นายกฯยันไทยไม่ยึดติดต้องมีโรงไฟฟ้าปรมาณู


นายกฯ ตอบกระทู้สดยันไทยไม่ยึดติด ต้องมีโรงไฟฟ้าปรมาณู มีเวลาตัดสินใจอีก 2 ปี ระบุสั่งจนท.ที่เกี่ยวข้องศึกษาหาทางออกแล้ว ย้ำชัดพร้อมใช้กรณีญี่ปุ่นมาศึกษา


ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้สดถามนายกฯเรื่อง แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากประเทศญี่ปุ่นต่อประเทศไทยว่า กรณีภัยพิบัติสึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับคนไทย รัฐบาลมีนโยบายการเตรียมการป้องกันกัมมันตภาพรังสีและนโยบายด้านพลังงานของประเทศอย่างไร และสำหรับสถานการณ์สารปนเปื้อนกัมมันตรังสีในอาหารและผลิตภัณฑ์ของประเทศญี่ปุ่นมีผลกระทบกับประเทศไทยอย่างไรและมีนโยบายดูแลอย่างไร

นายสมบูรณ์ ถามว่า มีเรื่องที่เป็นความกังวลของประชาชนเรื่องสารปนเปื้อนที่กลัวกันว่าจะมายังประเทศไทย รัฐบาลมีมาตรการป้องกันอย่างไร และจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทยมีแนวคิดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยมีแผนจะสรุปว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าที่ใดระหว่างปี 2554-2556 ก่อนจะก่อสร้างในปี 2557 จากสถานการณ์รัฐบาลมีแนวคิดหรือนโยบายการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างไร

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า กรณีสารปนเปื้อน การตรวจสอบได้ดำเนินการ 3 ทาง คือ อากาศ อาหารและคน สำหรับอากาศ มีสถานีที่ตรวจกัมมันตภาพรังสีในอากาศ โดยขณะนี้ยังไม่พบระดับรังสีที่เป็นอันตราย โดยหลังเกิดเหตุกาณ์ยังได้ให้ใช้เครื่องมือทำการสุ่มตรวจสินค้าที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นเพิ่มเติมจากจุดตรวจชายฝั่งทะเลตะวันออกโดยเพิ่มจุดตรวจที่ท่าเรือคลองเตย โดยจนถึงขณะนี้ยังไม่พบระดับของสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย ส่วนการตรวจสอบคนที่เดินทางมาจากประเทศญี่ปุ่น ได้ดำเนินการที่สนามบิน โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ร่วมกันตรวจสอบผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ขอยืนยันว่ารัฐบาลได้ดำเนินการตรวจสอบโดยมีกลไกติดตามที่ละเอียดรอบคอบ

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย รัฐบาลได้สั่งให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติจัดทำแผนสำรองไว้อยู่แล้ว โดยรัฐบาลไม่ได้ยึดติดว่าต้องมีโรงไฟฟ้าพลังปรมาณู โดยให้มีทางเลือก 2 ทาง คือ กรณีมีกับไม่มีโรงไฟฟ้า อย่างไรก็ดีตามตารางเวลาเรายังมีเวลาอีก 2 ปี ในการพิจารณาตัดสินใจรายละเอียดเรื่องนี้ โดยรัฐบาลจะนำกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจในเรื่องนี้ด้วย

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ภัยสึนามิที่เคยเกิดขึ้นถือว่าระบบเตือนภัยเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาจุดเตือนภัยบางจุดอยู่ไกลเกินไป บางจุดไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ รวมถึงเส้นทางและอาคารหลบภัยที่ต้องเตรียมรองรับเพื่อลดความสูญเสียจึงขอรับทราบมาตรการป้องกันภัยสึนามิในประเทศไทย

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดสึนามิในปี 2547 รัฐบาลได้พัฒนาระบบเตือนภัยและปรับปรุงกฎหมายบูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงานโดยรัฐบาลได้ถือเป็นเรื่องสำคัญโดยมีการซ้อมเหตุการณ์และปรับปรุงระบบเตือนภัยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ให้ความสนใจเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ร่วมไปกับการประสานกับต่างประเทศเพื่อประสานงานกับองค์กรต่างประเทศและองค์การสหประชาชาติในการดูแลเรื่องนี้ และการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอาเซียนได้ให้ความสำคัญในการประสานความร่วมมือภายในอาเซียนหาเกิดเรื่องนี้ นอกจากนี้จะมีการการสร้างความเข้าใจในชุมชนพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้มีความพร้อมในการปฏิบัติโดยมีเป้าหมายเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น





เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์