สุเทพอ้างคำเดิม ขึ้นเงินเดือนส.ส.-ส.ว.พรวด 14% เหตุตกค้างไม่ได้ปรับมา2ครั้ง

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม

ถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ที่เกี่ยวข้องกับการปรับบัญชีเงินเดือน ค่าจ้าง ค่อตอบแทนของบุคลากรภาครัฐรวม 9 ฉบับและบัญชีค่าตอบแทนของประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) เสนอมา ซึ่งส่งผลทำให้ ส.ส.และ ส.ว.ได้รับการปรับเงินเดือนขึ้น ว่า การขึ้นเงินเดือน ส.ส.และ ส.ว.ครั้งนี้ เป็นการปรับขึ้นเงินเดือนตามที่อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ปกติฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องปรับขึ้นให้สอดคล้องกัน ซึ่งฝ่ายบริหารจะมีฐานจากเงินเดือนข้าราชการ ที่จะต้องปรับเป็นช่วงๆ ตามที่ กงช.พิจารณามาประมาณครั้งละ 4-5 เปอร์เซ็นต์

จากนั้นก็จะมีการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีหลักการคือผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหาร ตุลาการและนิติบัญญัติจะต้องมีเงินเดือนเท่าเทียมกัน

จากนั้นจะลดหลั่นลงมาตามลำดับของฝ่ายต่างๆ จนถึง ส.ส.และ ส.ว. จนกระทั่งปี 2548 มีการขึ้นเงินเดือนฝ่ายข้าราชการประจำ ฝ่ายบริหาร โดยไม่ได้ขึ้นเงินเดือนให้ฝ่ายนิติบัญญัติ 4 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นปี 2550 ก็มีการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการประจำและฝ่ายบริหารอีกครั้ง จึงทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติเงินเดือนน้อยกว่าฝ่ายบริหารอยู่ประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ ครั้งนี้เมื่อมีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการประจำ ฝ่ายบริหารอีก 5 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้การปรับขึ้นเงินเดือน ส.ส.และ ส.ว.ครั้งนี้จึงดูมาก เพราะ กงช.ต้องการให้กลับคืนสู่ระบบที่ยึดโยงกัน  จึงได้นำตัวเลขข้อเท็จจริงเหล่านี้ชี้แจงกับ ครม.แล้ว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์