ล้มภาษีโทรมือถือ ไอซีทีชงครม.ล้างมรดกบาปยุคแม้ว

ล้มภาษีโทรมือถือ ไอซีทีชงครม.ล้างมรดกบาปยุคแม้ว

โดย ผู้จัดการรายวัน 1 ธันวาคม 2549 21:59 น.

รมว.ไอซีที เตรียมชงภาษีสรรพสามิตให้ครม.ล้ม 19 ธ.ค.นี้ พร้อมให้สิทธิ์กระทรวงการคลังกำหนดลดภาษีให้ค่ายมือถือ ย้ำชัดค่าโทร.มือถือต้องไม่กระทบกับประชาชน ยันปีหน้าออกโครงสร้างภาษีรูปแบบใหม่แน่ ด้านดีแทค อ้างไม่สามารถแบกรับภาระทั้งค่าเอซี ไอซี และภาษีได้ แม้รัฐลดภาษีเหลือ 1 % ก็ต้องขึ้นค่าบริการ ขณะที่"จาตุรนต์"ไม่หวั่นหากเอาผิด"ครม.แม้ว"ออกพ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิตเอื้อบริษัทมือถือ

นาย สิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)เปิดเผยหลังจากเข้าพบ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล รมว.คลังว่า ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)ยกเลิกมติครม.ที่ลงนามไว้เมื่อวันที่ 11 ก.พ.46 ที่ระบุให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)สามารถให้ผู้ประกอบการเอกชนคู่สัญญา หักค่าภาษีสรรพสามิตออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องนำส่ง ทีโอที และ กสท ในอัตราส่วน 10 % ของโทรศัพท์มือถือ และ 2 % ของโทรศัพท์พื้นฐาน โดยจะเสนอให้เอกชนคู่สัญญาทุกรายเป็นผู้จ่ายสรรพสามิตเอง ซึ่งในวันที่ 1 ม.ค.50 ผู้ประกอบเอกชนทุกราย จะต้องดำเนินตามโครงสร้างรูปแบบภาษีสรรพสามิตใหม่ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดขึ้น

สำหรับสัดส่วนภาษีสรรพสามิตที่ให้เอกชนเป็นผู้จ่ายนั้น จะคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก โดยออกเป็นกฎกระทรวงที่จะปรับลดอัตราภาษีจาก 10 % ให้ลดน้อยลง และจะไม่ให้ผู้ประกอบการเอกชนนำภาระภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น มาเป็นข้ออ้างขึ้นราคาค่าโทรศัพท์มือถืออย่างแน่นอน

"ผมคงเป็นคนตอบเองไม่ได้ว่า เราจะลดภาษีให้เอกชนได้เหลือเท่าไร เพราะเรื่องนี้เป็นอำนาจของกระทรวงการคลัง แต่คงเหลือในระดับที่ประชาชนที่ใช้มือถือจะไม่เดือดร้อน แต่เรื่องของการเก็บภาษีจากเอกชนย้อนหลัง มันก็คงไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของเอกชน แต่มติ ครม.ที่ลงไว้ในอดีตมันเป็นลักษณะนั้น"

นอกจากนี้ รมว.ไอซีที กล่าวหลังการเข้าพบนายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ทีโอที และ กสท เพื่อพิจารณาหาทางออกเรื่องการใช้ ค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรืออินเตอร์คอนเน็กชั่น ชาร์จ (ไอซี)ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว ส่วนเรื่องค่าเชื่อมต่อเลขหมาย หรือ แอ็คเซ็ส ชาร์จ (เอซี)ก็ต้องดำเนินการไปตามสัญญาและตามกฎหมาย

