ประวิตรสบช่องคุยเขมรแก้ปมชายแดน

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 พ.ค.ที่กองทัพบก พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม
 
เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 18 – 20 พ.ค. 2554 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมปลัดกระทรวงกลาโหมและคณะนายทหาร จะเดินทางเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 5 ( ADMM 5) ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยเป็นการหารือร่วมกันของรมว.กลาโหมของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองทัศนะในประเด็นด้านความมั่นคงและการทหาร สร้างความมั่นคงในระดับภูมิภาค โดยมุ่งเน้นบทบาทของอาเซียนในการเข้าไปมีส่วนแก้ไขปัญหาร่วมกับนานาชาติในพื้นที่ต่างๆ อาทิ การส่งหมู่เรือเข้าร่วมปราบปรามโจรสลัดบริเวณอ่าวเอเดน ซึ่งในที่ประชุมฯ จะพิจารณาวาระสำคัญต่างๆ 4 เรื่อง คือ

1.แผนปฏิบัติการ 3 ปี ในกรอบ ADMM ระหว่าง 2554 – 2556 2.เอกสารแนวความคิดการจัดตั้งเครื่องข่ายศูนย์รักษาสันติภาพอาเซียน 3.เอกสารแนวความคิดว่าด้วยความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และ 4.ปฏิญญาร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศของอาเซียนในประชาคมโลกเพื่อเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่

 พ.อ.ธนาธิป กล่าวว่า นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมไทยจะหารือทวิภาคีกับ 6 ประเทศ
 
คือ อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ในประเด็นสำคัญความสัมพันธ์และความร่วมมือทางทหาร , ความปลอดภัยในพื้นที่ตามแนวชายแดน รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมั่นในสมาคมภูมิภาคอาเซียน , โครงการแลกเปลี่ยนทางทหารในทุกระดับระหว่างกัน , การฝึกอบรมและการฝึกศึกษาระหว่างประเทศ ซึ่งในการหารือระดับทวิภาคีกับประเทศกัมพูชาอาจจะมีพูดคุยถึงปัญหาตามแนวชายแดน การสร้างความปลอดภัยบริเวณพื้นที่ชายแดน เพื่อให้ประชาชนกลับมามีชีวิตตามปกติ และมีการค้าขายตามแนวชายแดนเช่นเดิม โดยการพูดคุยครั้งนี้จะไม่มีการพูดคุยถึงการถอนทหารออกจากพื้นที่ และการให้ผู้สังเกตการณ์จากประเทศอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่แต่อย่างใด ทั้งนี้ในกรอบการหารือ รมว.กลาโหม ย้ำชัดถึงนโยบายว่า ประเทศเพื่อนบ้านจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ต้องให้มีการเจรจาเร็วที่สุด พร้อมยืนยันว่า ประเทศไทยไม่เคยรุกรานใคร แต่ใครอย่ามารุกรานเราก่อน ซึ่งรมว.กลาโหม อยากให้ความสำคัญ กับทุกประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน

 พ.อ.ธนาธิป กล่าวว่า ผลจากการได้เข้าร่วมประชุมกับประเทศสมาชิกอาเซียน
 
รวมทั้งการหารือทวิภาคีกับประเทศในกลุ่มอาเซียนนั้น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคง เพิ่มบทบาทและขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ทหารของอาเซียนในด้านต่างๆและความร่วมมือระดับประชาคมอาเซียนนี้ นับเป็นแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือร่วมใจในภูมิภาคให้เข้มแข็งทัดเทียมกับประเทศในภูมิภาคอื่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลที่ดีต่อสังคมและประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวม


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์