กลาโหมร่อน...เอกสารแจงของบฯเพิ่ม

ให้กระทรวงกลาโหมมากเป็นอันดับ 2 ...


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 มีการจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงกลาโหมมากเป็นอันดับ 2 เป็นเงิน 115,000 ล้านบาท ในขณะที่ปี พ.ศ. 2549 ได้รับการจัดสรรเพียง 85,936.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 33% จนตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในกระทู้ต่างๆตามเว็บไซต์ว่า ทหารได้อาศัยช่วงจังหวะที่ยึดอำนาจการปกครอง ดำเนินการผลักดันเรื่องดังกล่าว ทาง คมช. จึงได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม จัดทำเอกสารชี้แจงเรื่อง ข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลนงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ส่ง สนช.ที่เป็นพลเรือน เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องขอการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มขึ้น อีกทั้งจะนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบต่อไปด้วย


อ้าง...กองทัพได้งบพัฒนาแค่ 10%


เอกสารดังกล่าวระบุว่า จากสถิติงบประมาณกระทรวงกลาโหม ระหว่าง พ.ศ. 2532-40 กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรงบประมาณร้อยละ 2.2-2.4 เมื่อเปรียบเทียบกับจีดีพี โดยใน พ.ศ. 2540 กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณ 104,100 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของจีดีพี แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ พ.ศ. 2541-2549 กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณในลักษณะถดถอยลง และต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น แม้กระทั่งใน พ.ศ. 2549 ที่จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น แต่งบประมาณในด้านนี้ก็ยังลดน้อยลง ประกอบกับกระทรวงกลาโหมต้องเผชิญต่อภาวะภายนอก ที่ค่าเงินอ่อนตัว ราคาน้ำมันสูงขึ้น 3 เท่าตัว ภาวะเงินเฟ้อ การปรับอัตราเงินเดือนของบุคลากรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ทำให้ปัจจุบันมีสัดส่วนงบประมาณ คิดเป็นค่าใช้จ่ายประจำร้อยละ 90 เหลือเป็นงบพัฒนากองทัพแค่ร้อยละ 10 หากยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่ม ผลกระทบที่ตามมาจะส่งผลต่อการพัฒนากำลังพล การฝึกศึกษา การส่งกำลังบำรุง การดำรงสภาพยุทโธปกรณ์ การป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงภายใน


จะส่งผลกระทบต่ออำนาจกำลังรบของทุกเหล่าทัพ...


เอกสารยังระบุว่า หากไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่ออำนาจกำลังรบของทุกเหล่าทัพอย่างเห็นได้ชัด หากมีเหตุการณ์กระทบกระทั่งบริเวณชายแดน และมีการปฏิบัติการทางทหาร จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ ชาติอย่างใหญ่หลวง เพราะประเทศไทยได้รับงบประมาณป้องกันประเทศน้อยกว่าพม่า เวียดนาม สิงคโปร์และมาเลเซีย อีกทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ก็ค่อนข้างล้าสมัย เช่น มีปืนใหญ่ที่เข้าประจำการนานถึง 66 ปี ในขณะที่เฮลิคอปเตอร์ รถถัง และเครื่องบินลำเลียง ประมาณ 1 ใน 4 มีอายุการใช้งานแล้ว 41-50 ปี


กองทัพจะล้าหลัง.....


พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ผอ.สำนักงบประมาณ กระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เชื่อมั่นว่า สนช.จะเข้าใจปัญหาของกองทัพกำลังประสบอยู่ หากปล่อยไปเช่นนี้โดยไม่แก้ไข กองทัพจะล้าหลังและไม่มีความพร้อมรบ ถ้าทหารหน้าด้าน ในสถานการณ์ขณะนี้ ถามว่าขอไปเท่านี้ จะเอาทั้งหมด จะได้หรือเปล่า แต่เราไม่ทำ และก็ดูประโยชน์ในภาพรวมทุกส่วนของประเทศ แต่เมื่อยามนี้กองทัพย่ำแย่ ไม่ต้องไปพูดถึงว่าปีนี้จะซื้อเครื่องบิน รถถังหรือ ฮ. ใหม่เลย แค่ซ่อมไอ้ที่มีอยู่ให้ใช้ได้ ก็หืดขึ้นคอแล้ว อย่าง ฮ. ตอนนี้ ใช้ได้แค่ร้อยละ 40 เอง


ครูหยุย หนุนเพิ่มงบให้กองทัพ

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 ว่า ส่วนตัวไม่ขออภิปรายแล้ว เพราะอภิปรายมาหลายปีแล้ว เปิดโอกาสให้คนอื่นพูดบ้าง แต่เท่าที่ดูโดยรวมถือว่ามีการแจกแจงรายละเอียดมากกว่าสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จัดงบประมาณโดยไม่มีรายละเอียด หากมีข้อสงสัยก็ให้ ตัดไปอยู่ในงบกลาง การจัดงบครั้งนี้ถือเป็นธรรมดาที่จะต้องตอบสนองความต้องการของส่วนราชการมากกว่าด้านการเมือง โดยเฉพาะงบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหมที่จัดเพิ่มเติมขึ้นมา ก็เป็นเรื่องธรรมดาของจังหวะทางการเมือง เพราะสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณได้ตัดลดงบกระทรวงกลาโหมลงมาก เท่าที่ดูย้อนหลังมีการตัดลดลงทุกปีทำให้เกิดปัญหาการวางแผนงานความมั่นคงระยะยาว ทำให้กองทัพอ่อนแอลง ดังนั้น เมื่อทหารเข้ามาดูแลตรงนี้ ก็ต้องจัดงบตอบสนองกองทัพเป็นธรรมดา ก็เห็นใจเพราะถูกตัดงบมานานแล้ว

ขอขอบคุณ







เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์