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ได้มีการหารือเรื่องโทรศัพท์มือถือกับรมว.ไอซีที และก็ได้รับทราบข้อมูลต่างๆ เบื้องต้นพบว่า เป็นเรื่องยาก ได้เพียงข้อมูลเท่านั้น อย่างไรก็ตามได้ขอให้ รมว.ไอซีที ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม โดยสัปดาห์หน้าตนจะเชิญ รมว.ไอซีที มารายงานเพื่อสรุปอีกครั้ง ก่อนที่จะนำเสนอครม.ในวันที่ 19 ธ.ค.ต่อไป

พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธาน กทช.กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีการพูดคุยกันอย่างชัดเจน ในเร็วๆ นี้จะมีการคุยกันระหว่าง 3 ฝ่าย เชื่อว่าจะตกลงกันได้ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนจะเลื่อนออกไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการประชุม 3 ฝ่าย ที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้

**โอปอเรเตอร์ขึ้นค่าบริการ

นายสันติ เมธาวิกุล รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ ดีแทค กล่าวว่า แม้กระทรวงไอซีที จะเตรียมเสนอให้เอกชนเป็นผู้จ่ายภาษีสรรพสามิตเอง แต่ในอัตราที่ต่ำกว่า 10 % แต่ดีแทค ก็ยังจะพิจารณาขึ้นค่าบริการมือถืออยู่ดี เนื่องจาก ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการยกเลิก ใช้ค่าแอ็คเซส ชาร์จ และค่าไอซี ทำให้ดีแทคมีภาระต้นทุนมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่นในตลาด อีกทั้งการที่จะให้ดีแทคเป็นผู้จ่ายภาษีสรรพสามิตเองแล้วก็ไม่สามารถรับไหวแน่นอน เพราะดีแทคไม่สามรถแบกรายจ่ายทั้ง 3 ทางได้

**"อ๋อย"ไม่หวั่นเอาผิด"ครม.แม้ว

นาย จาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการเสนอให้เอาผิดครม.ทักษิณ ที่ออก พ.ร.ก.แก้ไขภาษีสรรพสามิต ที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทมือถือที่ใกล้ชิดรัฐบาล รวมทั้งมีการซุกคำวินิจฉัยกรรมการกฤษฎีกา ที่ระบุให้บริษัทมือถือต้องเสียภาษีว่า เรื่องนี้จะไปพูดแทนครม.เก่าไม่ได้ ถ้าพาดพิงถึงใคร อดีตรัฐมนตรีผู้นั้นชี้ก็ต้องชี้แจง ซึ่งพรรคไม่ได้ติดต่อกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมว.ไอซีที ขณะนั้น แต่ถ้าจะมีการดำเนินคดีกับอดีตครม.ทั้งคณะ ก็ต้องหาทนายไปสู้ ซึ่งก็ไม่รู้สึกหนักใจ ทุกอย่างต้องว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม

"ขณะนี้เกรงว่า ที่คุยกันไปมากๆ ถ้าไม่ได้ใช้กระบวนการยุติธรรม ก็ไม่รู้ว่า เอาผิดใครได้บ้างหรือไม่ สังคมต้องการหาคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น เพราะถ้าเอาผิดใครไม่ได้ ไม่รู้ว่า แปลว่าอะไร"นายจาตุรนต์ กล่าว

**ผลพวงทุจริตเชิงนโยบายยุคแม้ว

สำหรับภาษีสรรพสามิต เริ่มมีการจัดเก็บตั้งแต่ปี 46 ซึ่งจากข้อมูลตัวเลขรายงานการจัดเก็บภาษีในตัวเลขประมาณการ ของกรมสรรพสามิตที่ได้จัดทำตัวเลขในปี 47 กรมสรรพสามิต ได้มีการจัดเก็บ ไป 11,600,000,000 บาท ในปี 48 จำนวน 11,600,000,000 บาท ส่วนในปี 49 กำลังเตรียมจัดสรุปตัวเลข

