ปชป.ชักแถวร้องพรรคเล็กตบตาจี้ กกต.ตรวจสอบ-ลงอาญา

ปชป.ชักแถวร้องพรรคเล็กตบตาจี้ กกต.ตรวจสอบ-ลงอาญา

ปชป.ชักแถวร้อง กกต.สอบคุณสมบัติพรรคเล็ก พร้อมจี้ กกต.ดำเนินคดี ด้านเด็ก ทรท.ส่อโดนถอนสิทธิ เหตุไม่ไปใช้สิทธิ มหาชนงัดหลักฐานคน ทรท.ดอดสังกัดพรรคเล็กย้อนหลัง "ปริญญา" เชื่อคุณสมบัติไม่ครบน่าจะมีอีกเพียบ

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติถอนสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคไทยรักไทยคนแรกแล้ว ท่ามกลางการเรียกร้องให้พิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครจากพรรคขนาดเล็ก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม กกต.เมื่อวันที่ 13 มีนาคม มีผู้สมัคร ส.ส.ภาคกลางที่ กกต.เพิกถอนสิทธิการสมัคร ได้แก่ นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรสาคร เขต 3 พรรคไทยรักไทย เนื่องจากนายอุดมไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากนายอุดมไม่เห็นด้วยกับการเพิกถอนสิทธิการสมัคร ก็สามารถร้องต่อศาลฎีกา เพื่อให้ทบทวนได้ภายใน 7 วัน

นายปริญญา นาคฉัตรีย์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติและการสังกัดพรรคของผู้สมัครพรรคเล็กว่า ได้รับเรื่องไว้และรวบรวมข้อมูล คาดว่าจะมีจำนวนมากพอสมควร แต่ไม่สามารถประกาศให้ภายนอกทราบได้ โดย กกต.จะประกาศรายชื่อผู้สมัครภายใน 7 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม หากมีการส่งข้อมูลเข้ามา กกต.ก็จะรวบรวมและตรวจสอบส่งให้ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิการสมัครต่อไป และหากเขตใดผู้สมัครคู่แข่งถูกเพิกถอนและเหลือผู้สมัครคนเดียว ก็ต้องยึดหลักให้ได้คะแนนถึง 20% ตามที่กฎหมายกำหนด แต่หากไม่ได้ กกต.ก็จะจัดเลือกตั้งต่อไปจนกว่าจะได้ ส.ส.ในเขตนั้น

ต่อกรณีของ พระเปรมศักดิ์ เปมสกฺโก (เพียยุระ) อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย นายปริญญา กล่าวว่า การเลือกตั้งต้องเดินหน้าต่อไป แต่ผู้สมัครบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทยจะเหลือ 99 คน กกต.ก็ยังไม่ได้ตัดสิทธิพระเปรมศักดิ์ออกจากบัญชีรายชื่อ แต่เมื่อพระเปรมศักดิ์ลาอุปสมบท ก็จะขาดความเป็นสมาชิกภาพของพรรคไทยรักไทย ซึ่งกฎหมายระบุว่า หากขาดคุณสมบัติของผู้สมัคร ก็จะไม่สามารถเพิ่มเติมรายชื่อทีหลังได้ ฉะนั้น พรรคไทยรักไทยจึงมีผู้สมัครเพียง 99 คน

ส่วนหากพรรคไทยรักไทยได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพียงพรรคเดียว กกต.ก็จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุม ส่วนตัวคิดว่าเหตุดังกล่าวคงไม่ใช่เรื่องที่ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาในเรื่องนี้อยู่ที่ว่า หากมี ส.ส.ไม่ครบ 500 คน ก็ไม่สามารถเปิดประชุมนัดแรกได้ หากไม่ครบเราต้องมาคิดว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนคนที่จะตีความต้องเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญ เพราะผู้ร่างกฎหมายก็คงไม่ได้คิดเรื่องดังกล่าว

ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกฯ ระบุว่า พรรคประชากรไทยอาจได้คะแนนแบบบัญชีรายชื่อเกิน 5% จะเป็นการส่งสัญญาณโอนคะแนนหรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า เรื่องการเลือกตั้งและการลงคะแนนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน การจะไปบังคับให้ใครไปเลือกใครคงเป็นไปไม่ได้ เพราะประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะเลือก ส.ส.คนไหน

