ฟัดยกสุดท้ายนายกหญิงVSเผาล้างผิด

โค้งสุดท้าย 'พท.' ชู 'นายกฯหญิง-ทำได้จริง-ปรองดอง-ปัดนิรโทษ' ส่วน ปชป. ย้ำแผล 'ที่นี่มีคนเผา-ไม่เอาล้างผิด-ก้าวข้ามทักษิณ'

             นับถอยหลังสู่วันเลือกตั้ง 3 ก.ค.54 การต่อสู้ทางการเมือง เพื่อช่วงชิงเสียงข้างมากจากประชาชนทั้งประเทศ ของพรรคการเมืองทุกพรรค เป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพรรคใหญ่ที่เป็นคู่ชิงชัยโดยตรง อย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์

             ทั้งนี้ แหล่งข่าวระดับสูงจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า กลยุทธ์ในช่วงโค้งสุดท้ายของพรรคเพื่อไทยคือ การปัดข้อกล่าวหาในเรื่องนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ตกไปให้ได้ เพราะทางแกนนำพรรคเพื่อไทย เห็นว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยทำให้ประชาชน หายเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องนี้ไปได้ ก็จะโกยคะแนนได้เป็นกอบเป็นกำ

             "จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา คนของพรรคเพื่อไทยรวมทั้ง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครหมายเลข 1 ปาร์ตี้ลิสต์ ของพรรค และแคนดิเดตนายกฯ ได้เรียงหน้าออกมายืนยันว่า เรื่องนิรโทษกรรม ไม่ใช่นโยบายของพรรครวมทั้งการออกแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยว่า เรื่องนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการใส่ร้ายของพรรคประชาธิปัตย์ โดยพรรคเพื่อไทยไม่มีนโยบายที่จะนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณและคืนเงิน 46,000 ล้านบาท  และถ้าหากได้เป็นรัฐบาลก็จะทำงานโดยยึดมั่นในข้อกฎหมาย หลักนิติธรรมและความเสมอภาค"

ไม่เน้นโต้การเมือง ชูนโยบายเป็นหลัก

             แหล่งข่าวรายเดิม ระบุว่า ในเรื่องของการเมือง พรรคเพื่อไทยจะไม่เน้น โดยเลือกจะตอบโต้ เฉพาะเรื่องที่สำคัญจริง ๆ เท่านั้น ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าชูภาพ ในเรื่องการทำงาน เริ่มจากการแจกแจงว่า พรรคมีนโยบายอะไรบ้าง และใช้ "ทักษิณ" เป็นเครื่องการันตีว่า ทุกนโยบายพรรคทำได้จริง พร้อมไปกับการอธิบายวิธีการทำนโยบายต่าง ๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมแทนว่า จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ หาเงินจากที่ไหน และจะเสร็จภายในเวลากี่ปี

ขายภาพ "ยิ่งลักษณ์" หญิงแกร่ง "เวิร์คกิ้งวูแมน"

            ขณะเดียวกัน ก็เดินหน้าชูภาพ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็น "เวิร์คกิ้ง วูแมน" สร้างภาพเชิงบวกให้กับตัวเองและพรรค ที่ไม่เน้นการตอบโต้ประเด็นทางการเมือง พร้อมกับเดินหน้าชูนโยบาย ที่เป็นการ "ตีขนดหาง" ประชาธิปัตย์ไปในตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารงานที่ล่าช้า ผิดพลาด ล้มเหลว , การคอรัปชั่น , การโยกย้ายไม่เป็นธรรม , และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง-ของแพง ซึ่งแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เอง ก็รู้ดีว่า เป็นจุดอ่อนของตัวเอง

นอกจากนี้ ก็จะเน้นการสร้างภาพลักษณ์ เน้นการปรองดอง สามัคคี ด้วยวลี "แก้ไข-ไม่แก้แค้น"