ทั้งนี้ รูปแบบการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ส่วนบริการโทรคมนาคม เป็นผลมาจาก ครม.มีมติออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)แก้ไขเพิ่มเติมภาษีสรรพสามิตฯ เมื่อวันที่ 21 ม.ค.46 ในการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต กับสินค้าภาคบริการเกือบทั้งหมด ไม่ว่า สุราพื้นบ้าน สถานบริการต่างๆ แต่ไม่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ฮือฮาจนเป็นกระแสการเมืองเท่า "กิจกรรมโทรคมนาคม"โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตโทรศัพท์มือถือ กับโทรศัพท์พื้นฐาน ที่จะปรับเปลี่ยนการเก็บค่าสัมปทานจากภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทานไป 4 บริษัท มาเป็นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบางส่วนแทน ก่อนที่จะมีมติของครม. ในวันที่ 28 ม.ค.46 อนุมัติให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตของโทรศัพท์มือถือเป็น 10 % และโทรศัพท์พื้นฐานเป็น 2 %

การเปลี่ยนแปลงและออก พ.ร.ก.ได้ดำเนินการในช่วงที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรมว.คลัง นายสมใจนึก เองตระกูล เป็นปลัดกระทรวงการคลัง ส่วนกรมสรรพสามิต ที่เป็นผู้นำเสนอการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ โดยมีนายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์ เป็นอธิบดีกรมกรรพสามิต

ส่วนกระแสการคัดค้านในภาคสังคม ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น บรรดานักวิชาการ นักกฎหมาย รวมถึงกลุ่มนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน ได้มีการต่อต้านอย่างรุนแรง โดยเห็นว่า การออกพ.ร.ก.แก้ไขสรรพสามิตเพิ่มเติมฉบับนี้ ได้มีเรื่องของการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน โดยเฉพาะ กลุ่มชิน และ เอไอเอส ที่เหมือนเจตนาแอบแฝงในการที่จะแก้ไขสัญญาสัมปทานของรัฐ และผลักภาระในห้กับประชาชน ในการใช้ค่าบริการโทรศัพท์ เหมือนสินค้าฟุ่มเฟือย โดยทุกฝ่ายเห็นว่า การออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ และคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบได้มีวาระซ่อนเร้น ทั้งๆ ที่การดำเนินการเปลี่ยน ชำระจ่ายจากค่าสัมปทานเป็นชำระจ่ายในรูปภาษีสรรพสามิต

การกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตให้กระทรวงการคลังในอัตราเดียวกันทุกราย ทั้งที่ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่เคยได้รับสิทธิพิเศษใดๆจากรัฐมาก่อน ในขณะที่ผู้ประกอบการเดิม ซึ่งรับสัมปทานจากรัฐในรอบหลายปีที่ผ่านมา ได้รับสิทธิพิเศษจากสัญญาร่วมการงานมากมาย เช่น การได้รับคลื่นและเลขหมายโทรคมนาคม โดยไม่ต้องออกค่าใช้จ่าย การได้สิทธิผูกขาดในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งช่วยสร้างฐานลูกค้าขนาดใหญ่ พัฒนาเครื่องหมายการค้า และบริการของตน เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายเดิมยังไม่ต้องรับภาระเพิ่มขึ้นจากอัตราภาษีที่ตราขึ้นใหม่ เพราะสามารถนำไปหักลดจากค่าแบ่งส่วนรายได้ที่ต้องจ่ายให้ ทีโอที ได้ ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่ซึ่งไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์ กลับต้องร่วมรับภาระในการชดเชยส่วนแบ่งรายได้ตามสัมปทานเดิมในรูปภาษีสรรพสามิต และหากในอนาคตมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตรา 50% ตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ ก็จะเท่ากับว่าเป็นการยกเลิกการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาร่วมการงานให้กับบริษัทโทรคมนาคมรายเดิม

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม.ได้มีการยื่นให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4)พ.ศ.2546 และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 218 วรรคหนึ่งหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีการวินิจฉัย ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว ตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คน ซึ่งไม่ถึงสองในสาม ของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 14 คน วินิจฉัย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์