"ที่สงสัยว่าเป็นการส่งสัญญาณให้ กกต.ช่วยเหลือพรรคประชากรไทยก็เป็นไปไม่ได้ เพราะ กกต.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง และ กกต.ก็จะจับตาดูทุกกรณีที่สังคมเกิดความสงสัย อย่างไรก็ตาม กกต.มีอำนาจเท่าที่กฎหมายกำหนด" นายปริญญา กล่าว

สุวโรชร้อง กกต.สอบคุณสมบัติ 3 ผู้สมัคร

ทั้งนี้ นายสุวโรช พะลัง คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมาที่สำนักงาน กกต.กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการพรรคให้นำเอกสารเพื่อขอให้ กกต.สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีของ น.ส.นิภา จันทร์โพธิ์ น.ส.รัชนู ต่างสี นายสุวิทย์ อบอุ่น ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ในเขตเลือกตั้งที่ 1, 2 และ 4 จ.ตรัง ซึ่งแถลงข่าวไปแล้วว่า รับเงินมา 3 หมื่นบาท

นายสุวโรช กล่าวต่อว่า อยากฝากบอกไปยัง ผอ.กกต.เขตต่างๆ ว่าไม่ใช่มีเพียงพรรคการเมืองนี้พรรคเดียวเท่านั้นที่ทำแบบนี้ แต่ยังมีอีกหลายพรรค เช่น พรรคไทยช่วยไทย พรรคแผ่นดินไทย พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคประชากรไทย พรรคคนขอปลดหนี้ ที่ส่งผู้สมัครลงใน 56 เขตเลือกตั้งของภาคใต้ จึงเรียกร้องให้ช่วยตรวจสอบเรื่องคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรค 90 วันให้ดี เพราะหลักฐานที่ได้การรับรองจาก กกต.กลาง ขณะนี้ไม่ปรากฏว่าผู้สมัครหลายคนได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคที่ตนลงสมัคร และจะส่งผลให้คุณสมบัติในการลงสมัครไม่ครบถ้วน

นายสุวโรช กล่าวต่อว่า กกต.จังหวัดจะดูแค่เรื่องหัวหน้าพรรคเซ็นรับรองอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะอาจจะมีการสมยอมขึ้นมา ซึ่งหลักฐานแค่นั้นคงไม่พอ กกต.เขตต้องสอบถามมาที่ กกต.กลาง เพราะ กกต.กลางทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว ผอ.เขต ขอให้ระวัง ต้องดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย ถือว่าหมิ่นเหม่ว่าเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และได้แจ้งความที่ สน.ปทุมวันไว้แล้วด้วย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาตรวจสอบเจ้าหน้าที่ กกต. และไปสอบปากคำที่พรรคไทยช่วยไทยด้วย

นอกจากนี้ พรรคจะส่งหลักฐานไปให้ ผอ.เขตทั้ง 56 เขตในภาคใต้ทั้งหมด และต้องให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละเขตไปยื่นคำร้องคัดค้านที่เขตเลือกตั้งแต่ละเขต เพื่อให้ ผอ.เขตทราบ ซึ่งจะทำก่อนที่จะประกาศรับเป็นผู้สมัครในวันที่ 15 มีนาคม ส่วนประธาน กกต.จะดำเนินการอย่างไร ก็เป็นดุลพินิจของท่าน และพรรคจะตรวจสอบต่อไป

ดักคอทักษิณอย่าฮั้วพรรคเล็ก

นอกจากนี้ นายสุวโรชยังกล่าวถึงกรณีที่ พระเปรมศักดิ์อุปสมบทและลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยว่า ส่วนตัวแสดงความชื่นชมที่หมอเปรมลาบวช คิดว่าสิ่งที่ทำเป็นคุณงามความดีที่เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศมองเห็น ขอให้ น.พ.เปรมศักดิ์ ได้ส่วนบุญส่วนกุศลที่บวชครั้งนี้