ทิ้งพื้นที่หมดหวัง ลุยพื้นที่มีโอกาส

             แหล่งข่าวระดับสูงจากพรรคเพื่อไทยรายนี้ บอกด้วยว่า ทางพรรคจะดูผลโพลล์ของพรรคประกอบการลงพื้นที่หาเสียง โดยหากพื้นที่ไหนคะแนนของพรรคเกิน 50 % และพื้นที่ไหนที่ไม่มีทางจะทำให้คะแนนดีขึ้นกว่าเดิมได้ ก็จะตัดทิ้ง ไม่ไปลงพื้นที่นั้นซ้ำอีก โดยจะเอาเวลาที่เหลือ ไปเน้นพื้นที่ที่สูสีส่วนพื้นที่ที่สูสี จะประเมินว่า อำเภอไหนที่ตามคู่แข่ง จะให้ผู้สมัครเดินเคาะประตูบ้านและเพิ่มหัวคะแนนให้มากขึ้นแหล่งข่าวรายนี้ บอกว่า การขึ้นปราศรัยบนเวทีในช่วงโค้งสุดท้าย คนของพรรคเพื่อไทย จะเน้นย้ำว่า ทุกนโยบายที่พูดนั้น ทำทุกนโยบายแน่นอน และไม่พูดถึงผลโพลล์ที่ออกมาว่า น่าจะได้ส.ส.กี่คน เพื่อไม่ให้เกิดกระแสตีกลับขึ้นได้

             "ช่วงโค้งสุดท้าย เป็นช่วงเวลาที่พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ โดยขยันลงพื้นที่ ทั้งนี้ ก็เพื่อรักษาการนำไว้ให้ได้ และให้ถึงเป้าหมายคือ ได้เสียงเกิน 250 เสียง เพื่อตัดปัญหาการแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาล จากพรรคการเมืองที่ได้อันดับสอง" แหล่งข่าวรายนี้ ระบุ

ปชป. เดินหน้าย้ำแผล "ที่นี่มีคนเผา-ล้างผิด"

             ด้านแหล่งข่าวระดับสูง จากพรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึง "กลยุทธ์" โค้งสุดท้ายของพรรคว่า การโหมกระหน่ำข้อมูล ในลักษณะ “ที่นี่มีคนเผา” หรือ “ไม่ล้างผิดให้ใคร” และ "ก้าวข้ามทักษิณ เลือกประชาธิปัตย์" คือยุทธวิธีที่พรรคประชาธิปัตย์เลือกใช้ ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงทั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้สังคม เกิดกระแสหวนระลึกถึงเหตุการณ์ไม่สงบเมื่อปี 53 และหวังขยายอารมณ์ “ไม่นิรโทษกรรม
             ” พร้อมไปกับการที่พรรคประชาธิปัตย์ เสนอตัวเป็นผู้ “ ดับไฟประเทศ ปฏิเสธความรุนแรง” ด้วยความคาดหวังว่า จะดึง “พลังเงียบ” ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะเลือกพรรคไหนจากทั่วประเทศ ที่มีอยู่ประมาณ 40 เปอร์เซนต์ ให้หันมากาคะแนนให้กับพรรคประชาธิปัตย์

ชู "จำลองโมเดล" ผ่านวทกรรมเด็ก "พาคนไปตาย"

             "วิธีการแบบนี้ ถือเป็นไม้ตายของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเคยประสบความสำเร็จมาแล้วเมื่อครั้งเอาชนะ "จำลองฟีเวอร์" ได้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 35 จากการชูวาทกรรมที่แหลมคมคือ“มหาพาคนไปตาย”" แหล่งข่าวรายนี้ ระบุ

แหล่งข่าว กล่าวว่า ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์ จะเลือกจังหวะเล่นเรื่องการเมือง ได้เลือกใช้วิธีลงพื้นที่พบปะประชาชนเป็นกลุ่ม ๆ ซึ่งล้วนได้ประโยชน์จากนโยบายต่าง ๆ ด้วยแคมเปญ " เดินหน้าต่อไป ด้วยนโยบายประชาชน"  ที่ได้ผลในระดับหนึ่ง และมีการประเมินถึงตัวเลขของ ส.ส.ระบบเขต ที่ส่วนใหญ่จะนิ่งแล้ว ซึ่งหมายความว่า ถึงอย่างไรตัวเลขของส.ส.เขตของพรรค ก็ไม่น่าจะเพิ่มกว่านี้มากนัก และยังตามหลังพรรคเพื่อไทยอยู่

