อัด ศุภชัย รุกที่เอื้อเสี่ย พ-ม-จ


"เพื่อไทย" อัด "ศุภชัย" รุกที่นครพนม 700 ไร่ เอื้อประโยชน์เสี่ย "พ"-"ม"-"จ" ซัดหาประโยชน์เงินกองทุนสวนยาง


วันนี้ (17 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวในศึกอภิปรายฯ ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน จ.นครพนม ว่ามีการบุกรุกและคอบครองที่ดินป่าดงพระทายจำนวนหลายร้อยไร่ เพราะประมวลกฎหมายที่ดินมีเงื่อนไขว่าเมื่อมีการจัดสรรแล้ว ห้ามโอน เปลี่ยนแปลงซื้อขายใบจอง นอกจากตกทอดเป็นมรดก และที่ รมช.เกษตรฯ เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะไปซื้อใบจองของชาวบ้าน ซึ่งจากการเข้าไปตรวจสอบของคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณของสภาฯในการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายศุภชัยในการแจ้งที่ดินกับป.ป.ช.มีรายการนส.2 มีเลขที่ที่ดิน จำนวนเนื้อที่ ซึ่งตรงกับที่ที่จัดสรรให้ประชาชนทำกินที่ป่าดงพระทาย คือที่ทำกินจำนวน 10 ไร่และที่อาศัย 1 ไร่ แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีการจัดสรรให้เสี่ย “พ” 4,000 ไร่  เสี่ย “ม” 5,000 ไร่ เสี่ย “จ” 15,000 ไร่ ตัวรัฐมนตรีถือครอง 200 ไร่ แต่ทราบจากชาวบ้านว่าถือครองจริง 700 ไร่

โดยจากที่กรรมาธิการลงไปตรวจสอบเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ต่างยืนยันตรงกันว่าจากการตรวจสอบพบว่านายศุภชัย บุกรุกที่ดินและยึดครองที่ที่เป็นสาธารณะสมบัติ ดังนั้นอยากให้ท่านยืนยันว่ายังเป็นเจ้าของที่ดินอยู่หรือไม่ และจะยืนยันหรือไม่ว่าเป็นที่ดินของรัฐ ไม่ใช่ของท่าน ท่านต้องออกจากที่ดินดังกล่าว นอกจากนี้ยังทราบจากกำนันและชาวบ้านบริเวณนั้นว่ามีการตัดถนนเข้าที่และบ้านพักตัวเอง โดยมีใช้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) เข้าไปทำให้ จึงอยากทราบว่าใช้งบประมาณส่วนไหน จึงได้ตรวจสอบพบว่ามีการใช้งบผิดประเภท โดยไปใช้งบของ อบจ. 2.2 ล้านบาท งบผู้ว่าฯ ซีอีโอ 1.5 ล้านบาท และงบ นทพ. อีก 3.9 ล้านบาท โดยตลอดเส้นทางกว่า 10 กิโลเมตรของถนนไม่มีหมู่บ้านอยู่เลย จึงอยากทราบว่าถ้าไม่ได้เป็น รมช.เกษตรฯ จะมีการตัดถนนเข้าไปหรือไม่ ดังนั้นเรื่องนี้คนที่ได้ประโยชน์จริง ๆ คือตัวเองและกลุ่มนายทุน ซึ่งส่วนตัวคงไว้วางใจ รมช.เกษตรฯ คนนี้ไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเรียกเก็บเงินกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ เงินเซสส์ เดิม พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางมีการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินสงเคราะห์คือไม่เกิน 5%ใช้ในการทดลอง ค้นคว้าและวิจัย 10 %เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารของสำนักงานกองทุน และ 85%เป็นค่าใช้จ่ายสงเคราะห์ในการปลูกยางแทน ซึ่งมีการจัดเก็บเรื่อย ๆ มาจนปี 53 มีเงินอยู่กองทุน 4,800 กว่าล้านบาท และเมื่อราคายางขึ้นจึงมีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์โดยการเพิ่มการเก็บเงินเข้ากองทุนมากยิ่งขึ้น แต่มีที่น่าสังเกต คือมีบทเฉพาะกาลให้จัดจัดเก็บเงินในอัตราเดิมสำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และสต็อกยางที่มีอยู่ จึงถือว่าเป็นการเปิดช่องให้เกิดความไม่ชอบมาพากล.



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์