มาร์คอภิปรายซัดนโยบายไม่ตรงกับที่หาเสียง ทั้งค่าแรง-เงินเดือนป.ตรี

ที่รัฐสภา ในการแถลงนโบายรัฐบาลต่อรัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านลุกขึ้นอภิปรายเปิดในส่วนของฝ่ายค้าน ใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง
 
โดยนายอภิสิทธิ์ระบุต้องยอมรับว่าสภาพการเมืองตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา เป็นการเมืองที่สับสนอย่างมาก เมื่อประชาชนตัดสินใจผ่านการเลือกตั้งอย่างชัดเจนสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากในสภาจัดตั้งรัฐบาล เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะได้ชี้แจงพันธสัญญาในอีก 4 ปีข้างหน้า สิ่งสำคัญในวันนี้คือ นำบ้านเมืองออกจากวิกฤต เราทุกคนต้องเร่งสร้างศรัทธาให้กับประบวนการประชาธิปไตย ให้กับนักการเมือง ให้กับรัฐสภา


นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หัวข้ออภิปรายของตนมี 4 ข้อ ดังนี้ 1.รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่มีไว้กับประชาชน
 
เพราะรัฐบาลไปสร้างความคาดหวังสร้างโจทย์ให้ประเทศ โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ ปากท้อง พรรคเพื่อไทยไปหาเสียงใช้คำว่า "โดยทันที"  แต่การแสดงความคิดเห็นของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เราพบความจริงว่า ประชาชนมีความหวั่นไหวว่าทำจริงหรือไม่ เป็นเรื่องแปลกว่า หลังเลือกตั้ง ดัชนีความสุขของประชาชนกลับลดลงทั้งที่เคยคาดหวังอย่างสูงเกี่ยวกับนโยบายหาเสียง นโยบายที่อยู่ในใจประชาชนมากที่สุดคือเพิ่ม รายได้ ลดรายจ่าย วันที่พรรคเพื่อไทยไปหาเสียงประกาศนโยบายชัดเจนมาก แต่หลังเลือกตั้งความชัดเจนกลับกลายเป็นความคลุมเครือ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ การปรับค่าแรงแบบก้าวกระโดด เราต้องให้ความมั่นใจว่าธุรกิจอยู่ได้ เพราะถ้าธุรกิจอยู่ไม่ได้ ประชาชนก็อยู่ไม่ได้ ป่วยการที่จะขึ้นค่าแรง พรรคเพื่อไทยประกาศตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่า นายกฯหาเสียงขณะนั้นได้พูดในหลายโอกาสว่าจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทันที แต่ตอนหลังจะมียืดเวลามาเป็นเริ่ม 1 มกราคม 2555 เมื่ออ่านนโยบายกลับไม่พูดคำว่า "ค่าจ้าง" แต่พูดถึงให้แรงงานมี "รายได้" ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท มีรัฐมนตรีบางคนบอกว่าอาจรวมถึงสวัสดิการ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ตรงกับสิ่งที่ประชาชนให้ความไว้วางใจมา สำหรับนโยบายเงินเดือนปริญญาตี 15,000 บาท แล้วผู้ที่จบ ปวช. ปวส. จะไม่ปรับเงินเดือนให้หรือ กระทบรุนแรง 2 ด้าน คือ ถ้ามีช่องว่างเงินเดือนระหว่าง ปวช. ปวส. กับ ปริญญาตรี แนวโน้มการจ้างงานระดับปริญญาตรีจะน้อยลง


นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ นโยบายเปลี่ยนจากที่หาเสียง มาใช้เป็นเรื่องการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเชื้อเพลิงบางประเภทเป็นการชั่วคราวและปรับสู่การสะท้อนราคาที่เป็นจริง
 
คือ ไม่ยกเลิกแต่ชะลอ เป็นเชื้อเพลิงบางประเภท และแค่ชั่วคราว และ รมว.พลังงานก็พูดสร้างความสับสน เมื่อกองทุนเป็นหนี้ ไม่ใช้ภาษีประชาชน ก็ต้องไปเก็บเงินเข้ากองทุนในวันข้างหน้า วันนี้ถ้าเราไม่ใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุนก๊าชหุงต้มราคาก๊าชต่อถึงจะเพิ่มเป็นเท่าตัว จะเอาเงินที่ไหนไปอุดหนุนก๊าชหุงต้ม ถ้าดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล กองทุนน้ำมันจะมีหนี้เดือนละ 3-4 พันล้านบาท 6 เดือน 2 หมื่นล้าน 1 ปี 4 หมื่นล้าน จะเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้กองทุนฯ