             ดังนั้น จึงหันมาจุดประเด็นโจมตีทางการเมือง ซึ่งเป็นสไตล์ถนัด โดยหวังว่าจะตีตื้นขึ้น ซึ่งการโหมกระแสเปรียบเทียบชัด ๆ ระหว่าง เลือก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กับเลือก “ยิ่งลักษณ์” ได้ “ทักษิณ ชินวัตร” ให้ประชาชนได้มีความรู้สึกร่วมไปด้วย ก็เพื่อเพิ่มคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ และเพิ่มแรงบวกในเขตเลือกตั้งที่ยังสูสี

ระบุ ตอกตะปู ไม่เอา "แม้ว" พร้อมชู ดับไฟประเทศ-ปฏิเสธความรุนแรง

             "เสียงปราศรัยจากเวทีราชประสงค์ ที่พุ่งเป้าไปยัง “ทักษิณ” และผูกโยงความคิดจากการบงการความวุ่นวายเมื่อปีที่ผ่านมา และคดีความ 4.6 หมื่นล้าน จึงประหนึ่งเสียงนกหวีดให้สมาชิกพรรคในแต่ละพื้นที่รับทราบ เพื่อนำประเด็นไปขยายผลสู่วงกว้าง จะเห็นได้ว่าสัปดาห์นี้ สติ๊กเกอร์ "ไม่ล้างผิดให้ใคร" ตอกย้ำไม่เอาทักษิณ ถูกปิดทับบนป้ายหาเสียงของพรรค พร้อมไปกับโปสเตอร์ชุดใหม่ “ดับไฟประเทศ ปฏิเสธความรุนแรง” ที่กำลังเผยแพร่ เช่นเดียวกับการผลิตวีซีดี แผ่นพับการปราศรัยที่ราชประสงค์ที่ถูกจำหน่ายจ่ายแจกไปทั่วประเทศ"

             แหล่งข่าวรายเดิม บอกด้วยว่า นับจากนี้ บรรดาผู้สมัครในเขตต่าง ๆ จะลดน้ำหนักการปราศรัยในด้านนโยบายให้น้อยลง แต่จะเพิ่มน้ำหนัก และพูดแต่ประเด็นที่พรรคเลือกมาแล้วให้มากขึ้น โดยเฉพาะการลดความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทย ด้วยการให้ข้อมูลแก่ประชาชนที่แสดงให้เห็นว่า ถึงจะอย่างไรพรรคเพื่อไทย ก็จะไม่มีทางเป็นตัวของตัวเองและบริหารประเทศได้ เพราะต้องไปล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และสุ่มเสี่ยงต่อการถูกคนเสื้อแดงควบคุมพรรค

ลั่น ปั่นกระแส พท. "นอมินี" ลุยพื้นที่ กทม. เป็นหลัก

             ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะปั่นกระแสเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงวันเลือกตั้ง พร้อม ๆ กับบีบให้ฝ่ายตรงข้าม ต้องอยู่ในวังวน และโต้ตอบในประเด็นที่ตัวเองกำหนดขึ้นอย่างปฏิเสธได้ยาก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ที่ยุทธวิธีเช่นนี้ จะยิ่งเข้มข้นกว่าที่อื่น ๆ
            

             แหล่งข่าวบอกด้วยว่า ขณะที่ในมุมของการลงพื้นที่หาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย พรรคแบ่งพื้นที่ไว้เป็น 3 ส่วน คือ 1.พื้นที่ที่มั่นใจว่าชนะแน่ พรรคประชาธิปัตย์ จะพยายามรักษาคะแนนไว้โดยกำชับให้ผู้สมัครลงพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อคงความนิยม 2. พื้นที่ที่ผลสำรวจยังสูสีหรือเคยมี ส.ส.เก่าแต่คะแนนยังเป็นรอง พรรคจะส่งแกนนำของพรรคเพื่อลุยขอคะแนนเสียงอย่างหนัก อันเห็นได้จากพื้นที่ในภาคอีสานตอนล่าง กลาง เหนือตอนล่างที่หัวหน้าพรรคไปช่วยหาเสียงด้วยตัวเองมากกว่า 1 ครั้งและ 3. พื้นที่ที่ดูอย่างไรก็ชนะยากก็จะตัดทิ้ง และหลังจากนั้น จะขมวดทั้งหมดเพื่อปูพรมไปสู่การปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้าย ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยจะถ้่ายทอดจากลานพระบรมรูปทรงม้า ไปสู่ใน 10 หัวเมืองทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์