แบ่งเค็กรมต.ไม่จบเล็งดึงมัชฌิมาคาน


โควตา รมต. เพื่อไทยยังไม่ลงตัว กระทรวงหลักเน้นสายตรง เล็งดึง 'มัชฌิมา' คานอำนาจ 'ชทพ.-ชพน.' คาด โหวตนายกฯ 10 ส.ค.นี้

มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า การจัดสรรโควตารัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาล จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่แล้วเสร็จ โดยในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ยังคงต่อรองจำนวนโควตาที่จัดสรรยังไม่ลงตัว และไม่เว้นแม้แต่ในพรรคเพื่อไทย ที่มีหลายกลุ่มต้องการเข้าไปเป็นรัฐมนตรี โดยเฉพาะกลุ่มภูมิภาค ที่พยายามเดินเกมต่อรองอย่างหนัก เพื่อผลักดันคนในกลุ่มเป็นรัฐมนตรีให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ จะเห็นได้จากการหมุนเวียนเดินสายไปหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงต่างประเทศ และกลุ่มบุคคล ที่ถูกวางตัวเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงหลัก ทั้ง ก.กลาโหม ก.มหาดไทย ก.ต่างประเทศ ก.ยุติธรรม ก.คลัง และก.คมนาคม ต่างก็มีบัญชาตรงมาจากทางไกล ให้เน้นคัดสรรบุคคล ที่ต้องไว้ใจได้ และต่อสายถึงได้ตลอด

“เฉลิม” อยากนั่งรองนายกฯความมั่นคง

นอกจากนี้ ยังมีรายงานถึงความเคลื่อนไหวของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ถูกวางตัวเป็นหนึ่งในรัฐมนตรี แต่ยังไม่ลงตัวว่า จะให้ไปอยู่ในกระทรวงใด โดย ร.ต.อ.เฉลิม ได้เปรยกับคนใกล้ชิดบางคนว่า หากเลือกได้ ไม่อยากไปอยู่กระทรวงมหาดไทย เพราะมีพรรคพวกเยอะ หากไปแล้วต้องไปสั่งย้ายข้าราชการหลายคน ซึ่งแม้จะอยู่คนละขั้วการเมือง ก็คงลำบากใจไม่น้อย


เช่นเดียวกับตำแหน่งประธานสภาฯ แม้จะอยู่ในสายที่ถูกวางตัวไว้ก่อนหน้า ก็ไม่อยากอยู่เช่นกัน เพราะในชีวิตไม่เคยนั่งฟังคน ถนัดแต่พูดให้คนฟัง หากไปอยู่ในตำแหน่งดังกล่าว คงอึดอัดเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ อยากไปอยู่ที่ไหนก็ได้ หากช่วยทำให้หน้าตา "ครม.ยิ่งลักษณ์"  ออกมาดี และถ้าเป็นไปได้ หากได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง คงทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี เพราะรู้จักทั้งนายทหารและนายตำรวจระดับสูงหลายคน เชื่อว่าจะเป็นคนประสานงานให้พรรคเพื่อไทยได้หลายอย่าง


นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยตอบโต้ประเด็นทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้าม ซึ่งจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระให้กับนส.ยิ่งลักษณ์ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

เล็งดึง “มัชฌิมา” คานอำนาจ “ชทพ. - ชพน.”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สมาชิกบ้านเลขที่ 111 และแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้มีการหารือร่วมกันที่อาคารชินวัตร 3 โดยในวงสนทนา ได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง ให้กับคุณหญิงพจมานฟัง


ทั้งนี้ เนื้อหาในวงสนทนาช่วงหนึ่ง ได้มีการพูดถึงการเข้ามาร่วมรัฐบาล ของส.ส.กลุ่มมัชฌิมาของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ด้วย โดยในวงประชุม ไม่ได้มีท่าทีขัดขวางการเข้ามาร่วมรัฐบาล ของกลุ่มนายสมศักดิ์ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า จะดึงเข้ามาร่วมรัฐบาลเมื่อไหร่ ซึ่งเป็นไปได้ที่กลุ่มของนายสมศักดิ์ อาจจะมาร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2 หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 3

อย่างไรก็ตาม ในวงสนทนายังได้ระบุถึงข้อดี ในการดึงกลุ่มนายสมศักดิ์ มาร่วมรัฐบาลว่า ส.ส.ในกลุ่มของนายสมศักดิ์ จะมีส่วนช่วยได้มากในเรื่องการทัดทาน หากพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน เดินเกมต่อรองอย่างหนักด้วย

พท. กางปฏิทิน โหวตนายกฯ 10 ส.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในส่วนของการจัดโควตารัฐมนตรี "ครม.ยิ่งลักษณ์ 1" แกนนำของพรรค และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้หารือกันแล้ว เห็นด้วยว่า จะต้องดึงคนนอกเข้ามาเป็นรัฐมนตรี เพื่อให้โฉมหน้า "ครม.ยิ่งลักณ์ 1" ดูดี ให้สังคมจะได้ประทับใจ


อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้วางตัวว่า ใครจะนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงใด เพราะต้องรอความชัดเจนว่า พรรคร่วมได้จำนวนเสียงกี่ที่นั่ง อีกทั้งยังต้องรอให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เป็นนายกฯอย่างเป็นทางการเสียก่อน


นอกจากนี้ ยังมีการประชุมร่างกรอบนโยบาย เพื่อเตรียมเสนอต่อรัฐสภา ซึ่งมี นายโอฬาร ไชยประวัติ เป็นประธาน ซึ่งได้หารือถึงกรอบนโยบายในด้านพลังงาน บัตรเครดิตเกษตรกร และจำนำข้าว โดยในที่ประชุมได้กางปฏิทิน โดยคาดว่า จะมีการประชุมสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ในช่วงวันที่10 ส.ค.นี้ หลังมีการเลือกตั้งประธานสภาแล้ว


จากนั้น จึงมีการฟอร์ม ครม. อย่างเป็นทางการ และแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในช่วงกลางเดือนส.ค. ดังนั้น การยกร่างนโยบาย จะต้องแล้วเสร็จก่อนเรียกประชุมสภานัดแรก

หารือยุทธศาสตร์นโยบาย ยังไม่เคาะกองทุนน้ำมัน 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะทำงานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธาน ได้มีการหารือถึงมาตรการการแก้ปัญหาด้านพลังงาน และโครงการรับจำนำราคาข้าวเป็นหลัก โดยทีมเศรษฐกิจของพรรค ได้เสนอทางเลือกให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ พิจารณา ถึงแนวทางการแก้ปัญหาด้านพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ


ทั้งนี้ มาตรการมี 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้น ยังเป็นแบบเดิมที่ประกาศไว้คือ ยกเลิกการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันชั่วคราวเพื่อลดรายจ่าย ส่วนจะใช้เวลาเท่าไหร่ ยังไม่ตัดสินใจ เนื่องจากต้องรอให้นโยบายเพิ่มรายได้ ที่พรรคหาเสียงไว้ เดินหน้าเป็นรูปร่างที่ชัดเจนก่อน เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาทเพื่อให้เกิดเสถียรภาพ


ส่วนระยะกลาง และระยะยาว ในเรื่องพลังงาน นอกจากจะต้องมีการใช้พลังงานทดแทนแล้ว ยังมีแนวคิดที่อาจจะต้องลอยตัวพลังงานด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนรู้ต้นทุน และมูลค่าที่แท้จริงด้วย แต่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือมาสนับสนุนด้วยเช่นกัน

ตั้งเป้า 4 ปี แจกแท็ปเล็ต 10 ล้านเครื่อง

ด้านนายภาวิช ทองโรจน์ คณะทำงานด้านการศึกษา พรรคเพื่อไทย และหนึ่งในแคนดิเดตรมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการ one tablet per child ว่า เป็นความตั้งใจของพรรคเพื่อไทยที่จะแจกแท็บเล็ตให้เด็กนักเรียนป.1ที่มีอยู่กว่า 8 แสนคนทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่อง ตามที่ได้ประกาศหาเสียงไว้


ทั้งนี้ จะแจกในปีการศึกษา 1/2555 หรือประมาณช่วงเปิดเทอมเดือนพ.ค.2555 ส่วนเครื่องแท็บเล็ต จะนำเข้าจากประเทศใด ต้องรอดูอีกครั้ง เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไปตลอด แต่ราคาเท่าที่ทราบ หากผู้ค้าทั่วไปได้ยินคงสะดุ้ง เพราะราคาเราจะไม่ให้เกิน 5,000 บาทต่อเครื่อง


อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของพรรคเพื่อไทยใน 4 ปี ตั้งเป้าไว้ถึง 10 ล้าน เครื่อง 10 ล้านคน โดยจะขยายและแจกแท็บเล็ต ไปยังนักเรียนทุกระดับ ทั้งประถม มัธยมและอาชีวศึกษา


นายภาวิช กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้ กำลังศึกษารายละเอียดว่า จะนำส่วนใดมาใช้ โดยไม่กระทบกับโครงสร้างทางการเงิน แต่มีนักวิชาการบางคนเสนอว่า อาจจะนำเงินมาจากภาษีในส่วนของกระทรวงไอซีที ซึ่งก็เป็นได้ แต่ทั้งหมดยังไม่ใช่ข้อสรุป

โดยเราต้องศึกษาให้รอบคอบอีกครั้ง เพื่อทำให้ยั่งยืน และไม่กระทบงบประมาณประจำปี


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์