นายสุวโรช กล่าวว่า กรณีนี้โดยหลักแล้ว หากได้ ส.ส.ไม่ครบ 500 คน ก็ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ได้คุยกันเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของ กกต.ที่จะต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร และตอนนี้ยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง จึงยังพูดอะไรไม่ได้ แต่ขอตั้งข้อสังเกตที่นายกรัฐมนตรีพูดว่า พรรคประชากรไทยอาจจะได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ถึง 5% ตรงนี้ต้องะวัง อย่าไปทำพฤติกรรมอะไรที่เป็นลักษณะการฮั้ว หรือเทคะแนน เพื่อให้ได้ ส.ส.ครบ 500 เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการคนที่มีจริยธรรม คุณธรรม มีความโปร่งใส อย่างไรก็ตาม มองว่าหลักของกฎหมายดีแล้ว

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม แกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลายคนได้เข้าพบ กกต.จังหวัด เพื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่ส่งสมัครในจังหวัดภาคใต้ เพราะเชื่อว่าหลายคนมีคุณสมบัติไม่ครบ

ที่ จ.สงขลา นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เตรียมนำหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับผู้สมัครพรรคเล็กเข้าร้องเรียน กกต.จังหวัด หลังจากที่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร 22 คนแล้วพบว่าน่าจะไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ครบ 90 วัน และเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเกินหนึ่งพรรค

"ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ารายหนึ่ง หัวหน้าพรรคได้เซ็นอนุมัติให้เป็นสมาชิกพรรคลำดับที่ 011675 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 ทั้งๆ ที่มีการสมัครจริงวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา ล่าสุดมีผู้สมัครที่รู้ตัวว่ากระทำความผิดและกลัว พยายามให้ญาติพี่น้องติดต่อเจรจาเพื่อถอนการลงสมัครแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นถึงการทุจริตนับตั้งแต่การลงสมัคร" นายวิรัตน์ กล่าว

นายไพฑูรย์ เจ๊ะแฮ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ขณะนี้ กกต.สงขลา ได้เร่งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครทั้ง 8 เขตอย่างเร่งด่วนแล้ว ยอมรับว่าจากการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ทั้ง 8 เขตในขั้นต้นพบว่ามีผู้สมัครบางคนขาดคุณสมบัติเรื่องการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองจริง แต่เป็นหน้าที่ของ ผอ.เขตเลือกตั้งแต่ละเขตว่าจะพิจารณาเอาความผิดกับผู้สมัครอย่างไร

"กรณีเช่นนี้หาก ผอ.เขตเลือกตั้งต่างๆ พบว่าผู้สมัคร ส.ส.ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรค หรือมีความผิดในด้านอื่นๆ จริง กกต.จังหวัดก็ต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้พิจารณาในลำดับต่อไป และหากศาลเห็นว่าผู้สมัคร ส.ส.รายดังกล่าวมีความผิดจริง ก็จะต้องพิจารณาในการสั่งดำเนินคดี" นายไพฑูรย์ กล่าว

นครฯ จี้สอบ10เขตรวม 53 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สายวันเดียวกัน แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ นายวิทยา แก้วภราดัย นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ นำเอกสารการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช 10 เขต รวม 53 คน จาก 8 พรรคการเมือง เข้าร้องเรียนต่อนายสมพุทธ ธุระเจน กกต.นครศรีธรรมราช เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย

นายวิทยา กล่าวว่า ทีมงานของพรรคได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร โดยเฉพาะใน จ.นครศรีธรรมราช ทั้ง 10 เขต ปรากฏว่ามีบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติอยู่ทั้ง 10 เขต บางเขตแค่ผู้สมัครจากไทยรักไทยเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อที่มีการตรวจสอบ ยังไม่ปรากฏในฐานข้อมูลของ กกต.

ยกตัวอย่างเขต 1 นครศรีธรรมราช มีผู้สมัครจากพรรคอื่น 2 คน คือ น.ส.ชิษณุชา จันทร์เอียด ที่ระบุว่าเป็นสมาชิกประชากรไทย แต่จากฐานข้อมูลไม่ปรากฏว่าเป็นสมาชิกพรรคใด คนต่อมาคือ นายตฤณ อินทวงศ์ สังกัดพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า แต่เมื่อตรวจสอบไม่พบเช่นกัน และเท่าที่ตรวจสอบอย่างน้อย 3 เขตเลือกตั้ง ที่จะมีผู้สมัครจากไทยรักไทยเพียงพรรคเดียว" นายวิทยา กล่าว

