จุรินทร์ ชี้ธุรกิจรับจ้างท้องผิด

"จุรินทร์" ชี้ธุรกิจอุ้มบุญหากบังคับขืนใจให้ท้อง ผิดทั้งกฎหมาย-จริยธรรม ด้านนายกแพทยสภา เตรียมนำปัญหาเข้าถก

เมื่อวันที่ (24 ก.พ.) นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีหญิงสาวชาวเวียดนามถูกหลอกลวงมารับจ้างอุ้มท้อง ว่า ขณะนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้เข้าไปติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้าได้ผลอย่างไรจะแถลงให้ทราบอีกครั้ง แต่ในภาพรวมถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดทั้งกฎหมายและผิดหลักมนุษยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องดีแล้วที่ทางเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดี สำหรับผู้ที่ถูกบังคับให้ต้องตั้งท้องด้วยวิธีผสมเทียมหรือวิธีใดก็แล้วแต่ที่เป็นปัญหา ได้ขอให้โรงพยาบาลนพรัตน์ฯ เข้าไปดูตั้งแต่เช้าวันนี้และขอให้เลขาธิการแพทยสภาเข้าไปดู ทั้งในแง่ของกฎหมายและกระบวนการที่จะดูแลสุขภาพอนามัยของผู้ตั้งท้องทุกคน ผลเป็นอย่างไรจะรายงานให้ทราบ ขอให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปดูก่อน เบื้องต้นเหมือนกับการบังคับขืนใจให้ท้องคล้าย ๆ กับการข่มขืน ซึ่งหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจในด้านการแพทย์ ส่วนการดำเนินคดีเป็นหน้าที่ของตำรวจ

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เกี่ยวพันกับเรื่องของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล ถ้าสถานพยาบาลใดไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน หากไปดำเนินการในลักษณะบังคับข่มขืนใจ หรือทำในสิ่งนี้ถือว่าผิดกฎหมายอยู่แล้ว อย่างน้อยก็ พ.ร.บ.สถานพยาบาล และถ้าผู้ที่เข้าไปทำไม่ใช่แพทย์ก็มีความผิดข้อหาหมอเถื่อนด้วย เพราะการผสมเทียมทำได้โดยแพทย์เท่านั้น และแม้แต่เป็นแพทย์ทำ หากไปทำในลักษณะบังคับขืนใจ ที่เขาไม่ได้ยินยอมก็มีความผิด ทั้ง พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะและผิดจริยธรรมของแพทยสภาด้วยก็ขอให้มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติม กระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป  

ศ.นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า กรณีนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า สูตินรีแพทย์คนดังกล่าวมีความผิดหรือไม่ คือต้องดูก่อนว่ามีส่วนรู้เห็นเป็นใจ สมรู้ร่วมคิดกับบริษัทที่กักขังหน่วงเหนี่ยวหญิงชาวเวียดนามหรือไม่หรือมีการทำในลักษณะเชิงพาณิชย์หรือไม่และดูว่าการทำให้หญิงตั้งครรภ์เป็นไปตามมาตรฐานที่แพทยสภากำหนดหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการพิสูจน์ต่อไป สำหรับกรณีนี้เมื่อเป็นข่าวขึ้นมาตามขั้นตอนของแพทยสภา ทางอนุกรรมการบริหารของแพทยสภาจะนำเรื่องนี้มาพิจารณา โดยจะมีการประชุมกันในวันพฤหัสฯ ที่ 4 มี.ค. จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมใหญ่แพทยสภาเพื่อพิจารณาว่าจะส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมพิจารณาหรือไม่และในวันที่ 4 มี.ค. นอกจากกรณีอุ้มบุญแล้วทางอนุกรรมการบริหารจะพิจารณาเรื่องการนวดตาและการเบิกสั่งจ่ายยานอกบัญชีสำหรับสิทธิข้าราชการที่เป็นปัญหาด้วย

นายกแพทยสภา กล่าวต่อว่า กรณีนี้ต้องตรวจสอบก่อนว่าแพทย์มีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน หากมีส่วนรู้เห็นก็ถือว่ามีความผิด ทั้งนี้จะต้องตรวจสอบข้อมูลว่า การอุ้มบุญนั้นใช้ไข่และอสุจิของสามีภรรยาที่มาว่าจ้างหรือไม่ 

ด้าน นพ.สมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ตอนนี้คงต้องตรวจสอบข้อมูลก่อน ทั้งนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับแพทย์คนดังกล่าวและต้องฟังการชี้แจงด้วย  อย่างไรก็ตามแม้ตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ... หรือ “กฎหมายอุ้มบุญ”จะผ่าน ครม.แล้วแต่ยังอยู่ในคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังไม่นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้นการอุ้มบุญในขณะนี้จะตัองปฏิบัติตามประกาศของแพทยสภาที่ออกมาก่อนหน้านี้ 

นพ.สัมพันธ์ กล่าวต่อว่า ประกาศแพทยสภาที่ 1/2550 เรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องกระทำภายใต้หลักเกณฑ์ดังนี้ 

1.ต้องไม่เป็นการกระทำในลักษณะต้องการทำสำเนาชีวิต 

2.กรณีคู่สมรสต้องการมีบุตรโดยให้ภรรยาเป็นผู้ตั้งครรภ์ กระทำได้โดยใช้เซลล์สืบพันธุ์จากผู้บริจาคเพื่อการปฏิสนธิไม่ว่าจะทำภายในหรือภายนอกร่างกาย รับบริจาคตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์ 

3.กรณีคู่สมรสต้องการมีบุตรโดยให้ผู้หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) จะกระทำได้เฉพาะในกรณีที่ใช้ตัวอ่อนมาจากเซลล์สืบพันธ์ (ไข่และอสุจิ) ของคู่สมรสเท่านั้น 

โดยมีเงื่อนไข คือ ไม่มีค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคเซลล์สืบพันธุ์ที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการซื้อขาย ไม่มีค่าตอบแทนแก่หญิงที่ตั้งครรภ์แทนที่อาจทำให้เข้าใจว่าเป็นการรับจ้างตั้งครรภ์ หญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติโดยสารเลือดของคู่สมรส และ การตรวจวินิจโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนย้ายเข้าสู่โพรงมดลูกให้กระทำได้ตามความจำเป็นและสมควร แต่ต้องไม่เป็นการกระทำในลักษณะที่อาจเข้าใจได้ว่าเป็นการเลือกเพศ


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์