรับกรณีที่มีการหารือกันระหว่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและนักวิชาการ ถึงการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้น นายสมคิดยังไม่ตัดสินใจว่าจะดำเนินการทางการเมืองต่อหรือไม่ เพราะยังติดอยู่ 2-3 เรื่อง เช่น คดียุบพรรคไทยรักไทย กติการัฐธรรมนูญที่ยังมองไม่ออก และเงื่อนไขการตกผลึกทางความคิด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าต้นปี 2550 คงจะมีการหารือเรื่องนี้กันอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้น จะต้องโปร่งใส ตอบประชาชนได้ว่ามาทำงานการเมืองเพื่ออะไร มีแนวความคิดหรือชุดความคิดที่เสนอเพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนได้ สำหรับการพิจารณายุบพรรคไทยรักไทย ที่อาจมีผลพวงให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีด้วยนั้น อยากขอให้กระบวนการพิจารณาตรงนี้โปร่งใสและเป็นธรรมจริงๆ กรรมการบริหารพรรคหลายคนก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาด้วย ถ้ามีการยุบพรรคและถูกตัดสิทธิทางการเมืองจริงๆ ส่วนตัวก็คงต้องอุทธรณ์และต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิทางการเมือง

ลิขิต ยันคลื่นใต้น้ำขยายวงแน่

นายลิขิต ธีรเวคิน หัวหน้าพรรคพลังแผ่นดินไท กล่าวถึงการเมืองในปี 2550 ว่า ยังมีประเด็นค้างอยู่อีกหลายเรื่อง คือ ยังคงมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคม นอกเหนือจากปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องคลื่นใต้น้ำ เชื่อว่าความขัดแย้งนี้ยังคงอยู่ต่อไป หากคมช.ไม่สามารถจำกัดวงของคลื่นใต้น้ำ จะทำให้ เกิดการขยายวงไปสู่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกมาในอนาคต จะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนหากรัฐธรรมนูญเป็นไปในลักษณะของการสืบทอดอำนาจ ก็น่าเป็นห่วงที่ประชาชนจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นปัญหาให้ผู้มี อำนาจหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ก็ได้ นอกจากนั้น ยังมีประเด็นการตรวจสอบทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อาจจะต้องขอเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อมาให้การในชั้นศาล โดยจะเป็นการกลับมาแบบไม่ปกติ ดังนั้น จะนำไปสู่ประเด็นความขัดแย้งของคนที่อยากให้กลับ และคนที่ไม่อยากให้กลับเกิดขึ้นอีก

ปี 2550 การเมืองชี้นำเศรษฐกิจ

หัวหน้าพรรคพลังแผ่นดินไทกล่าวด้วยว่า หาก ตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ จะเกิดความระส่ำระสายทางการเมือง และน่าจะนำไปสู่การจัดตั้งพรรคใหม่ ดังนั้นในปี 2550 การเมืองจึงเป็นจุดชี้นำเศรษฐกิจ หากไม่มีความระมัดระวังเมื่อเศรษฐกิจไทยทรุดด้วยเหตุผลทางการเมือง จะเกิดผลกระทบต่อความสมานฉันท์ของคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้นผู้บริหารประเทศจึงต้องระมัดระวัง และสุขุมนิ่มนวลในการดำเนินการทุกเรื่อง หากทำผิดพลาดจะทำให้เกิดความ ขัดแย้งวุ่นวาย ไม่อยากเห็นทุกอย่างพังทลายลง ส่วนตัวยังหวั่นเกรงระยะเวลาการกลับไปสู่ประชาธิปไตยที่อาจจะเนิ่นนาน ดังนั้นผู้มีอำนาจจึงควรแสดงความจริงใจ โดยจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด อย่างน้อยจะประมาณวันที่ 1 เม.ย. 2551 ควรจัดให้มีการเลือกตั้งได้แล้ว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์