สตูล-กระบี่ก็ส่อเค้าขาดคุณสมบัติ

ส่วนที่ จ.สตูล น.พ.อสิ มะหะมัดยังกี อดีต ส.ส.สตูล พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าพบนายเรืองชัย จงสงวน ประธาน กกต.สตูล พร้อมมอบหลักฐานเพิ่มเติมกรณีที่ผู้สมัคร ส.ส.สตูล เขต 1 ขาดคุณสมบัติ เพราะมีผู้สมัครหนึ่งรายสังกัดพรรคเกิน 2 พรรค อีกคนหนึ่งสังกัดพรรคไม่ถึง 90 วัน

นายอาคม เอ่งฉ้วน กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้มายื่นหนังสือให้ตรวจสอบผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.กระบี่ ด้วยเช่นกัน โดยยื่นเรื่องให้นายสมชาย เชี่ยวชาญ หัวหน้างานสืบสวน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำ จ.กระบี่ ระบุว่า ผู้สมัครเขต 1, 2 และ 3 ขาดคุณสมบัติ

กกต.สุราษฎร์ฯ เตรียมตัดสิทธิ 11 ผู้สมัคร

นายโชคชัย ผลวัฒนะ ผอ.กกต.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.สุราษฎร์ธานี 21 คน ขณะนี้ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ ต้องรอการตรวจสอบอีกระยะหนึ่ง และจากผลการตรวจสอบฐานข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีผู้สมัคร 11 คน ของทั้ง 6 เขต ที่อาจจะเข้าข่ายถูกตัดสิทธิ

นายโชคชัย ให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีปัญหา 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดและเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ถึง 90 วัน 2.มีรายชื่ออีกพรรคการเมืองหนึ่ง แต่สมัครในนามของอีกพรรคการเมืองหนึ่ง และ 3.เป็นสมาชิกพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งพรรคการเมือง ซึ่งต้องรอการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

มหาชนแฉพิรุธ 9 ผู้สมัคร 3 พรรคเล็ก

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการพรรคมหาชน กล่าวว่า จากการตรวจสอบรายชื่อผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบความผิดปกติหลายอย่าง ซึ่งคิดว่า กกต.น่าจะเร่งดำเนินการให้ถูกต้อง คือ จ.พิจิตร เขต 3 ที่พรรคไทยรักไทยส่ง นายนาวิน บุญเสรฐ ลงสมัคร และมีนายบุญเกียรติ เวชยากิจ ลงแข่งในนามพรรคไทยช่วยไทย แต่กลับพบว่านายบุญเกียรติ เคยเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย และเคยลงแข่งกับนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ อดีต ส.ส.พรรคมหาชน ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 มาก่อน

"ที่สำคัญยังมีสิ่งที่ผิดสังเกตมาก คือ พรรคไทยช่วยไทย ระบุว่า นายบุญเกียรติเป็นสมาชิกพรรคตั้งแต่วันที่ 1 เดือนพฤศจิกายน 2548 แต่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของ กกต.กลับระบุว่า นายบุญเกียรติเป็นสมาชิกพรรคตั้งแต่วันที่ 11 เดือนมกราคม 2548 แสดงว่ามีการแจ้งมั่วในเรื่องการเป็นสมาชิกย้อนหลัง"

ผู้อำนวยการพรรคมหาชน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้พรรคได้รับหนังสือจาก กกต. สอบถามการเป็นสมาชิกพรรคมหาชนของผู้สมัครจากพรรคไทยช่วยไทย จ.สตูล เขต 1 คือ นายมหิดล ตุมลักษณ์ ผู้สมัครจากพรรคคนขอปลดหนี้ จ.พัทลุง เขต 3 คือ นายประยูร สะแหละ และผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร เขต 2 คือ นายไต้หวัน คำสร้าง ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่าผู้สมัคร 2 คนแรกยังเป็นสมาชิกพรรคมหาชนอยู่ และพรรคจะแจ้งให้ กกต.ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม นอกจากผู้สมัครดังกล่าวแล้ว ยังพบว่ามีผู้สมัครอีก 7 คน ซึ่งลงสมัครในภาคใต้ในนามพรรคการเมืองอื่น ยังมีรายชื่อเป็นสมาชิกพรรคมหาชนอยู่ ซึ่งพรรคจะรอให้ กกต.สอบถามเพิ่มเติมมาอีก เพื่อจะยืนยันการเป็นสมาชิกกลับไป ทั้งนี้ ผู้สมัครดังกล่าวเป็นสมาชิกเก่าแก่มาตั้งแต่พรรคมหาชนยังใช้ชื่อว่าพรรคราษฎร เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อพรรค และกรรมการบริหารพรรค ทั้งหมดยังไม่ได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคเลย อย่างนี้ถือว่าทั้งหมดเป็นสมาชิกหลายพรรคการเมืองในเวลาเดียวกัน ขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้ง

