ค่าแรง 300 บาท จุดปะทะ ′ทุนที่พัฒนา กับ ทุนไม่พัฒนา


การนำเสนอนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ประสานกับนโยบายปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ส่งผลสะเทือนเป็นอย่างสูง

คล้ายกับจะสะท้อนจุด "ต่าง" ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์

เป็นความจริง ขณะเดียวกัน ภายในความขัดแย้งระหว่าง "แนวทาง" ของพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ก็ฉายลึกถึงความขัดแย้งที่ดำรงอยู่

นั่นก็คือ ความขัดแย้งระหว่าง "ทุน" กับ "แรงงาน"

นั่นก็คือ ความขัดแย้งระหว่างเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าของธุรกิจการค้า กับบรรดาผู้ใช้แรงงาน

อันทำให้แต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายจำเป็นต้องเลือกข้าง จำเป็นต้องเลือกฝ่าย

ซึ่งเห็นได้จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เลือกยืนอยู่ในแนวทางเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์ และเห็นได้จากกลุ่มและสภาผู้ใช้แรงงาน เลือกยืนอยู่ในแนว ทางเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง แนวคิดที่แตกต่างกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นความแตกต่างเพียงในวิธีการ มิได้เป็นความแตกต่างในทางเนื้อแท้

เป็นเพียงมุมมองซึ่งไม่เหมือนกันต่อปัญหาเรื่องทุน และต่อปัญหาเรื่องแรงงาน

แท้จริงแล้ว แนวนโยบายของพรรคเพื่อไทยไม่ว่าในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ว่าในเรื่องเงินเดือนขั้นเริ่มต้นผู้จบปริญญาตรี คือความต่อเนื่องจากแนวนโยบายของพรรคไทยรักไทย และแนวนโยบายของพรรคพลังประชาชน

นั่นก็คือ แนวนโยบายอย่างที่เรียกกันว่า "ทักษิโณมิกส์"

แม้แนวนโยบาย "ทักษิโณมิกส์" จะค่อนข้างโน้มเอียงไปทางคนระดับรากหญ้าทั้งในชนบทและในเมือง คล้ายกับจะถอดเก็บบทเรียนความจัดเจนมาจากแนวทางของระบบสังคมนิยม แต่แท้จริงแล้วก็เป็นการนำเอาแนวทางของระบบสังคมนิยมมาอำนวยประโยชน์ให้กับพัฒนาการแห่งระบบทุนนิยม

นั่นก็คือ เป็นแนวคิดที่เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับคนระดับรากหญ้าทั้งในชนบทและในเมือง เป้าหมายก็เพื่อให้คนเหล่านี้มีเงินอยู่ในมือมากๆ

เมื่อมีเงินอยู่ในมือมากๆ ก็สามารถจับจ่ายใช้สอยได้สะดวกตามใจปรารถนามากขึ้น

ผลที่จะสะท้อนกลับก็คือ บรรดาสินค้าต่างๆ อันเป็นของผู้ประกอบการ อันเป็นของนายทุนก็ผลิตได้ขายดีในท้องตลาด สร้างผลกำไรให้กับผู้ประกอบการ เป็นปฏิกิริยาในเชิงสะท้อนกลับหมุนเวียนวงรอบเหมือนกับวัฏจักร

ทั้งหมดนี้คือแนวทางพัฒนาในระบบคู่ขนาน ระหว่างกลุ่มมีกับกลุ่มไม่มี ระหว่างเมืองกับชนบทนั่นเอง

ความแตกต่างในปัญหาวิธีการระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์จึงมิได้เป็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในลักษณะพรรค

เพียงแต่พรรคเพื่อไทยมีวิธีการที่เห็นอกเห็นใจคนยากคนจน คนระดับรากหญ้ามากกว่า

เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์มองไม่ทะลุ มองเห็นแต่ด้านอันเป็นข้อเสีย มองไม่เห็นในด้านอันเป็นข้อดี

ความแตกต่างนี้มิได้แตกต่างเฉพาะระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ หากพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบก็จะมองเห็นความแตกต่างในทางความคิด ระหว่างนายทุนและผู้ประกอบการด้วยกัน

นั่นก็คือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ตื่นตระหนกและไม่เห็นด้วย

นั่นก็คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์อันเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุน

ในที่สุดแล้วการนำเสนอนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนเริ่มต้นปริญญาตรี 15,000 บาท ก็ชำแหละให้เห็นแนวทาง 2 แนวทางของนายทุน ผู้ประกอบการ

แนวทาง 1 เห็นด้วยกับการยกระดับค่าครองชีพของคนระดับรากหญ้า ผู้ใช้แรงงาน คนชั้นกลาง แนวทาง 1 ไม่เห็นด้วยและพร้อมจะคัดค้านหัวชนฝา ไม่เปิดโอกาสให้เลย

แนวทาง 1 เป็นทุนที่พัฒนามองการณ์ไกล แนวทาง 1 เป็นทุนไม่พัฒนา มองการณ์สั้นคับแคบ

สังคมจึงจับตามองการขึ้นมาในฐานะฝ่ายบริหารของพรรคเพื่อไทยด้วยความสนใจเป็นพิเศษ

ประการหนึ่ง ด้วยความหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะสามารถขับเคลื่อนนโยบาย ขณะเดียวกันประการหนึ่ง ด้วยความมั่นใจว่านโยบายนี้จะปรับโครงสร้างการผลิตและการแข่งขันให้พัฒนา

พัฒนาก้าวหน้าไปสู่ความเป็นทุนที่พัฒนา พัฒนาก้าวหน้าไปสู่ความเป็นทุนที่สร้างสรรค์


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์