"วันนี้ต้องให้ชัดเจนว่า ทำได้หรือไม่ได้ ทำได้แล้วเมื่อไหร่ ถ้าทำไม่ได้กรอบที่ชัดเจนคืออะไร เด็กๆ รอแท็บเล็ตอยู่นะครับ  แต่วันนี้เขียนว่าทดลองนำร่อง และมีนโยบายบางเรื่องที่ท่านไปหาเสียงไว้แต่ผมจะไม่ทวงให้ทำ มีสองเรื่องคือภาคใต้ที่ชูนครรัฐปัตตานี ซึ่งเราไม่เห็นด้วย ที่ติดใจทวงถามคือนโยบายถมทะเล เข้าใจว่าไม่ได้ระบุในร่างนโยบายด้วย สิ่งที่อยากให้สานต่อในเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ อยากให้ทำทันทีเพราะรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้รัฐบาลยืนยันกฎหมายที่ค้างในสภา อาทิ กฎหมายที่ทำกิน ภาษีที่ดินแก้เหลื่อมล้ำ กฎหมายจัดการที่ดินสงวน กฎหมายสัญชาติ แต่เรื่องรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเอาไปไว้ในนโยบายเร่งด่วนที่จะยกร่างแก้ไขใหม่ ก็แสดงว่าร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ตามรัฐธรรมนูญเดิมจะไม่ทำใช่หรือไม่ ต้องนี้ต้องให้ความชัดเจน" นายอภิสิทธิ์กล่าว
 

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า 3.การสร้างศรัทธารัฐบาลต้องมุ่งมั่นสร้างประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงไม่มีอะไรแอบแฝง

โดยเฉพาะเรื่องประโยชน์ทับซ้อนที่ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ที่ดัชนีความสุขประชาชนน้อยลง เพราะเราเห็นการจัดลำดับความสำคัญสวนทางกับความเดือดร้อนประชาชน ความจริงความเดือดร้อนที่สุดคือน้ำท่วม แต่สวนทางคือสิ่งที่แร่งทำความชัดเจนออกมาหลายเรื่องไม่ใช่เรื่องประโยชนประชาชน ปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีอดีตนายกฯ ซึ่งทำไปทำมามีการวินิจฉัยว่าไม่ต้องเสียเลย สิ่งนี้กลับกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำความชัดเจน ไม่นับเรื่องการออกวีซ่าของรัฐบาลญี่ปุ่นที่รัฐบาลนี้ไปร้องขอ ต้องยอมรับว่าบุคคลที่เข้ามาอยู่ในรัฐบาลนี้หลายท่านก็เกี่ยวข้องกับคดีของอดีตนายกฯ ทั้งหลักทรัพย์ ทรัพย์สิน หรือคดีที่มีการให้การ ไม่แน่ใจว่ามาตรฐานการตรวจสอบจะเหมือนของ รมว.ต่างประเทศหรือไม่ เพราะพวกตนเอาหลักฐานไปยื่นท่านก็ยื่นกลับ ไม่เป็นไร เมื่อถึงชั้นศาลบางทีอาจพบข้อหาเพิ่ม แต่มาตรฐานถ้ามีการยื่นตรวจสอบรัฐบาลแล้วรัฐบาลยื่นกลับ รัฐบาลที่แล้วคงต้องยื่นเป็นร้อยคดี


นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า 4.ด้านการเมืองและการบริหาร รัฐบาลนี้เน้นมากเรื่องประชาธิปไตย แต่คำว่าประชาธิปไตยมันไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเลือกตั้งหรือเสียงข้างมาก
 
แล้ววิธีเขียนวิธีปฏิบัติของคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลนี้ที่ผ่านมามีผลกระทบต่อประเทศ นโยบายเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์จะดำเนินการอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่าหลายคนที่เคยมีความเคลื่อนไหวที่กระทบต่อสถาบัน อาจยังมีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลนี้ และที่นายกฯ เคยพูดว่าอาจพิจารณาแก้ไขมาตรา 112 จะพิจารณาทำอะไร ต้องมีความชัดเจน ต้องยอมรับว่าเรามีสถาบันหลักอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง และเราต้องช่วยทำให้สถาบันเหล่านี้ดำรงอยู่เหนือความขัดแย้งการเมือง ไม่นำสถาบันมาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งสถาบันตุลาการด้วย กรณีของสื่อมวลชนก็เช่นเดียวกัน ก็วิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควรจากที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีการสอบการเข้าไปแทรกแซง แทรกซึม หรือซื้อสื่อ ก็ต้องมีการพิสูจน์กันต่อไป


"ขอให้รัฐบาลสร้างสิ่งที่ดีมุ่งมั่นประโยชน์ประชาชนอย่ามาสร้างประโยชน์ทับซ้อน เป็นสิทธิของนายกฯ ว่าจะตอบคำถามหรือไม่ แต่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ท่านยังคงมีความรับผิดชอบสูงสุดต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง ท่านเป็นนายกฯหญิงคนแรก เป็นนายกฯที่ประชาชนพร้อมให้โอกาสโดยที่มีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหารน้อยมาก แต่เมื่อประชาชนให้ความไว้วางใจมาแล้ว ก็กลายเป็นภาระความรับผิดชอบ ขอให้ดำเนินการไม่ให้มีความขัดแย้งเรื่องประโยชน์ของพวกพ้องและครอบครัวอีกต่อไป นโยบายที่เขียนไว้แม้ทำไม่สำเร็จในบางเรื่อง แต่ถ้าทำด้วยความจริงใจ สังคมให้โอกาสทำงาน แต่ถ้าความไว้วางใจถูกนำไปใช้ในทางอื่น สังคมก็ยึดในความถูกต้อง" นายอภิสิทธิ์กล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์