ถอนสิทธิผู้สมัครพรรคพัฒนาชาติไทย

นายกนกศักดิ์ แสงเงินอ่อน ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จากการตรวจสอบเอกสาร ประกอบการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของ พ.อ.เด็ดดวง ณ สงขลา ซึ่งเข้ายื่นสมัคร ส.ส.ลำปาง เขต 3 ในนามพรรคพัฒนาชาติไทย พบว่า พ.อ.เด็ดดวง ไม่มีคุณสมบัติครบตามมาตรา 107 (4) โดยเป็นบุคคลต้องห้ามรับสมัคร เนื่องจากไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเกิน 90 วัน

ทั้งนี้ กกต.ลำปางได้เพิกถอนสิทธิการสมัคร เมื่อวันที่ 10 มีนาคม และล่าสุด พ.อ.เด็ดดวง ได้เข้าพบ กกต.เพื่อติดต่อขอรับเอกสารบางส่วนคืน และแจ้งว่าจะยื่นร้องต่อศาลเพื่อพิจารณาตามสิทธิซึ่งผู้สมัครสามารถกระทำได้ โดยต้องยื่นร้องต่อศาลภายใน 7 วันนับจากวันถูกถอนสิทธิ

ทรท.ให้กกต.ตัดสินหากปาร์ตี้ลิสต์ไม่ครบ

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหากรณีที่ ส.ส.ในสภาอาจไม่ถึง 500 คน เนื่องจากพระเปรมศักดิ์ ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคว่า ต้องดูผลการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน ว่า พรรคใดจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อกี่คน ซึ่งหากพรรคไทยรักไทยได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ก็อยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศผลว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อจะมีจำนวนเท่าใด เนื่องจากพระเปรมศักดิ์ ขาดคุณสมบัติทั้งการบวชและลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งเป็นอำนาจของ กกต.ว่าจะประกาศให้ได้ 100 คน หรือ 99 คน

อย่างไรก็ตาม หากประกาศว่ามีจำนวน 99 คน ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ระบุว่าจะเพิ่มเติม ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อได้อย่างไร และยังเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่ต้องพิจารณาว่า เมื่อ ส.ส.ไม่ครบ 500 คน โดยเฉพาะระบบบัญชีรายชื่อจะประกาศให้มีพระราชกฤษฎีกาให้เปิดประชุมสภาภายใน 30 วันได้อย่างไร และเมื่อสภามีจำนวนไม่ครบ 500 คน จะปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า หากเทียบเคียงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณี ส.ว.ได้รับการเลือกตั้งไม่ถึง 200 คน แต่ในส่วนของ ส.ส.แตกต่างจากวุฒิสภาตรงที่กรณี ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่มีทางครบ 100 คนได้ และรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องเปิดประชุมรัฐสภาภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญก็มีบทบัญญัติรองรับไว้ในมาตรา 7 ว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในกรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอพระราชกฤษฎีการเปิดสมัยประชุมสภา จึงต้องคิดแล้วว่า เมื่อใกล้ครบ 30 วัน แต่ ส.ส.บัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ครบจะดำเนินการอย่างไร เพราะ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่มีทางครบ 100 คนได้ เนื่องจากกฎหมายไม่เปิดโอกาสให้สมัครหรือเลือกเข้ามาใหม่ได้

ส่วนมาตรา 101 ที่ระบุว่า กรณีที่มีเหตุใดๆ ทำให้ในระหว่างอายุของสภามีสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ถึง 100 คน ให้สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ซึ่งหมายความว่า ต้องมี ส.ส.บัญชีรายชื่อครบจำนวนแล้ว และต่อมามีคนพ้นจากตำแหน่งจึงยึดตามจำนวนเท่าที่มีอยู่ ดังนั้น มาตราดังกล่าวจึงใช้ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกฎหมายพรรคคงไม่ไปหารือกับ กกต. เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่ต้องตัดสินใจเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์